อสังหาฯชงคลังผุดมาตรการอัดฉีดปี’64 งัดบิ๊กอีเวนท์ลดแลกแจกแถมเร่งระบายสต็อก

อสังหาฯชงคลังผุดมาตรการอัดฉีดปี’64 งัดบิ๊กอีเวนท์ลดแลกแจกแถมเร่งระบายสต็อก

3 สมาคมอสังหาฯ ยื่น 5 มาตรการเสนอ “คลัง” กระตุ้นตลาดปี 64 ฟื้นกำลังซื้อบ้าน-คอนโด พร้อมเดินหน้าลุยบิ๊กอีเวนท์ มหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 42 ดีเวลลอปเปอร์ไทย-เทศแห่อัดแคมเปญ “ลดแลกแจกแถม” ล้างสต็อกกว่า1พันโครงการ คาดสะพัด 4พันล้าน

นายชัยรัตน์ ธรรมพีร อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ซบเซาจนถึงจุดวิกฤติ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ทาง 3 สมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ยื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาและกระตุ้นผู้ซื้อเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เป็นการประคองสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตราการแรก ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

มาตรการที่สอง ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการคุมเข้มสินเชื่อภาคอสังหาฯ หรือ แอลทีวี (LTV) เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว

มาตราการที่สาม ขอให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ

มาตราการที่สี่ ขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด มูลค่า 3-5 ล้านบาทต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 5-10 ล้านบาทต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี และมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

มาตรการที่ห้า ขอให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาทต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2564 คาดว่ารัฐบาลจะต่อมาตรการที่เป็นประโยชน์และออกมาตรการที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและอารมณ์ซื้อออกมาช่วงต้นปี 2564 ก่อนงานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 42 จากปีนี้เลื่อนจัดงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า มหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 42 จะจัดขึ้นวันที่ 4-7 มี.ค.2564 ที่สยามพารากอนฮอลล์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาร่วมเปิดบูธจำนวน 235 บูธ เพิ่มขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงาน มีจำนวนโครงการที่เข้าร่วมกว่า1,000โครงการ

“ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และคอนโดเนื่องจากผู้ประกอบการต่างต้องการเร่งระบายสต็อกสินค้าที่เหลืออยู่ด้วยการลดแลกแจกแถมเต็มสตรีม บางรายยอมขาดทุน หรือกำไรน้อยลงเพื่อกำเงินสดเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว คาดว่าจะมีเงินสะพัด 4,000 ล้านบาท ผู้ที่เข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้น 20% จากครั้งที่แล้วมีผู้ชมงาน 100,000 คน”

ช่วงไตรมาสแรกปีหน้าถือเป็นโอกาสทองของคนซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดติดรถไฟฟ้ายังมีโอกาสที่ฟื้นตัวทันทีที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ดอกเบี้ยราคาถูก และกำลังซื้อจากต่างประเทศจะเข้ามาทั้งจีน ฮ่องกง เกาหลี ฯลฯ ขณะที่ราคาที่ดินไม่ได้ลดลง และเมื่อหากสถานการณ์คลี่คลายเชื่อว่า ราคาอสังหาฯ น่าจะปรับสูงขึ้นตามราคาต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น คาดว่า ไตรมาสสี่ตลาดอสังหาฯ จะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน