'บีทีเอส' มั่นใจปมตัดสินหลักเกณฑ์คัดเลือก ไม่ฉุดรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดล่าช้า

'บีทีเอส' มั่นใจปมตัดสินหลักเกณฑ์คัดเลือก ไม่ฉุดรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดล่าช้า

"บีทีเอส" มั่นใจรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่กระทบแผนเปิดให้บริการ หลังรอคำตัดสินศาลเคาะหลักเกณฑ์คัดเลือก ชี้ยังมีเวลาช่วงรอส่งมอบพื้นที่ ขณะที่ รฟม.แย้งกระทบการประมูลล่าช้า

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้นัดไต่สวน ในคำร้องเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โดยระบุว่า วันนี้ (18 ธ.ค.) ศาลได้นัดไต่สวนข้อมูลในฝั่งของ BTSC ซึ่งเรายืนยันว่าการยื่นคำร้องเพราะต้องการให้กระบวนการประกวดราคามีความโปร่งใสและเป็นธรรม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ควรใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนตามที่กำหนดไว้เดิม คือ พิจารณาให้คะแนนซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 100%

"ศาลได้นัดไต่สวนในฝั่งของเรา และให้เราฟังข้อมูลด้วย โดยยังไม่ได้มีการนัดหมายเพิ่มเติมหลังจากนี้ ซึ่งเราก็ยืนยันว่า ตามที่ได้ยื่นคำร้องไปเพราะเล็งเห็นว่าหลักเกณฑ์การพิจารณามาปรับ และอาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม"

ส่วนเรื่องการยื่นคำร้องของ BTSC และศางปกครองชั้นต้นได้รับคำร้องพร้อมมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไปแล้วนั้น ส่งผลให้ รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดว่าอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และการบริการสาธารณะ เพราะทำให้เกิดความล่าช้าในการคัดเลือกเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบให้การเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนของรัฐบาลกำหนด อีกทั้งยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประเด็นนี้ BTSC ยืนยันว่าในคำร้องของ BTSC ได้ระบุไว้แล้วว่า การยื่นคำร้องนี้จะไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการ หรือเกิดความเสียหายกระทบประชาชน เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อเปิดประมูลได้ผู้ชนะแล้ว ยังต้องมีกระบวนการรอส่งมอบพื้นที่ ดังนั้นยืนยันว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาคำร้องนี้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ถูกต้อง เป็นธรรม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.ยืนยันตามคำอุทธรณ์ว่าคำคำสั่งทุเลาของศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการ ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ รฟม. เปิดรับซองข้อเสนอเอกชนมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดซองเพื่อพิจารณาข้อเสนอได้ ดังนั้นหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การเปิดพิจารณาข้อเสนอก็จะล่าช้าออกไปเรื่อยๆ และเป็นเหตุกระทบต่อโครงการ กระทบต่อการเปิดให้บริการประชาชน และสร้างความเสียหาย

ทั้งนี้ คดีคำร้องเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ฟ้องคดี ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดี คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอื่น

จากคำสั่งทุเลาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดี จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดว่า คำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และการบริการสาธารณะ เพราะทำให้เกิดความล่าช้าในการคัดเลือกเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบให้การเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนของรัฐบาลกำหนด อีกทั้งยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้รัฐเกิดภาระค่าใช้จ่ายและความเสียหายตามมาอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมและกระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชนในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ