สมมติฐานต้นตอโควิด-19ระบาดในแรงงานต่างด้าว

สมมติฐานต้นตอโควิด-19ระบาดในแรงงานต่างด้าว

ผู้ติดโควิด-19เชื่อมตลาดกลางกุ้ง พบใน 4 จังหวัด เผยสมมติฐานสาเหตุการระบาด มีการเคลื่อนย้ายแรงงานช่วงต่างประเทศระบาดเข้าไทย แพร่เชื้อต่อชุมชนเมียนมาในพื่นที่  ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อดูว่าเชื่อมโยงที่ไหน เร่งค้นหาเชิงรุกวงนอกในจังหวัดมีแรงงานต่างด้าว

       เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 21 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ณ เวลา 11.30 น. วันที่ 21 ธ.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 821 ราย  แยกเป็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่รพ.เองและติดตามผู้สัมผัส 33 ราย และค้นหาในชุมชน ตรวจแล้ว 4,688 ราย ผลออกแล้ว 1,861 ราย พบติดเชื้อ 788 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจอีก 2,600 กว่าราย โดยพบผู้ติดเชื้อนอกจ.สมุทรสาครที่ยังพบประวัติว่าเป็นผู้เดินทางมายังตลาดทั้งหมด คือ ในจ.สมุทรปราการ 3 ราย  สระบุรี 3 ราย นครปฐม 2 ราย และกรุงเทพฯ 2 ราย 

         นพ.วิชาญ กล่าวอีกว่า จากการดูแผนที่การระบาดและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจุดตั้งต้นของการระบาดอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นตลาดกุ้งเลี้ยง ไม่ใช่อาหารทะเลทั้งหมด หลังจากนั้นจึงมีการระบาดเฉพาะในกลุ่มแรงงานเมียนมา ต่อมาแพร่ระบาดประปรายไปยังพื้นที่อื่น  ซึ่งสมมติฐานสาเหตุการระบาดครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ได้ให้ความเห็นค่อนข้างจะสอดคล้องกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานเมียนมา เนื่องจากพบว่ามีการติดเชื้อมากกว่า 90% ในกลุ่มแรงงานเมียนมา จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมา ในช่วงที่ต่างประเทศมีการระบาด และแพร่เชื้อสู่ชุมชนเมียนมาในจ.สมุทสาคร ในการพิสูจน์สมมติฐานนี้ จึงอยู่ระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อ เพื่อดูความเชื่อมโยงว่าเชื้อที่พบในจ.สมุทรสาครนั้นเป็นการเชื่อมโยงกับเชื้อในพื้นที่ใด
     “เกิดเกิดการแพร่ระบาดวงกว้างในกลุ่มแรงงานเมียนมา เป็นเพราะพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นในพื้นที่พักอาศัย ติดต่อใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน โดยไม่สวมหน้ากาก ไม่ล้างมือ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักในการแพร่ระบาดในวงกว้างในกลุ่มนี้”นพ.วิชาญกล่าว
      นพ.วิชาญ กล่าด้วยว่า ในการดำเนินการควบคุมโรคนั้น จะมีการตีวงค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยขีดวงจำกัดพื้นที่ที่มีการระบาดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยจะมีการบริหารจัดการไม่ให้กลุ่มที่ติดเชื้อปะปนกับกลุ่มที่ติดเชื้อ และมีการตั้งรพ.สนามดูแลเฉพาะกลุ่มโดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลสุขภาพ หากพบมีอาการป่วยก็จะให้การดูแลทางการแพทย์ แต่หากมีการอาการหนักก็จะส่งเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ ให้มีการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่วงนอกจ.สมุทรสาคร ทั้งในส่วนจังหวัดที่มีการคู่ค้าประจำเดินทางยังตลาดกลางกุ้งก่อนหน้านี้ และจังหวัดอื่นๆที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ เพื่อจะได้คำตอบว่าการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวมีวงกว้างหรือไม่ และขนาดไหน จะได้ตีวงขอบเขตทางระบาดวิทยา หากค้นหาเชิงรุกในพื้นที่อื่นๆแล้วไม่เจอการระบาดวงกว้าง ก็จะตีวงการระบาดไว้เฉพาะจ.สมุทรสาครก็จะอาจจะใช้เวลาในการควบคุมโรคใช้เวลาเร็วที่สุด 4 สัปดาห์ แต่หากพบการระบาดในวงนอกด้วยก็จะต้องพิจารณาเรื่องของเวลาอีกครั้ง
       “ขณะนี้อยู่ระหว่างค้นหาคนเสี่ยงในกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งในจ.สมุทรสาคร และพื้นที่ต่างๆ และอาจจะทำให้เจอตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขออย่าตกใจเพราะสะท้อนถึงมาตรการควบคุมโรคยังทำงานอยู่ ทั้งนี้เมื่อเจอรายงานผู้ติดเชื้อตามที่ต่างๆเร็วจะได้เข้าไปควบคุมโรคได้เร็ว จึงขอให้ประชาชนตั้งสติ ประเมินความเสี่ยงตัวเอง และสนใจมาตรการป้องกันตัวเองคือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การรักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ขอให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์ โดยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองจากรพ.ราชวิถีออนไลน์ได้ที่ http://covid19.rajavithi.go.th”นพ.วิชาญกล่าว

        นพ.วิชาญ กล่าวด้วยว่า  ลักษณะการพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ประเทศไทย กับสิงคโปร์  มีบริบทแตกต่างกันมาก โดยแรงงานต่างด้าวในสิงคโปร์จะเป็นบุคคลเดี่ยว ไม่มีครอบครัวมาอยู่ด้วย แต่แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจะอยู่กันใกล้ชิดเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง จึงเปรียบเทียบกันได้ยาก แต่สามารถนำมาตรการควบคุมป้องกันโรคมาปรับใช้ได้ โดยหลักการคือ ไม่นำคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการเข้ามารักษาที่รพ. แต่ดำนเนิการโดยแยกผู้ติดเชื้อมีอาการเข้ารับการรักษา ส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการให้อยู่ในจุดเฉพาะที่และติดตามดูแลได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก็แยกส่วนเพื่อสังเกตอาการ