วัคซีน COVID-19 ความหวังของมวลมนุษยชาติใกล้เป็นจริง

วัคซีน COVID-19 ความหวังของมวลมนุษยชาติใกล้เป็นจริง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตคิดค้นวัคซีนเริ่มประกาศความสำเร็จในการทดลองและยื่นขออนุมัติจาก FDA โดยบริษัทที่ประกาศความสำเร็จจากการทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างในเฟส 3 ได้แก่ Pfizer, Moderna และ AstraZeneca

COVID-19 เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกติดตามอย่างใกล้ชิด ทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และองค์กรต่างๆ ทั่วโลกระดมกำลังเพื่อคิดค้น วิจัย และพัฒนาวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก วัคซีนสำหรับ COVID-19 จึงเป็นทางออกที่มวลมนุษยชาติฝากความหวังไว้

ข่าวดีล่าสุดคือ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตคิดค้นวัคซีนเริ่มประกาศความสำเร็จในการทดลองและยื่นขออนุมัติจาก FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) โดยบริษัทที่ประกาศความสำเร็จจากการทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างในเฟส 3 ได้แก่ Pfizer, Moderna และ AstraZeneca

Pfizer ของสหรัฐฯ ซึ่งทดลองร่วมกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนี เป็นบริษัทแรกที่ประกาศความสำเร็จจากการทดลองวัคซีน COVID-19 ชื่อ 'BNT162b2' ที่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัส COVID-19 ได้สูงกว่าร้อยละ 90 และยื่นขออนุมัติฉุกเฉินจาก FDA แล้ว โดยคาดว่าในวันที่ 10 ธันวาคม นี้ จะทราบผลการอนุมัติ และหากได้รับการอนุมัติจะสามารถฉีดวัคซีนให้ชาวสหรัฐฯ ได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง กลุ่มแรกที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนก่อนคือ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนนี้ได้ 50 ล้านโดสในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดสภายในปีหน้า ซึ่งล่าสุดมีหลายประเทศสั่งจองวัคซีนไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

Moderna เป็นอีกบริษัทจากสหรัฐฯ ที่รายงานประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 เช่นกัน โดยวัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna สามารถป้องกัน COVID-19 ได้ถึง 94.5% ซึ่งล่าสุด Moderna ได้ยื่นขออนุมัติฉุกเฉินจาก FDA และคาดว่าจะทราบผลในช่วงกลางเดือนธันวาคม และหากว่าได้รับการอนุมัติจะสามารถนำมาใช้ได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงเช่นเดียวกับ Pfizer โดย Moderna คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 20 ล้านโดสภายในปีนี้ และ 1,000 ล้านโดสในปีหน้า

โดยวัคซีนของ Pfizer และ Moderna ใช้เทคโนโลยี RNA กระตุ้นให้ร่างกายผลิตโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายหนามของไวรัส COVID-19 ขึ้นมา ซึ่งโปรตีนนี้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จะช่วยสอนหรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเพื่อไม่ให้หนามโปรตีนของ COVID-19 เกาะเข้ากับเซลล์ในร่างกายได้หากมีการรับเชื้อ COVID-19 เข้ามา โดยจากการทดลองจะต้องมีการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของวัคซีนจาก Pfizer คือการเก็บรักษาและขนส่ง โดยจะต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จึงจะเก็บได้นาน 6 เดือน และในขั้นตอนระหว่างขนส่งวัคซีนต้องถูกเก็บในกล่องเก็บความเย็นชนิดพิเศษพร้อมน้ำแข็งแห้งเพื่อรักษาอุณหภูมิ และเมื่อจะนำวัคซีนมาใช้ สามารถเก็บไว้ในตู้แช่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 5 วัน ในขณะที่วัคซีนจาก Moderna สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียสเหมือนวัคซีนทั่วไป ซึ่งจะเก็บได้ 30 วัน และหากเก็บไว้ที่ความเย็นระดับ -20 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานถึง 6 เดือน

ส่วน AstraZeneca บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ โดยการทดลองร่วมกับ Oxford เปิดเผยผลการทดลองในเฟส 3 ว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 'AZD1222' ของบริษัท ซึ่งใช้วิธีคิดค้นวัคซีนแบบ Viral Vector คือใช้ไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดในชิมแปนซีเป็นพาหะนำไวรัสที่ทำให้เกิด COVID-19 เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดย AZD1222 สามารถป้องกันไวรัสได้เฉลี่ย 70.4% จากการทดลองในแต่ละกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครึ่งโดสในครั้งแรก และ อีก 1 โดสในเดือนต่อมา ให้ผล 90% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครั้งละ 1 โดส เป็นจำนวน 2 ครั้ง ให้ผล 62% วัคซีนจาก AstraZeneca ค่อนข้างสะดวกในการจัดเก็บและขนส่ง เนื่องจากสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้เหมือนของ Moderna โดย AstraZeneca ตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 4 ล้านโดส สำหรับใช้ในอังกฤษ และจะสามารถผลิตได้ 300 ล้านโดสได้ภายในปีหน้า อย่างไรก็ตาม มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวความโปร่งใสในขั้นตอนการทดลองของ AstraZeneca พอสมควร ทำให้ทาง AstraZeneca อาจต้องมีการวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มเติม

ความคืบหน้าของบริษัทยาต่างๆ ในช่วงนี้ และโอกาสที่จะมีความคืบหน้ามากขึ้นจากบริษัทอื่นๆ ทำให้ความหวังที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ชัดเจนมากขึ้น โดยหากพิจารณาจากอัตราการแพร่เชื้อ (Reproductive Number : R0 หรือ R Naught) ของ COVID-19 ที่อยู่ที่ระดับ 3 (ผู้ติดเชื้อ 1 คน แพร่เชื้อได้ 3 คน) กรณีที่ไม่มีมาตรการควบคุม การจะระงับการแพร่ระบาดได้ด้วยวัคซีน หรือการทำให้ค่า R0 เป็น 1 จะต้องมีการฉีดวัคซีนประมาณ 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมด [1- (เป้าหมาย R0/ อัตรา R0 ปัจจุบัน)]

โดยหากคำนวณจากจำนวนประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริการ ยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรรวมประมาณ 1,011 ล้านคน สัดส่วนที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดอยู่ที่ 65% เท่ากับประชากรประมาณ 657 คน และแต่ละคนต้องได้รับวัคซีนคนละ 2 โดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น จำนวนวัคซีนที่จะต้องใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะอยู่ที่ 1,314 โดส ซึ่งหากพิจารณาจากความสามารถในการผลิตวัคซีนของ Pfizer เพียงแค่บริษัทเดียวในปีหน้า นับว่าเท่านี้ก็เพียงพอต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้แล้ว

เมื่อการแพร่ระบาดชะลอลง และภาวะต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แน่นอนว่าภาพเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆก็จะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งในช่วงนี้เริ่มเห็นสัญญาณเหล่านี้ชัดเจนขึ้น จะสังเกตเห็นว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นคึกคัก ภาพการลงทุนปรับเปลี่ยนเป็นช่วง Reflation ซึ่งเป็นภาวะที่ดีที่สุดในการลงทุน กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มวัฏจักร (Cyclical Stocks) เช่น กลุ่มการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)จะได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งช่วงนี้นับเป็นช่วงสำคัญมากที่จะปรับพอร์ตการลงทุนในทันกับสถานการณ์เพื่อรับกับภาพการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

COVID-19 เป็นบททดสอบสำคัญของทุกภาคส่วน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในการคิดหาวิธีเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยและยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งภาครัฐในการควบคุมดูแลและออกมาตรการต่างๆ รวมถึงประชาชนในการให้ความร่วมมือ และในฐานะผู้ลงทุนก็เป็นบททดสอบว่าเราจะสามารถปรับใช้ข้อมูลที่ได้จากการติดตามข่าวสารเพื่อเป็นประโยชน์กับพอร์ตการลงทุน และความมั่งคั่งได้ดีเพียงใด

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager