รับมือ 'ฝุ่น PM2.5' บุกบ้าน! ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

รับมือ 'ฝุ่น PM2.5' บุกบ้าน! ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

เปิดวิธีรับมือ "ค่าฝุ่น PM2.5" ที่พุ่งสูงในกรุงเทพฯ นนทบุรี และปริมณฑล ที่ไม่ใช่แค่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ยังเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงแก่ชีวิต จนถึงผลระยะยาวที่อาจถึงขั้นทำอายุสั้นลง!

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงนี้ ได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ชาวกรุงหันมาให้ความสนใจกันอีกครั้ง

แน่นอนว่า ที่ต้องกระทบเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะในจุดที่ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่ต้องดูแลตัวเอง เพราะผลเสียจากการสะสมของฝุ่นพิษเมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายนานๆ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลทั่วไปได้ทั้งสิ้น โดยเป็นมากกว่าการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่รุนแรงถึงขั้นส่งผลให้เรา “ตายผ่อนส่ง” ได้หากต้องสูดดมฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องเป็นเวลานาน สามารถส่งผลต่อสุขภาพขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนี้ ฝุ่นจิ๋วส่งผลอย่างมีนัยยะให้เรามี "อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง" ตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่

160804688813

โดย ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยเปิดเผยถึงการศึกษาจากประเทศจีนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี ขณะที่ จ.พะเยา ซึ่งมีปัญหาฝุ่นควันพิษนั้น ก็สำรวจพบว่า ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 5.6 ปี

การศึกษาจากประเทศจีนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี ขณะที่ จ.พะเยา ซึ่งมีปัญหาฝุ่นควันพิษนั้น ก็สำรวจพบว่า ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 5.6 ปี

เห็นข้อมูลแล้ว หลายคนอาจไม่อยากออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น แต่ยังมีความจริงที่คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้ นั่นคือ..

อย่าคิดว่าอยู่แต่ในบ้านแล้วจะปลอดภัย เพราะทราบหรือไม่ว่า ในบ้านเราเอง ถ้าไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ดีไม่ดี ค่าฝุ่นละออง อาจจะสูงกว่าข้างนอกอีกก็เป็นได้ 

รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เคยให้ข้อมูลไว้ระหว่างร่วมเสวนาวิชาการหัวข้อ "PM 2.5 ตระหนักอย่างไม่ตระหนก" ว่า PM 2.5 ภายในบ้าน เกิดขึ้นได้ทั้งจากควันจากการทำอาหาร ควันธูป จากเครื่องพิมพ์เอกสาร และเล็ดลอดเข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะถ้าบ้านใครอยู่ติดถนนใหญ่ ขอให้อย่าวางใจ เพราะฝุ่นไม่ได้หยุดลงแค่หน้าประตูบ้านอย่างแน่นอน

พร้อมกันนี้ก็แนะนำว่า ให้หมั่นตรวจสอบค่าฝุ่นในบริเวณใกล้เคียง ถ้าสภาพอากาศค่อนข้างดี มีค่าฝุ่นต่ำ ก็ให้เปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ เพราะการปิดบ้านตลอดเวลา สามารถทำให้เกิดเชื้อรา และมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นได้

PM 2.5 ภายในบ้าน เกิดขึ้นได้ทั้งจากควันจากการทำอาหาร ควันธูป จากเครื่องพิมพ์เอกสาร และเล็ดลอดเข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะถ้าบ้านใครอยู่ติดถนนใหญ่ ขอให้อย่าวางใจ เพราะฝุ่นไม่ได้หยุดลงแค่หน้าประตูบ้านอย่างแน่นอน

   

  • อยู่กับฝุ่นอย่างปลอดภัย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.airnow.gov ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา ให้คำแนะนำสำหรับใครที่อาศัยในจุดเสี่ยงมลพิษทางอากาศ ควรซื้อเครื่องกรองอากาศติดไว้ที่บ้าน โดยเลือกรุ่นที่เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน และขอให้ดอกจันตัวโตๆ ว่า อย่าซื้อเครื่องที่โฆษณาว่า ผลิตโอโซนได้ เพราะแทนที่จะหายใจได้ชุ่มปอดจากอากาศสะอาดๆ กลับจะกลายเป็นได้รับพิษแทน พร้อมกันนี้ก็ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องหายใจหนัก

สำหรับใครที่ยังไม่มีเครื่องกรองอากาศ ก็ขอให้ทำความสะอาดพื้นที่ที่ใช้ประจำ โดยเฉพาะห้องนอน รวมถึงปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องปรับอากาศในกรณีที่มั่นใจว่า ไม่ได้ดึงอากาศจากข้างนอกเข้ามา รวมถึงให้เลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีตัวกรองที่ได้มาตรฐาน และเช็คด้วยว่า เครื่องปรับอากาศที่ใช้อยู่มีระบบเปิดรับอากาศจากภายนอกเข้ามาหรือไม่ ถ้ามี ก็ให้ปิดระบบดังกล่าวเสีย และอย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวกรองสะอาดเพียงพอที่จะทำให้อากาศไหลเวียนภายในอาคารได้ดี

การกำจัดฝุ่น PM2.5 ด้วยอุปกรณ์ข้างต้น แม้ประสิทธิภาพจะเลิศเลอแค่ไหนก็จะไม่ได้ผล ถ้าเรายังหมั่นเติมฝุ่นเข้าบ้านอยู่เนืองๆ โดยอย่าลืมว่า ฝุ่น PM2.5 เหล่านี้มีขนาดเล็กมาก สามารถล่องลอยไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แถมยังไม่ค่อยตกพื้นด้วยเพราะน้ำหนักแสนเบา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  เปิดทริคซื้อ 'เครื่องฟอกอากาศ' ยี่ห้อไหนดี ที่ กรองฝุ่น 'PM2.5' ได้ด้วย 

เว็บไซต์ดังกล่าวแนะนำว่า เมื่อสภาพอากาศนอกบ้านมีค่าฝุ่นละเอียดสูง ขอให้หลีกเลี่ยงการเผาทุกชนิด รวมถึงการจุดธูป เทียน และจงงดการสูบบุหรี่

พร้อมกันนี้ก็หมั่นดูแลบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ โดยแนะนำให้เช็ดด้วยผ้าเปียกแทนการใช้เครื่องดูดฝุ่น นอกเสียจากว่า เครื่องดูดฝุ่นของคุณจะมีแผ่นกรองอากาศ HEPA ซึ่งย่อมาจาก High Efficiency Particulate AirFilter กรองอากาศคุณภาพสูง กรองฝุ่นละออง เชื้อโรค เชื้อโรคแบคทีเรีย มีอนุภาคขนาดเล็ก โดยแผ่นกรองนี้ สามารถซื้อแยกมาใช้ร่วมกับเครื่องปรับอากาศที่มีอยู่ได้ด้วย

  

  • ออกแบบ "บ้าน" สู้ฝุ่น

สำหรับในกรณีการป้องกันในระยะยาวนั้น การปรับเปลี่ยนหรือออกแบบบ้านเพื่อรับมือกับ PM2.5 ที่ดูท่าว่าจะวนเวียนมาหาเราทุกปี ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ควรมองข้าม ดีกว่าการมาคอยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันอยู่เสมอๆ 

โดยเก็บตกจาก เสวนาพิเศษเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” ซึ่งจัดโดย สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อมกราคม 2562 ผศ.ดร. อันธิการ สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ให้ข้อมูลสำหรับการออกแบบบ้านเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น ไว้ดังนี้

1. ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน  เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่น จึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน  การออกแบบงานภูมิทัศน์ หรือการจัดสวนไม้ประดับ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น

160804796237
 ไม้ฟอกอากาศสวยๆ เป็นอีกทางเลือกช่วยขจัดสารพิษในบ้านได้ด้วย

3. เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย  การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น

160804716086
 ผนังอิฐเปลือยแบบนี้ ดูสวยก็จริง แต่ก็อมฝุ่นอย่างมหาศาล (รูป : pixabay)

4. ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ  การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค และหากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน

5. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน  เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด