'โควิดระบาด-ท่าเรือแออัด'ฉุดขนส่งคริสต์มาส-ปีใหม่

'โควิดระบาด-ท่าเรือแออัด'ฉุดขนส่งคริสต์มาส-ปีใหม่

'โควิดระบาด-ท่าเรือแออัด'ฉุดขนส่งคริสต์มาส-ปีใหม่ ขณะลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อสินค้าในช่วงคริสต์มาสต้องหันไปเลือกสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รุ่นอื่นที่มีอยู่แทน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะดีขึ้นในเดือนมี.ค.ปีหน้า

ความล่าช้าในการบรรทุกสินค้าตามท่าเรือต่างๆ ประกอบกับมาตรการคุมเข้มเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ตู้คอนเทนเทอร์อยู่ผิดที่ผิดทางไปจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ที่ถือเป็นฤดูจับจ่ายสิ่งของครั้งใหญ่สุดของปี เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคของบรรดาผู้ค้าปลีกทั้งในสหรัฐและภูมิภาคยุโรปไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

เมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรกของเยอรมนี “โอลิเวอร์ เฮลล์โมลด์” ซีอีโอบริษัทโน้ตบุ๊คบิลลิเกอร์ หนึ่งในผู้ค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป เริ่มสั่งแก็ดเจ็ทจากจีนเพิ่มขึ้นจากเดิมสองเท่าเพื่อนำมาขายในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ โดยคาดการณ์ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเพราะผลพวงจากการทำงานที่บ้านของผู้บริโภคในเยอรมันในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่บรรเทา

แต่ประมาณเดือนต.ค.เฮลล์โมลด์ เริ่มเจอปัญหาเรื่องสินค้าในสต็อก โดยสินค้าบางประเทศขาดแคลนอย่างหนัก เช่น หน้าจอมอนิเตอร์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ค ขณะที่เฮลล์โมลด์บอกว่า ความต้องการจากโรงเรียนและหน่วยงานราชการในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นอย่างมากประมาณ 40% เนื่องจากการเรียนการสอนและการบริการด้านต่างๆปรับตัวไปเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคุมเข้มของทางการช่วงโควิด-19 ระบาด

“เราไม่สามารถจัดหาของให้ลูกค้าได้ตามที่ลูกค้าสั่ง โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ค พีซีและจอมอนิเตอร์จำนวนหลายร้อยรายการ”เฮลล์โมลด์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อสินค้าในช่วงคริสต์มาส ต้องหันไปเลือกสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รุ่นอื่นที่มีอยู่แทน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างน้อยก็เดือนมี.ค.ปีหน้า

ขณะที่เพลย์สเตชัน 5 ของโซนีและเอ็กซ์บ็อกซ์ ซีรีส์ เอ็กซ์ ของไมโครซอฟต์ขายหมดเกลี้ยงทั่วทั้งประเทศเยอรมนี ขณะที่บรรดาผู้ค้าปลีกจักรยาน ของเล่น สินค้าประเภทกีฬาและเสื้อผ้าแฟชันที่ผลิตในจีนล้วนขายหมดเช่นเดียวกัน

ส่วนระดับของสินค้าคงคลังหรือสินค้าในสต็อกในสหรัฐก็ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยชิปแมทริกซ์ ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีขนส่งสินค้า มีฐานดำเนินงานในเพนซิลวาเนีย คาดการณ์ว่าการส่งสินค้าจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านหีบห่อในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลขอบคุณพระเจ้าถึงคริสต์มาสในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34% จากเมื่อปี 2562 ซึ่งปัญหาของเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเพราะความต้องการสินค้าดังที่กล่าวมาเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น แต่เป็นเพราะการดิสรัปอย่างรุนแรงของระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกด้วย จนทำให้เกิดภาวะตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีสินค้าให้บรรทุกและการขนส่งสินค้าทางอากาศพยายามดิ้นรนเพื่อให้การบริการเดินหน้าต่อไป

“ฟิลิป ดามาส” หัวหน้าแผนกห่วงโซ่อุปทานของบริษัทดริวรี บริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่งทางเรือ มีฐานดำเนินงานในสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า เป็นครั้งแรกที่เราเจอฝันร้ายอย่างแท้จริง บรรดาบริษัทค้าปลีกประเมินฤดูกาลจับจ่ายสินค้าช่วงปลายปีต่ำเกินไปและท่าเรือต่างๆอย่างร็อตเตอร์ดัมเจอปัญหาระบายสินค้าไม่ทันเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนรถบรรทุกสินค้าและคนงานประจำท่าเรือลดลงอย่างมาก

ขณะที่“โลธาร์ โทมาร์”กรรมการผู้อำนวยการแผนกขนส่งทางทะเลและอากาศของเกบรูเดอร์ ไวส์ บริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีฐานอยู่ในออสเตรีย ซึ่งมีสาขา19แห่งในจีน อธิบายว่า ปัญหานี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนก.พ.เมื่อจีนปิดท่าเรือในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนอย่างมากแก่เครือข่ายการทำงานของตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั่วโลก แต่หลังจากภาคอุตสาหกรรมของจีนและอุตสาหกรรมโลจิสติกเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติในไตรมาสสองของปีและการส่งออกสินค้าของจีนเริ่มฟื้นตัว แต่การล็อกดาวน์ในยุโรปและในสหรัฐกลับสร้างปัญหาแก่ระบบโลจิสติกของท่าเรือต่างๆทั้งในยุโรปและสหรัฐ จนทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ใช้เวลาเพิ่มขึ้นสองเท่าในการนำสินค้าลงจากเรือ โดยเฉพาะตามท่าเรือของเยอรมนี ใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก1สัปดาห์เป็น2สัปดาห์

ส่วนในสหรัฐ “ซาทิช จินเดล” ประธานบริษัทชิปแมทริกซ์ บริษัทให้บริการด้านเทคโนโลยีการจัดส่งสินค้าในเพนซิลวาเนีย มีความเห็นว่า บรรดาผู้ค้าปลีกต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้บริโภค หรือว่าบริษัทให้บริการด้านการขนส่งสินค้า

“พวกเขาอาจจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นด้วยการเสนอการบริการแต่เนิ่นๆ หรือไม่ก็ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการจัดส่งสินค้าแบบด่วน”จินเดล กล่าว

โทมาร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของเที่ยวบินสำหรับผู้โดยสารหลายเที่ยวบินเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเวลาปกติในการขนส่งสินค้าจะมีสัดส่วนประมาณ 70% ของศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศโดยรวม

ส่วนการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางในเส้นทางจีน-ยุโรปก็เจอปัญหาการจราจรติดขัดแบบคอขวดบริเวณพรมแดนระหว่างเบลารุสและโปแลนด์ ซึ่งบรรดาตู้คอนเทนเนอร์ต้องบรรทุกสินค้าจากรถไฟขบวนหนึ่งไปยังรถไฟอีกขบวน ซึ่งแมทเทียส แม็กนอร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ(ซีโอโอ)ประจำแผนกขนส่งทางบกและทางรางของบริษัทเฮลล์มานน์ เวิลด์ไวด์ โลจิสติกส์ของเยอรมนี ที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางยุโรป-จีน ยืนยันว่า ความต้องการสินค้าในเส้นทางสายไหมใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางทะเล