'Zombie Firm' หรือ 'บริษัทผีดิบ' คืออะไร ทำไมต้องกลัว? 

'Zombie Firm' หรือ 'บริษัทผีดิบ' คืออะไร ทำไมต้องกลัว? 

รู้จัก "Zombie Firm" ลักษณะบริษัทที่ประสบปัญหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์ "โควิด-19" ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจไทย และระบบเศรษฐกิจอาจติดเชื้อซอมบี้ไปด้วย

พูดถึง 'Zombie' (ซอมบี้) หรือผีดิบ ภาพที่ผุดขึ้นในหัวของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น ผีดิบ ไล่กัดกินคนในหนังไซฟาย ที่มักจะจบลงด้วย ฝูงซอมบี้ล้มหายตายจากไป หรือยังเป็นซอมบี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรอภาคต่อของเรื่อง 

ในมิติของธุรกิจ คำว่าซอมบี้ ถูกนำมาใช้เช่นกัน นั่นคือ "Zombie Firm" หรือ "บริษัทผีดิบ" ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน ก็เพิ่งจะกล่าวถึงระหว่างแถลงรายงาน "ส่องเศรษฐกิไทยส่งท้ายปี 2020 และเปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2021" เมื่อ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยย้ำว่า ต้องจับตาจำนวนเหล่า Zombie Fim ทั้งหลายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤติครั้งนี้ !!

บางคนอาจสงสัยว่า ตกลงแล้ว "บริษัทผีดิบ" นั้นเป็นอย่างไรกันแน่??

แน่นอนว่า ไม่ได้หมายถึงบริษัทที่มีซอมบี้เป็นพนักงานแต่อย่างใด แต่หมายถึง สภาพธุรกิจโดยรวมของบริษัทที่อาการไม่ค่อยดีเหมือนกำลังเป็นซอมบี้ จะเลิกเป็นซอมบี้ก็ไม่ได้ จะตายก็ตายไม่ลง กลายเป็นบริษัทที่กึ่งเป็นกึ่งตายเรื้อรัง ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวบริษัทเองแล้ว ยังเป็นที่น่ากังวลของคนอื่นๆ อีกด้วย เพราะมีโอกาสที่จะสะเทือนไปถึงเศรษฐกิจในภาพกว้างได้

ว่าแต่.. แล้วบริษัทคุณกำลังเป็น ‘บริษัทผีดิบ’ อยู่หรือเปล่า เรามาดูกัน!

  

  •  อาการ ‘Zombie Firm’ เป็นอย่างไร

หากจะอธิบายให้ชัดเจนขึ้น ‘Zombie Firm’ หรือ ‘บริษัทผีดิบ’ ตามนิยามของ EIC (Economic Intelligence Center) ระบุว่า Zombie Firm หมายถึงบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี และพบว่าเป็นบริษัทที่มีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงปี 2005-2019 หรือพูดง่ายๆ ก็คือบริษัทที่มีสถานะการเงินที่แย่ในระยะเวลานาน แต่ยังไม่ปิดตัวลง

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ เคยอธิบายในคอลัมน์ มุมมองใหม่ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจว่า

"บริษัทซอมบี้นั้นถึงแม้จะยังคงมีกระแสเงินสดเป็นบวก มีเงินสดเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานนั้นไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ และเงินต้นที่จะต้องจ่ายคืนในงวดนั้นๆ

อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและสามารถอยู่รอดได้ (เหมือนซอมบี้) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ที่ยังทำให้สามารถกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ มาหมุนเวียนต่ออายุได้เรื่อยๆ" 

  •  วัฏจักรชีวิตของ Zombie Firm 

EIC ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ ศึกษาวัฏจักรชีวิตของ Zombie Firm ของไทย นับตั้งแต่ 4 ปีก่อนที่บริษัทเหล่านี้จะเข้าสู่สถานะ Zombie Firm และ 4 ปีหลังจากบริษัทเหล่านี้ถูกจัดเป็น Zombie Firm แล้ว จากศึกษาพบว่า ลักษณะสำคัญของบริษัทที่มีแนวโน้ม เป็นบริษัทผีดิบ มักมีลักษณะดังนี้

1. มีขนาดสินทรัพย์สุทธิที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากถูกจัดเป็น Zombie Firm ไปแล้ว 4 ปี แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่า Zombie Firm เป็นบริษัทที่ปรับลดขนาดของสินทรัพย์ลงอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุผลในการลดภาระค่าใช้จ่าย 

2. สะสมหนี้สินเพิ่มขึ้น ก่อนเปลี่ยนสถานะ และคงระดับไว้หลังเปลี่ยนสถานะแล้ว โดยเฉลี่ย Zombie Firm มีหนี้สินสูงในช่วง 4 ปีก่อนที่จะเป็น Zombie Firm และเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 45% และมีแนวโน้มหนี้สินคงที่ไปเรื่อยๆ  

3. มีประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลงถึงจุดต่ำสุด ณ จุดเปลี่ยนสถานะ และแย่น้อยลงหลังเปลี่ยนสถานะแต่ยังคงอยู่ระดับต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตสะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ที่ลดลงไปกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ กลุ่ม Non-Zombie Counterfactual แม้จะมีการปรับโครงสร้างต่างๆ ของ Zombie Firm ทำให้ความสามารถในการผลิตฟื้นตัวกลับมาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า Non-Zombie Counterfactual อยู่มาก 

4. Zombie Firm มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงถึงจุดต่ำสุด ณ จุดที่เปลี่ยนสถานะเป็ณ Zombie Firm และเริ่มกลับตัวหลังเปลี่ยนสถานะแต่ยังคงอยู่ในระดับที่แย่กว่า Non-Zombie Counterfactual อยู่มาก ซึ่งความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ของ Zombie Firm ลดต่ำกว่า Non-Zombie Counterfactual ถึง 3 เท่าตัว โดยเป็นผลมาจากผลกำไรสุทธิก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย (EBIT) ที่กลับตัวตามประสิทธิภาพการผลิต และภาระดอกเบี้ยจ่าย (Interest Expenses) ที่ปรับลดระดับลง

5. Zombie firm มีโอกาสฟื้นตัวสะสมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่ม Non-Zombie Counterfactual EIC พบว่า Zombie Firm มีโอกาสฟื้นตัว 17.4% ในปีแรก และมีโอกาสฟื้นตัว 42.1% ภายใน 4 ปีหลังจากเปลี่ยนสถานะ ซึ่งศึกษาโดย Bank of International Settlements พบว่าอัตราส่วนการฟื้นตัวของ Zombie Firm สำหรับภาคธุรกิจไทยภายในระยะ 4 ปีนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า Zombie Firm ในยุโรปที่มีอัตราการฟื้นตัวสะสมอยู่ที่ 60% เลยทีเดียว

  •  Zombie กัดกิน Firm ในอุตสาหกรรมใดบ้าง 

160820518970

EIC คาดว่าจะทำให้สัดส่วน Zombie Firm เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 11% ในปี 2020 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 16% ในปี 2022 

จากการสำรวจของ EIC พบว่า 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนของ Zombie Firm อยู่สูงที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ การโรงแรม อุตสาหกรรมยานยนต์ และสินค้าเกษตรกรรมซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับกลุ่มขนส่งทางอากาศ

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก การที่ธุรกิจเหล่านี้แสดงความเปราะบางในด้านความสามารถในการชำระหนี้จึงเป็นที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ

EIC คาดว่าสัดส่วน Zombie Firm จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม หลังจากวิกฤติโควิด-19 โดยกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วน Zombie Firm สูงสุดเป็น 5 อันดับแรกในปี 2020 คือ "สายการบิน ยานยนต์ สิ่งทอ การโรงแรม และพลังงาน" 

  

  •  ‘Zombie Firm’ น่ากลัวแค่ไหน? กระทบอะไรกับการเติบโตของเศรษฐกิจ 

แม้ ‘Zombie Firm’ จะมีหลายปัจจัยฉุดรั้งที่เกิดจากการบริหารจัดการของบริษัทเอง แต่เมื่อมีบริษัทที่อยู่ในสภาวะนี้จำนวนมาก และบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นคืนความสามารถการทำกำไร แต่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ยอมออกจากตลาด อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อประสิทธิภาพการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจไทยได้

โดย EIC มองว่า นอกจากปัญหา "แผลเป็นทางเศรษฐกิจ" (Scarring Effects) จากวิกฤติ COVID-19 ในด้านการปิดกิจการของภาคธุรกิจ การลดลงของการจ้างงานและชั่วโมงการทำงาน รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงแล้ว สัดส่วน Zombie Firm สะสมที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลกระทบภาคการผลิตในระยะต่อไป น่าจะเป็นอีกหนึ่งแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ 

  •  ทางออกของ ‘Zombie Firm’ 

EIC แนะนำว่า "Zombie Firm เป็นกลุ่มบริษัทที่มีทั้งประสิทธิภาพการผลิตและระดับการลงทุนที่ต่ำทั้งยังอยู่ในภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น Zombie Firm ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้วและได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหากธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดตัวลง และมีการเลิกจ้างตามมา ก็จะทำให้ผลกระทบของแผลเป็นทางเศรษฐกิจมีความรุนแรง ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ แม้จะทำให้มีโอกาสเกิด Zombie Firm เพิ่มมากขึ้นในระยะสั้น แต่จะเป็นมาตรการที่ช่วยลดผลกระทบของแผลเป็นทางเศรษฐกิจได้"

ส่วนมาตรการในระยะถัดไป ควรมุ่งเน้นการจัดกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือ โดยสำหรับบริษัทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ควรสร้างกระบวนการออกจากธุรกิจอย่างคล่องตัว และมีผลกระทบจำกัด(orderly exit) ในขณะที่กลุ่มบริษัทที่ยังคงมีศักยภาพในการปรับตัว ควรได้รับความช่วยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

เช่น การพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (reskill) หรือเสริมทักษะใหม่ (upskill) ของแรงงานในธุรกิจเหล่านี้ รวมทั้งการออกมาตรการส่งเสริมการทำธุรกิจ (ease of doing business) โดย EIC เห็นว่าการจัดกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือในระยะถัดไปอาจพิจารณาจากประเภทอุตสาหกรรม ขนาดของธุรกิจ ขนาดการจ้างงาน และแนวโน้มในการฟื้นตัวในอนาคตเมื่อความช่วยเหลือจากภาครัฐลดลงหรือหายไป ซึ่งการให้ความช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไขน่าจะทำให้ปัญหาการเกิด Zombie Firm ในอนาคตลดลงได้