วัคซีน 'โควิด' ที่ดีที่สุดคือ ‘ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง’

วัคซีน 'โควิด' ที่ดีที่สุดคือ ‘ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง’

สถิติล่าสุด"โควิด-19" ทุก 3 วันจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านราย ส่วนอัตราการเสียชีวิตทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน แล้วจะไม่ป้องกันตัวหรือ

"สถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในขาขึ้นและไม่คงที่ โดยสถิติล่าสุดขณะนี้คือทุก 3 วัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 1 ล้านราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าว ในงานสัมมนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 

สำหรับบทเรียนของประเทศไทย นับจากเคสแรกที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 2563 ก่อนจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือการพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายบนฐานข้อมูล เพื่อประเมินและฉายภาพวิเคราะห์ จนนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค ใช้มาตรการค้อนทุบในช่วงต้น และค่อยๆ เริ่มผ่อนผันลงเป็น 6 เฟส

สำหรับการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วิเคราะห์ว่าประกอบด้วย

1. ปัจจัยทางมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาติตะวันตก

2. ปัจจัยการบริหารจัดการ ที่มีการตัดสินใจและประสานงานร่วมกัน

3. ปัจจัยทางเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเสมือนการใช้เครื่องติดตามตัวได้ 4. ปัจจัยระดับโลก ที่จะต้องคอยเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดระลอกสองเข้ามา

5. ปัจจัยของไวรัส ที่อาจมีการกลายพันธุ์มากขึ้นและเราจะต้องติดตาม

“อย่าคิดว่าจะต้องรอพึ่งพาวัคซีนอย่างเดียว เพราะเรามีวัคซีนที่ได้ผลดีอยู่แล้ว คือ การใส่หน้ากาก-การล้างมือ-การรักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นใจได้ในเวลานี้ ควบคู่กับความร่วมมือกันของคนทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ โดยไม่ได้รอคอยกลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้กลไกของสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า และเป็นสิ่งที่ศิริราชคุ้นเคยดี จากการที่ได้ใช้พลังทางสังคม เงินบริจาคต่างๆ ในการดำเนินงาน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ

ย้อนรอยสถานการณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม มีตัวอย่างการดำเนินงานของภาคสังคมที่น่าสนใจ ภาพความสำเร็จได้รับการบอกเล่าผ่าน สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ พัทยา ซึ่งได้สะท้อนปัญหาของพนักงานบริการจำนวนมาก ที่ประสบภาวะยากลำบากจากการถูกปิดตัวของสถานบริการ และธุรกิจการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัน ส่งผลให้คนจำนวนหลายแสนคนต้องตกงานอย่างสิ้นเชิง ขณะที่บางส่วนถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางเครือข่ายทำคือ การลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้รอเพียงภาครัฐเข้ามาจัดการ โดยอันดับแรกคือ การลุกขึ้นมาทำข้อมูลทางวิชาการ เพื่อสำรวจความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ โดยลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ นำมาสู่การแก้ไขเป็นลำดับ

ตั้งแต่การตั้งกองทุนบริจาคเพื่อแจกจ่ายอาหาร จัดหาอุปกรณ์ยังชีพ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ไปจนถึงการทำกิจกรรมสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และแนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โรคติดต่ออื่นๆ อย่าง HIV หรือซิฟิลิส ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เราจึงต้องดำเนินงานควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้จังหวะเดียวกันเพื่อตรวจคัดกรอง ส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาทันที ในเวลาเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อจะไม่ขาดยาต้านไวรัสในช่วงของการล็อคดาวน์ ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงวันนี้โดยไม่ได้รอหน่วยงานใด” สุรางค์ ระบุ

ด้าน ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชน กลุ่มใจบ้านสตูดิโอ และสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เล่าว่า จากการสำรวจความยากลำบากของประชาชนในช่วงโควิด-19 พบว่า ภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญมาจากค่าอาหาร ขณะเดียวกันในช่วงของการแพร่ระบาดเกิดภาวะของการกักตุนอาหาร สินค้าการเกษตรขาดช่วง ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และมองหาพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถรองรับการผลิตและการกระจายอาหารในเมืองได้

ศุภวุฒิ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำพื้นที่กองขยะกลางเมืองขนาดราว 2.5 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว แต่เมื่อมีการเสนอเข้าไปยังส่วนราชการ ทำให้พบว่ามีการติดขัดข้อระเบียบกฎหมายหลายส่วน จึงเกิดการระดมทุนและทรัพยากรกันเองของภาคเอกชน เข้ามาแปรเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและส่งเสริมการเรียนรู้

“ด้วยมือของคนธรรมดาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา ในเวลาเพียง 6 เดือน พื้นที่แห่งนี้ก็ปักหมุดเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง มีผลผลิตที่ชุมชนเข้ามาเก็บไปใช้บริโภค แบ่งปัน และเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับธรรมชาติได้

160853917227

ดังนั้น วิกฤตนี้ได้ทำให้เราลุกขึ้นมาเชื่อมโยงกับคนอื่น ไม่ได้อยู่แค่เพียงปัจเจก และยังจุดประกายให้เกิดการมองความเป็นไปได้ที่จะปลดล็อคพื้นที่อื่นๆ ให้รองรับประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป” 

สำหรับภาพใหญ่ของสถานการณ์และการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ทำความเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่บนโลกใบเดิม แต่เป็นโลกที่มีความย้อนแย้ง ซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเรียกว่าเป็น One World, One Destiny หรือหนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม

“พูดง่ายๆ ว่าจากนี้ไป ถ้ามีสุข เราก็สุขด้วยกัน แต่ถ้าทุกข์เราก็ทุกข์ด้วยกัน เพราะภัยคุกคามจากนี้จะยกระดับเป็น Global ซึ่งโควิด-19 คือตัวอย่างของการเป็น Global Commons ร่วมกัน และเราก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของโควิด-19 แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วย” ดร.สุวิทย์ ระบุ

ในส่วนของประเทศไทย ดร.สุวิทย์ บอกว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะดูเป็นผลงานที่เราสามารถจัดการได้ดี แต่ยังคงมีวิกฤตเชิงซ้อนอยู่ร่วมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตทางการเมืองที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราพิจารณาเลือกแก้ไขปัญหาเฉพาะโควิด-19 อย่างเดียวไม่ได้ ฉะนั้น พลังพลเมืองตื่นรู้ยังจะต้องก้าวข้ามไปสู่การจัดการเพื่ออยู่กับโลกวิถีใหม่ หรือ New Normal ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ หนทางอันจะนำไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ยั่งยืน คือการสร้างสังคมที่ปกติสุข บนพื้นฐาน 3H คือการมี Hope ความหวัง Happiness ความสุข และ Harmony ความปรองดอง ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับจุลภาค ไปจนถึงระดับโครงสร้างมหภาค