“อีวี”บทบาทสำคัญ อนาคต ยานยนต์

“อีวี”บทบาทสำคัญ อนาคต ยานยนต์

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี แม้ว่าจะยังมีขนาดที่เล็กในบ้านเรา แต่ก็เติบโตที่น่าสนใจ ขณะที่ในเวทีโลกขยายตัวก้าวกระโดด ตลาดหลักคือ จีน ที่มีสัดส่วน 55% ของโลก รองลงมาคือ สหรัฐ และยุโรป เนื่องจากการสนับสนุนด้านต่างๆ ของภาครัฐ

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐในหลายประเทศให้การสนับสนุนเช่น มาตรการทางภาษี เงินสนับสนุน สิทธิพิเศษ นอกจากนี้หลายประเทศยังประกาศทิศทางที่ชัดเจน ได้แก่ นอร์เวย์ ที่วางแผนให้ทั้งประเทศเปลี่ยนเป็นอีวีทั้งหมด ภายในปี 2568 

ปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐในหลายประเทศสนับสนุน เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะจีนหลังจากเกิด วิกฤตการณ์ พีเอ็ม2.5 ในหลายเมืองใหญ่ รัฐจึงหามาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งด้านภาษี เช่น ให้เงินสนับสนุนทำให้ราคารถถูกลง การให้ป้ายทะเบียนฟรี จากปกติต้องประมูล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท และอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันจีนมีอีวีมากขึ้น อากาศสะอาดขึ้น ฝุ่นละอองและพีเอ็ม 2.5 ลดลง 

ขณะที่ฝั่งยุโรปก็มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษ โดยการส่งเสริมพลังงานทางธรรมชาติ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และนำมาใช้ชาร์จอีวี เพื่อลดการใช้น้ำมัน ลดการสร้างมลพิษ ทำให้อีวีเติบโตก้าวกระโดด

สำหรับไทย อีวี เริ่มมีบทบาทมากขึ้น จากการเปิดตัวของหลายๆยี่ห้อ ตั้งแต่ปี 2551 แต่ตลาดยังไม่ใหญ่ เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง รุ่นที่มีจำหน่ายมีจำนวนน้อย ส่วนรุ่นที่ราคาพอจับต้องได้ อาจมีอุปกรณ์หรือสิ่งที่ให้มาน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในราคาระดับเดียวกันอยู่มาก จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า รถไฟฟ้าราคาแพง ขณะที่รถราคาไม่สูงมากส่วนใหญ่อาจมีข้อจำกัดในการใช้งาน 

ตลาด อีวี เริ่มคึกคักขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเอ็มจี ตัดสินใจเปิดตลาด “แซดเอส อีวี” ในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 1.19 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ตลาดรวมอีวีที่เคยมียอดขาย 7 คัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 คัน ในปี 2562 โดยในจำนวนนี้ เป็นยอดขายของ แซดเอส อีวี มากกว่า 90%

และเอ็มจี ก็ยังมีทีท่าที่จะรุกตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดคือ การเสริมอีวี รุ่นที่ 2 เข้ามาในตลาดก็คือ “อีพี” รถในรูปแบบสเตชั่นแวกอน โดยใช้แนวคิด  Everyone" เพราะมีเป้าหมายคือ ให้เป็นอีวีที่เข้าถึงง่าย ส่วนหนึ่งเพราะราคาที่ไม่สูงสัก 9.98 แสนบาท และการเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ด้วยการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าของเอ็มจีเองภายใต้ชื่อ MG Super Charge โดยติดตั้งที่ดีลเลอร์เอ็มจีครบ 100 แห่ง และอยู่ในระหว่างทดลองระบบซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้จริงในปีหน้า และเตรียมขยายอีกกว่า 500 แห่งเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีสามารถใช้งานได้จริงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

อีวีที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และในอนาคต คาดว่าจะแพร่หลายมากขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดขยายตัวเร็วขึ้น แต่การที่จะเลือกอีวีไว้ใช้งานสักคัน ควรจะต้องเลือกอย่างไรบ้าง 

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับการเลือกรถทั่วไป ก็คือ มิติตัวถังและฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยต้องดูว่ามีพื้นที่การใช้สอยที่พอเหมาะสำหรับการโดยสารและสัมภาระ รองรับผู้โดยสารได้เพียงพอ ให้ความสะดวกสบายในการขับขี่ทั้งในตำแหน่งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร และมีฟังก์ชั่นการใช้งานเบื้องต้นที่พอเพียงและเหมาะสม ทั้งเกี่ยวข้องกับความสะดวกในการใช้งาน และควาปอลดภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟส่องสว่าง ระบบปรับอากาศ หรือระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ

ระบบความความปลอดภัย ก็ควรจะต้องดูทั้งการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และการเพิ่มความปลอดภัยหลังเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งระบบที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น ระบบเบรก เอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก ระบบบเสริมแรงเบรก ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน กล้องมองหลังและสัญญาณเตือนกะระยะถอยหลัง ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัยแบบดึงรั้งกลับพร้อมผ่อนแรงอัตโนมัติ

จากนั้นก็ต้องดูสมรรถนะ กำลังต้องไม่น้อยเกินไป หากต้องการใช้งานในเส้นทางสาธารณะรวมถึงการขับทางไกล

ระยะทางในการใช้งานต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ก็ควรมีมากพอ เช่น 300 กม.ขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยที่ครอบคลุมการใช้งานโดยทั่วไป

ดูความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของ ทั้งค่าใชจ่ายเริ่มต้น คือ ราคารถ และค่าใช้จ่ายในการใช้งาน คือ ประหยัดพลังงาน และประหยัดค่าบำรุงรักษา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของ อีวี เช่น ตัวอย่างของ เอ็มจี อีพี ที่ระบุว่า เฉลี่ย 8,000บาท ในการใช้งาน 5 ปี หรือ 1 แสน กม. ซึ่งต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน  1 ใน 3

และอีกสิ่งหนึ่งคือ ต้องดูเรื่องการบริการหลังการขาย ดูว่าซื้อรถมาแล้ว มีศูนย์บริการรองรับหรือไม่ และเพียงพอหรือไม่ รวมถึงการรับประกันคุณภาพสินค้าต้องมีระยะยาวพอ และมีเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบเฉพาะโมดูลที่เสียหายได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในอนาคต