"จิระนันท์ พิตรปรีชา" : พลังของภาพถ่าย

"จิระนันท์ พิตรปรีชา" : พลังของภาพถ่าย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "จังหวัดน่าน" เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะภาพถ่ายที่มีชีวิตของช่างภาพกลุ่ม "สห+ภาพ" ที่เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้ ดังคำกล่าวที่ว่า "ภาพๆ เดียวมีความหมายมากกว่า 1,000 คำ"

ในปีพ.ศ. 2552  จังหวัดน่าน ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ในหุบเขา แล้วยังมีข่าวการสู้รบปะทะกันระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เนืองๆ 

ทั้งๆ ที่มีธรรมชาติสวยงาม มีศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และพุทธศาสนาที่ผู้คนมีศรัทธา ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ จนเมื่อมีการนำเสนอออกมาเป็นนิทรรศการภาพถ่าย จึงสามารถสร้างแรงดึงดูดให้คนหันมาสนใจ จ.น่านมากขึ้น

  •  ถ่ายทอดความงดงาม

ปีพ.ศ. 2553 มีการจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย ชุด "น่านนิรันดร์ 100 ภาพฝันบันทึกแผ่นดิน" โดยกลุ่ม สห+ภาพ  หลังจากนั้น10 ปีผ่านไป สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ก็ได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่าย จ.น่านโดยช่างภาพกลุ่มเดิมอีกครั้ง

ในชื่อว่า "108 ภาพฝัน เส้นทางเล่าขาน ตำนานเมืองน่าน" เป็นส่วนหนึ่งในงาน ‘เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนวิถีคนเมืองน่าน’ ณ ข่วงเมืองน่าน ระหว่างวันที่ 4 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ในปี 2552 เราได้เดินทางไปจังหวัดน่าน เพื่อพบกับคุณ วีรวิทย์ วิวัฒนาวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในสมัยนั้น ท่านพูดว่า “ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวเมืองน่านเลย ผมอยากให้น่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์” 

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ นักเขียน ช่างภาพอิสระ ประธานที่ปรึกษากลุ่มสห+ภาพ เล่าถึงที่มาของนิทรรศการภาพถ่ายน่านนิรันดร์ฯ และช่างภาพกลุ่มสห+ภาพ กว่า 50 ชีวิต

ที่ได้ลงพื้นที่จ.น่าน 3 วัน เพื่อบันทึกภาพ คัดเลือกภาพ และจัดแสดงภาพถ่ายนิทรรศการ ‘น่านนิรันดร์’ อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้จังหวัดน่านเป็นที่รู้จักมากขึ้นวงกว้าง  

160705305187 กระซิบรักเมืองน่าน ช่างภาพ : ศุภรัตน์ แก่นจันทร์

"การทำงานครั้งนี้ต่างจากน่านนิรันดร์ เมื่อ 10 ปีก่อนตรงที่ว่า ตอนถ่าย'น่านนิรันดร์'เราพยายามจะครอบคลุมทุกอำเภอ ในตอนนั้นมีรูปธรรมชาติ ป่าเขา เยอะ เพราะน่านมีถึง 7 อุทยานแห่งชาติ แต่ครั้งนี้เราโฟกัสเรื่องของคนและชุมชน 

เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เราไปถ่ายภาพ ทางวัฒนธรรมจังหวัดได้จัดเสวนาสัญจรให้ข้าราชการไปชมวิถีชุมชนพอดี เราก็ได้ไปตามถ่ายตามจุดเหล่านั้น โดยไปก่อนเวลา เพื่อจะได้ไม่มีคนเยอะ" ประธานกลุ่มสห+ภาพ พูดถึงการทำงาน และกล่าวว่า ช่างภาพกลุ่มนี้มาด้วยความสมัครใจ ไม่มีเงินจ้าง

เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เราไปถ่ายภาพ ทางวัฒนธรรมจังหวัดได้จัดเสวนาสัญจรให้ข้าราชการไปชมวิถีชุมชนพอดี เราก็ได้ไปตามถ่ายตามจุดเหล่านั้น โดยไปก่อนเวลา เพื่อจะได้ไม่มีคนเยอะ" ประธานกลุ่มสห+ภาพ พูดถึงการทำงาน และกล่าวว่า ช่างภาพกลุ่มนี้มาด้วยความสมัครใจ ไม่มีเงินจ้าง

"ช่างภาพระดับชั้นนำ ช่างภาพมือรางวัล ช่างภาพสารคดี ช่างภาพระดับเกจิ มารวมตัวในงานนี้เยอะ ลีลาหรือมุมมองของแต่ละคน ก็เป็นเรื่องของใครของมัน เลยทำให้เกิดความหลากหลาย เป็นช่างภาพจิตอาสาที่อยู่ด้วยกันมานาน เราทำทุกอย่างตั้งแต่ช่วยน้ำท่วม แผ่นดินไหว (ที่ประเทศเนปาล) อย่างที่เคยทำ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี หรือว่า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ก็เป็นวิถีชุมชนเหมือนกัน แต่ว่า Scope จะเล็กกว่า"

160705307464 เบื้องหลัง การทำงานของช่างภาพ

  • คิดก่อนถ่าย

"ปัญหาอยู่ที่การตีโจทย์มากกว่า ไม่อย่างนั้นมันจะซ้ำ ประมาณว่าวัดนี้จัดคนมานั่งไหว้พระ วัดนั้นจัดพระมาเดิน มันไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของกลุ่มสห+ภาพ คือถ่ายชีวิตคนจริงๆ ขึ้นอยู่กับแสง การหามุม บางทีต้องย้ายโต๊ะ ยกถุงพลาสติกออก จัดนิดจัดหน่อย

จ.น่านมีวัดเยอะ เราต้องเลือกวัดที่ถ่ายรูปขึ้น ไม่ได้หมายความว่าอลังการ แต่มีความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง มีวิถีชีวิต มีกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวไทลื้อ ชาวลัวะ ชาวเมี่ยน (เย้า) เราก็ไปดูว่าพวกเขาทำอะไรกัน พยายามถ่ายภาพวิถีชีวิตของพวกเขา

เช่น ชาวลัวะอยู่กับป่าเก็บหาใบเมี่ยง เอามามัดขายก็ตามไปดู หรือว่าการแต่งกายของ ชาวเมี่ยน พวกเขามีฝีมือในการทำเครื่องเงิน หลายคนไม่รู้ว่าเครื่องเงินคุณภาพดีที่น่านคือ ฝีมือชั้นยอดของชาวเมี่ยน" ประธานกลุ่มสห+ภาพ กล่าวถึงรายละเอียดการทำงาน

กว่า 1,000 ภาพ ที่ได้มาจากช่างภาพ 15 คนในครั้งนี้ ถูกคัดเลือกให้เหลือ 108 ภาพ จิระนันท์ เล่าว่า "ภาพถ่ายมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมาก ไม่ได้แค่ธรรมชาติสวยงาม หรือน่าช็อป น่าชิม ในจังหวัดเดียวมีวิถีชีวิตที่สวยงามและน่าเรียนรู้มากมาย ซึ่งบรรยายด้วยคำพูดไม่หมดหรอก แต่พอดูภาพแล้วจะเห็น" (https://www.facebook.com/media/set?vanity=fotounited&set=a.4004395679594848)

160705314354 ศิลปวัฒนธรรม นำชมวัดหนองบัว ช่างภาพ : ประพันธ์ ไกรศักดาวัฒน์ 

เพราะความหลงใหลในภาพถ่ายสไตล์ Photojournalist ภาพเหตุการณ์จริง ที่ไม่มีการจัดฉาก ทำให้ 12 ปีที่แล้ว จิระนันท์ได้ชักชวนเพื่อนสนิทอีก 3 คน คือ ธีรภาพ โลหิตกุล, เกรียงไกร ไวยกิจ และ เพ็ญพัฒน์ มรกตวิศิษฏ์

ร่วมกันจัดตั้ง ชุมชนฅนถ่ายภาพในนาม สห+ภาพ เพื่อสร้างคุณค่าของภาพให้มากกว่าการบันทึกเหตุการณ์ และผลักดันภาพถ่ายให้มีคุณค่าเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

"เราเริ่มต้นกันในปี 2551 รวมภาพถ่ายจากช่างภาพ 21 ท่าน ในโจทย์ชื่อว่า‘ตลาด’ เพราะ ตลาด มีความหมายในเชิงชุมชนและสังคม นำมาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายชื่อ ‘ตลาดยังไม่วาย’ที่ ตลาดร้อยปีสามชุก เป็นการจัดแสดงภาพถ่าย 'ตลาด' ในตลาดที่เก่าแก่”

ที่ผ่านมาผลงานโดดเด่นของช่างภาพกลุ่มนี้เห็นจะเป็น นิทรรศการภาพถ่าย ‘น้ำใต้ น้ำตา น้ำใจ’ ที่ระดมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2554 และนิทรรศการภาพถ่าย ‘นิรันดร์ในดวงใจ ’ บันทึกความโศกเศร้าสูญเสียของพสกนิกรชาวไทย ในปี 2560

160705312533 ภูษาอาภรณ์ ชาวเมี่ยน อ.ปัว ช่างภาพ : พัฒนะ จึงวัฒนาสมสุข

  • พลังของภาพถ่าย

สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายที่ประธานกลุ่มสห+ภาพภูมิใจมาก ก็คือนิทรรศการภาพถ่าย "อย่าลืม...โพธาราม" จ.ราชบุรี ปีพ.ศ. 2553

"ก่อนหน้านั้นคนที่ขับรถไปเที่ยวหัวหิน ชะอำ จะผ่านเลย ไม่รู้ว่าเลี้ยวเข้าไป 10 กว่ากิโลเมตร จะมีอะไรที่น่าทึ่งมากมาย แล้ววิธีจัดแสดงภาพถ่ายครั้งนั้น ไม่เหมือนกับงานอีเวนท์ เราจัดเอง เอาไปติดตามประตูบ้านเก่า โรงหนัง โรงพัก ทำให้สถานที่เหล่านั้นดูเป็นประวัติศาสตร์ มีความหมาย

เป็นความภูมิใจของชาวบ้าน ภายในไม่กี่เดือน นายกเทศมนตรีต้องจัดหาสถานที่จอดรถบัส รถทัวร์ ให้เลย จากเมืองที่เคยเงียบเหงา เขามีของดีอยู่แล้วมากมาย เหมือนน่านนี่ล่ะ แต่พอเอาภาพถ่ายสื่อออกไป คนก็อยากจะมานอนดู มาชิม มาชม"

160705317524 ลีลาไทลื้อ วัดหนองบัว ช่างภาพ : เกรียงไกร ไวยกิจ

นิทรรศการครั้งล่าสุดต่างจากนิทรรศการแต่ละครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการได้กลับมาถ่ายภาพในจังหวัดเดิมอีกครั้ง หลังจาก 10 ปีผ่านไป

"เรื่องราวจากน่านนิรันดร์ 1 ถึง 2 วิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม หรือไม่ได้ถูกทำลายด้วยการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ต้องช่วยกัน ทั้งฝ่ายเหย้าฝ่ายเยือน

ในด้านศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตเก่าๆ มีหลายอย่างฟื้นตัวกลับมาด้วยซ้ำ ด้วยการท่องเที่ยว จากวันที่น่านบูมขึ้นมา เพราะภาพถ่ายชุดนั้นของกลุ่มสห+ภาพ จนมาถึงวันนี้มีการรักษา สืบสาน อะไรไว้บ้าง แล้วอะไรที่ฟื้นฟู ต่อยอด

160705319249 บริสุทธิ์สดใส ใต้ฟ้าเมืองน่าน ช่างภาพ : ประสงค์ ไกรศักดาวัฒน์

เราอยากจะทำให้เป็นเล่มเลย เพราะเดี๋ยวนี้นาข้าวไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวเฉยๆ นะ นอกจากเป็นแหล่งให้นั่งชมข้าว ดื่มกาแฟแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จากข้าวเยอะแยะมากมาย

ทั้งครีม สปา น้ำมัน ข้าวพันธุ์พื้นเมือง กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ และมีนวัตกรรมเอาวัตถุดิบพื้นเมืองมาทำให้เป็นดีไซน์ทันสมัยระดับอินเตอร์ด้วย

ต่อจากนี้เราอยากจะเอาภาพถ่ายชุดนี้มาให้คนภายนอกดูด้วยการทำหนังสือหรือจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ก็ต้องหาแหล่งสนับสนุน รวมทั้งวิธีที่ไม่ต้องใช้ทุนคือ เผยแพร่ทางเพจ สห+ภาพ" จิระนันท์ พิตรปรีชา กล่าวทิ้งท้าย

......................

ติดตามผลงานช่างภาพกลุ่ม สห+ภาพ ได้ที่ www.facebook.com/fotounited