"เสรีพิศุทธ์" เสนอไอเดีย แก้มาตรา112 แยกดูหมิ่น ออกจากอาฆาตมาดร้าย

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เสนอปรับปรุงมาตรา 112 แยกดูหมิ่น-หมิ่นประมาท ออกจาก อาฆาตมาดร้าย หวังไม่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง

       พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย  แถลงที่พรรคเสรีรวมไทย เพื่อสนับสนุนต่อการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่มีกลุ่มคณะราษฎร63 และแนวร่วมเรียกร้องให้แก้ไข ส่วนกรณีที่ส.ว. แถลงคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขเนื้อหาพร้อมสนับสนุนให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ตนเชื่อว่าการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาคดีนั้นต้องดำเนินคดีเข้าข้างผู้มีอำนาจ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฐานะปฏิปักษ์กับผู้ชุมนุม เชื่อว่าการดำเนินคดีจะไม่ให้ความเป็นธรรมแน่นอน เพราะพล.อ.ประยุทธ์​มีอำนาจสั่งย้ายตำรวจฐานะประธาน ก.ตร.​หากเจ้าหนาที่ไม่ดำเนินการกับแกนนำผู้ชุมนุม ทั้งนี้ตนฐานะผู้ที่เคยถูกฟ้องตามมาตราม 112 นั้นเชื่อว่ามาตราดังกล่าวสามารถกลั่นแกล้งได้  ดังนั้นรัฐบาลควรคิดให้รอบคอบ อย่าทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กองเชียร์คือตัวส่งเสริมและทำลายสถาบัน
      “กฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันต้องมี ใครหมิ่นสถาบันต้องผิด อาฆาตมาดร้ายต้องผิด แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมต้องแยก ระหว่าง การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และ อาฆาตมาดร้ายออกจากกัน  โดยประเด็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปรวมไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326  เพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องร้องหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีกับคนที่กระทำการดูหมิ่น และให้โทษหนัก ขณะที่การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไว้ในมาตรา 112 อย่างเดิม เพื่อไม่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน และระคายเคืองสถาบัน ทั้งนี้พรรคเสรีรวมไทยหรือพรรคฝ่ายค้านคงไม่ยื่นเสนอแก้ไข เพราะเสียงมีน้อยกว่า และเชื่อว่าแค่วาระแรก ส.ส.ฝั่งรัฐบาลคงไม่เอาด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลง
         พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยถูกดำเนินคดี แต่หากลงจากอำนาจเมื่อใด ตนจะดำเนินการ เพราะหากใช้กฎหมายดังกล่าวไปกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลอื่นสามารถดำเนินคดีได้ 
       พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยมีการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาให้เป็นคุณกับสถาบัน และผู้ที่ถูกแจ้งความต้องถูกจับ ไม่ให้ประกันตัว ทั้งนี้ตนสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พบการแจ้งความดำเนินคดีกับหลายคน และทราบจากนายกฯ สมัยนั้นว่า ในหลวงรัชกาลที่9 รับสั่งว่าไม่ต้องการเอาเรื่อง ให้บุคคลเหล่านั้นเดือดร้อน แม้ตนไม่ได้ยินจากรับสั่งของรัชกาลที่9 โดยตรง แต่ไม่สั่งฟ้องทุกเรื่อง และแม้เรื่องส่งไปอัยการ พบว่าอัยการสูงสุดไม่ฟ้องทุกเรื่องเช่นกัน  
 
       “ผมฟังจากส.ศิวลักษณ์ ที่เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 และออกมาบอกว่าในหลวงไม่ถือสา หรือเอากฎหมายฉบับนี้ดำเนินคดีกับคนท่ัวไปเพราะจะเสื่อมเสียกับสถาบัน ซึ่งส.ศิวลักษณ์ไม่ถูกฟ้อง ดังนั้นรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ไม่โปรดให้ดำเนินคดีกับราษฎรของพระองค์ในข้อหานี้ แต่ทำไมรัฐบาลถึงดำเนินการ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลง