เหยียบคันเร่งธุรกิจ ! งานด่วน 'ศักดิ์สยามลิสซิ่ง'

เหยียบคันเร่งธุรกิจ ! งานด่วน 'ศักดิ์สยามลิสซิ่ง'

'ศักดิ์สยามลิสซิ่ง' จากรับจัดเก็บหนี้ สู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อบริษัทมหาชน ! 'ศิวพงศ์ บุญสาลี' ทายาทคนโต เร่งผลักดันภารกิจ 'ขยายสาขา&พอร์ตสินเชื่อ' ก้าวกระโดดภายใน 3 ปี 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ IPO เข้าตลาดระดมทุน 8 ธ.ค.นี้ ราคา 3.70 บาท

'คุณพ่ออายุมากแล้ว ถึงเวลาต้องมาช่วยธุรกิจครอบครัว !'

เมื่อความคิดตกผนึกของ 'ศิวพงศ์ บุญสาลี' ลูกชายคนโต ในจำนวนพี่น้อง 2 คน ของ 'ดร.พูนศักดิ์ บุญสาลี' ผู้ก่อตั้ง บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการงานวิศวกรรม บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เพื่อมานั่งบริหารงานตามหน้าที่ทายาทคนโตในตำแหน่ง 'กรรมการผู้จัดการ' (MD) เมื่อราว 8 ปีก่อน หลังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตลอด 10 ปี !

บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับภูมิภาคภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'ศักดิ์สยาม' (SAKSIAM) หุ้นน้องใหม่ IPO กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 8 ธ.ค. 2563 ในราคาหุ้นละ 3.70 บาท ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 546 ล้านหุ้น คิดเป็น 26% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท หลังขายหุ้นไอพีโอ “ตระกูลบุญสาลี” มีสัดส่วนถือหุ้นจำนวน 66.80%

ปัจจุบัน SAK แบ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อเป็น 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.สินเชื่อทะเบียนรถ (Vehicle Title Loan) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 87% 2.สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) คิดเป็น 3% 3.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) คิดเป็น 9% และ 4.สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (Hire-Purchase and Car for Cash) คิดเป็น 1% ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

'ศิวพงศ์ บุญสาลี' กรรมการผู้จัดการ SAK เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า 'จุดเริ่มต้น' ของธุรกิจมาจากการรับบริหารจัดเก็บหนี้ ก่อนจะขยับมาให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ (Vehicle Title Loan) เนื่องจากระสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมานานกว่า 25 ปี ทำให้เข้าใจในพฤติกรรมความต้องการสินเชื่อของลูกค้า และสามารถตอบสนองความต้องการแหล่งเงินทุน ผ่านการปล่อยสินเชื่อในเขตพื้นที่จังหวัดภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

เข้ามารับหน้าที่เอ็มดีเมื่อ 8 ปีก่อน ! มีจำนวนสาขาอยู่ 100 แห่ง แต่ ณ ปัจจุบันมีจำนวนสาขา 519 แห่ง ในพื้นที่ 38 จังหวัด เขาบอกว่า ตอนนั้นธุรกิจให้บริการสินเชื่อตลาดมีการแข่งขันเข้มข้นมาก ยิ่งเฉพาะ 'คู่แข่งในอุตสาหกรรม 2 ราย' นำพาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และประสบความสำเร็จเนื่องจากธุรกิจขยายสาขาและผลประกอบการเติบโตอย่างรวดเร็ว

160719021159

ศิวพงศ์ บุญสาลี

ดังนั้น 6 ปีก่อน จึงปรึกษากันว่าหากปล่อยให้ธุรกิจเติบโตในลักษณะเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ยังยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม โอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนก็ 'ยาก' ขึ้น ทำให้แผนการเข้าตลาดหุ้นจึงเริ่มต้นขึ้น โดยหลังจากบริษัทเข้าตลาดหุ้นครานี้ ! จะสามารถ 'กำจัดข้อจำกัดการเติบโต' จากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อไปขยายธุรกิจผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย และ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในทุกมิติจากแผนงานขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลายมากขึ้น

รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึก (Big Data) การเสนอสินเชื่อ พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ รับชำระหนี้ บริหารหนี้สูญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ ยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของบริษัท

เชื่อว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่าง 'โดดเด่น' ได้ในอนาคต จากเงินลงทุนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 290.10 ล้านบาท 398.50 ล้านบาท และ 345.90 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 928.50 ล้านบาท 1,256.60 ล้านบาท และ 1,604.60 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดงวด 9 เดือนปี 2563 มีกำไรสุทธิ 408.80 ล้านบาท และ รายได้ 1,216.00 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม SAK มีระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 อยู่ที่ 1.9 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง และหลัง IPO จะทำให้ D/E ลดลง สามารถรองรับการขยายวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงแหล่งเงินทุนประเภทตราสารหนี้อื่น และการขยายสินเชื่อได้อีกในอนาคต

'ทายาทคนโต' แจกแจงต่อว่า บริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจให้เติบโตในทุกมิติภายในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) มูลค่าพอร์ตสินเชื่อแตะ 12,000 ล้านบาท ! จากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท มีจำนวนสาขาเป็น 1,119 แห่ง ในทำเลพื้นที่ภูมิภาคเดิมที่เจาะลงไปในพื้นที่ระดับตำบล และ ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2563 มองว่า มีแนวโน้มการฟื้นตัวในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นจากที่ผ่านมา หลังจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย บริษัทจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ได้ออกมาตรการแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้ระยะ 2 ภายใต้แนวคิดร่วมเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขให้ลูกค้า โดยสินเชื่อทะเบียนรถ ลดค่างวด 30% ของค่างวดเดิม และ คิดอัตราดอกเบี้ย และ ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 22% สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อเช่าซื้อ และ สินเชื่อรถแลกเงินพักชำระค่างวดเป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 คาดหวังว่า สถานการณ์โดยรวม ฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น และ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในภาพรวมเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนของบริษัทเองจะยังคงนโยบายทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุม โปร่งใสและ เป็นธรรม โดยคาดหวัง และ มีเป้าหมายหลัก คือ การมุ่งหวังให้ความช่วยเหลือประชาชนชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นหลักอีกด้วย

160719025875

สำหรับ 'ปัจจัยความเสี่ยง' ของธุรกิจ ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการปฏิบัติตามและการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น บริษัทตระหนักถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งมีหน้าที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการของบริษัทฯ จัดให้มีการประเมิน และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่สำคัญในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงความเสี่ยงอันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ความเสี่ยงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น บริษัทได้แต่งตั้งคณะทำงานให้ดำเนินการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งต่างๆ เพื่อความเข้าใจในตัวกฎหมายดังกล่าวและการเตรียมพร้อมของบริษัทเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ในส่วนของหน้าที่ของบริษัทอันเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ 'ความเสี่ยงด้านธุรกิจ' ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านการจัดเก็บหนี้ โดยบริษัทมีนโยบายในการพิจารณาให้สินเชื่อที่รัดกุม เข้มงวด มีการอบรมพนักงานวิเคราะห์สินเชื่ออย่างต่อเนื่องและการกำหนดวงเงินการอนุมัติตามลำดับอำนาจอนุมัติ รวมถึงการมีระบบควบคุม และติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการกำหนดหน้าที่ในการติดตามการจัดเก็บ และการควบคุมหนี้ ให้แก่สาขากับฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของสำนักงานใหญ่ในการติดตามและควบคุมลูกหนี้ตามการจัดอายุหนี้

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการไม่สามารถติดตามยึดหลักประกัน เพื่อลดโอกาสที่บริษัทจะไม่สามารถติดตามยึดหลักประกันได้ จึงกำหนดคุณสมบัติของลูกค้าที่จะมาขอสินเชื่อ โดยจะต้องเป็นคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีสถานที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ของสาขาหรือหน่วยที่มาขอใช้บริการ และยังกำหนดให้พนักงานประจำสาขาเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อยืนยันการมีอยู่ของลูกค้าและหลักประกันว่าตรงกับที่ลูกค้าแจ้งหรือไม่ และสามารถติดตามดูแลลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว

ท้ายสุด 'ศิวพงศ์' ฝากไว้ว่า จุดแข็งของ SAK คือการดำเนินธุรกิจที่มีความโปร่งใส เป็นมิตรและเป็นธรรม พนักงานมีคุณภาพและมีความเข้าใจลูกค้า จึงสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านจุดให้บริการสาขาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและนำพาองค์กรไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำสินเชื่อรายย่อยระดับชาติ