'หุ้นค้าปลีก-สายการบิน'ดาวเด่นรับมาตรการรัฐ

'หุ้นค้าปลีก-สายการบิน'ดาวเด่นรับมาตรการรัฐ

รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ไฟกระพริบส่งท้ายปี วงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน หวังช่วงประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

เมื่อลองแกะของขวัญออกมาดู น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน เพราะหลายมาตรการมาตามนัด ทั้ง คนละครึ่ง” เฟส 2 ที่จะให้สิทธิเพิ่มอีก 5 ล้านคน ซึ่งรัฐจะร่วมจ่ายคนละ 3,500 บาท ในการซื้อสินค้าอาหารการกินจากร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่เข้าร่วมโครงการ

โดยเงื่อนไขยังเป็นไปตามเดิม คือ รัฐร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนในวันที่ 16 ธ.ค. นี้ และเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2564

ส่วนในเฟสแรกซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 3,000 บาท ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะจะเพิ่มเงินให้อีกคนละ 500 บาท และขยายเวลาใช้สิทธิจากสิ้นปีนี้ไปถึง 31 มี.ค. 2564

ถือว่ามาตรการคนละครึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากประชาชน ทั้งในฝั่งผู้ใช้บริการที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนพ่อค้าแม่ค้าขายของได้มากขึ้น เรียกว่า “วิน-วิน” กันทุกฝ่าย จนเป็นที่มาของเฟส 2 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีเงินสะพัดอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

แน่นอนว่าในฝั่งตลาดทุนได้รับอานิสงส์ไปด้วยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น โดยกลุ่มค้าปลีกน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด โฟกัสไปที่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ซึ่งเป็นห้างค้าส่งขนาดใหญ่ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าร้านขายของชำ โชห่วย นิยมมาซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อภายในชุมนุม

เช่นเดียวกับบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ และเจ้าของห้างค้าปลีก “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” รวมไปถึงบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP มีผลิตภัณฑ์หลากหลายกลุ่มทั้งเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ลูกอม ฯลฯ

ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มอย่างบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI น่าจะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน

มาดูมาตรการด้านการท่องเที่ยวกันบ้างมีการปรับเงื่อนไขเพิ่มสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ในหลายส่วน หวังกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ดึงคนไทยออกมาท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวทั้งโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร ฯลฯ ในช่วงที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 

โดยเพิ่มสิทธิการจองห้องพักจาก 10 คืน เป็น 15 คืน ซึ่งรัฐยังคงช่วยออกค่าที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และเพิ่มห้องพักทั้งโครงการอีก 1 ล้านห้อง จาก 5 ล้านห้อง เป็น 6 ล้านห้อง แต่จำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น รัฐไม่ได้อุดหนุนค่าที่พัก แต่จะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher ที่จะนำไปใช้แทนเงินสดเป็นส่วนลดค่าอาหาร ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เท่านั้น โดยถ้าเข้าพักวันจันทร์-พฤหัสฯ จะได้ E-voucher 900 บาท และศุกร์-อาทิตย์ ได้ 600 บาท

ส่วนตั๋วเครื่องบินที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าบัตรโดยสาร 40% สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ จะเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ ใน 7 จังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย และจะขยายเวลาการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันไปถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2564 รับช่วงไฮซีซั่นเทศกาลสงกรานต์

ดูจากเงื่อนไขใหม่แล้วถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินที่เพิ่มเป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก น่าจะดึงดูดให้หลายคนตัดสินใจแพ็คกระเป๋าออกมาเที่ยวกันมากขึ้น อานิสงส์จะตกไปถึงบรรดาผู้ประกอบการสายการบิน

ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคงหนี้ไม่พ้น “ไทยแอร์เอเชีย” เจ้าตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่มีเส้นทางบินครอบคลุมและมากที่สุด ตามด้วยบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เจ้าของสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่มีเส้นทางบินหลักอย่างเกาะสมุย

ส่วนโรงแรมต้องเน้นไปที่ผู้ประกอบการที่มีโรงแรมในประเทศจำนวนมาก ซึ่งตามสัดส่วนไล่มาตั้งแต่บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT