'เครือข่าย 5จี อินโดฯ'ที่พึ่งหัวเว่ยรุกอาเซียน

'เครือข่าย 5จี อินโดฯ'ที่พึ่งหัวเว่ยรุกอาเซียน

หลังจากถูกสกัดจากชาติตะวันตก หัวเว่ย เทคโนโลยี สัญชาติจีนก็เร่งทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลในประเทศต่างๆยังคงมีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ ทำให้หัวเว่ยยังคงมีช่องทางขยายธุรกิจต่อไปได้อีก

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำของบริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี5จีและด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหัวเว่ยจะทำหน้าที่อบรมประชาชน1แสนคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ คลาวด์และในส่วนของเทคโนโลยีสื่อสาร5จี ซึ่งการลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการลงนามกับบริษัทเอกชนเป็นครั้งแรกของรัฐบาลอินโดนีเซีย

“ด้วยความช่วยเหลือของหัวเว่ย เราหวังว่าจะช่วยให้เรายกระดับทรัพยากรมนุษย์ให้มีมาตรฐานระดับสากลได้ เพราะหัวเว่ยจะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)และเทคโนโลยี5จีร่วมกัน”แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าว

ภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ หัวเว่ย ยังทำหน้าที่ให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีให้แก่อินโดแซท โอเรโด บริษัทโทรคมนาคมใหญ่สุดอันดับสองในอินโดนีเซียในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน5จีในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียและพื้นที่อื่นๆ และถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ แต่ทั้งจีนและอินโดนีเซียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของอินโดนีเซีย

“ที่ผ่านมา ทั้งอีริกสันและโนเกียต่างทำการทดสอบเครือข่าย5จีในอินโดนีเซียแต่การที่หัวเว่ยเสนอติดตั้งอุปกรณ์5จีที่มีต้นทุนถูกกว่าสองบริษัทประมาณ 20-30% แถมมีคุณภาพที่ดีกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ในท้ายที่สุด หัวเว่ยก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ”เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในหน่วยงานรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่กำกับดูแลด้านการสื่อสารระบุ

ในประเทศไทย หัวเว่ยได้ตั้งศูนย์วิจัย5จีเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมาและหัวเว่ยยังมีแผนที่จะใช้จ่ายเงิน 700 ล้านบาท(23ล้านดอลลาร์)เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งที่3ในประเทศไทยในปีหน้าด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางการกีดกันหัวเว่ยจากบรรดาชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ ล่าสุด รัฐบาลสหราชอาณาจักร ประกาศเมื่อวันจันทร์(30พ.ย.)ว่าไม่อนุญาตให้หัวเว่ยเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ใดๆ เริ่มให้มีผลตั้งแต่เดือนก.ย.ปีหน้า พร้อมทั้งสั่งห้ามให้หน่วยงานรัฐทำการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยให้มีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.ปีหน้า่ ขณะเดียวกัน ก็ให้ถอดฮาร์ดแวร์ของหัวเว่ยทุกประเภทออกจากหน่วยงานต่างๆให้หมดภายในปี 2570

เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง สหราชอาณาจักรเพิ่งตัดสินใจอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าสู่ตลาด5จีนในประเทศได้แต่มีเงื่อนไขว่าเข้ามาอย่างจำกัด แต่ในท้ายที่สุดก็กลับคำเพราะแรงกดดันจากสหรัฐและเพื่อตอบโต้การที่จีนใช้กฏหมายความมั่นคงกับฮ่องกง ส่วนประเทศอื่นๆในยุโรป อย่างเช่นฝรั่งเศสก็ประกาศแบนอุปกรณ์ของหัวเว่ยภายในปี 2571

ขณะที่กระแสต่อต้านหัวเว่ยในอาเซียนแม้ยังไม่รุนแรงเท่ากับตะวันตก แต่ก็มีสองสามประเทศที่หันหลังให้หัวเว่ย เช่น สิงคโปร์ เลือกอีริกสันและโนเกียเป็นซัพพลายเออร์หลักติดตั้งอุปกรณ์5จี เช่นเดียวกับเวียดนาม บริษัทเวียดเทล รัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของทางการเวียดนามก็หันหลังให้หัวเว่ยเช่นกัน

จีเอสเอ็มเอ กลุ่มอุตสาหกรรมมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า การใช้จ่ายด้านเงินทุนของบรรดาบริษัทให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี 2563 และ2568 จะมีมูลค่ารวม 66,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับในอเมริกาเหนือ ซึ่งมีการใช้จ่ายด้านเงินทุนอยู่ที่ 282,000 ล้านดอลลาร์ และ 181,000 ล้านดอลลาร์ในทวีปยุโรป แต่สำหรับหัวเว่ยแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสร้างความเติบโตทางธุรกิจให้แก่บริษัทนี้อยู่

"ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญมาตลอดและจะยังคงเป็นตลาดที่สำคัญต่อไปสำหรับหัวเว่ย เพราะอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของหัวเว่ยในตลาดนี้ รวมทั้งหัวเว่ยมีลูกค้าจำนวนมากในตลาดนี้"เรมี ปาสกาล นักวิเคราะห์จากออมเดีย บริษัทให้ข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสัญชาติอังกฤษ ให้ความเห็น

ออมเดีย ระบุว่า ปัจจุบัน หัวเว่ยเป็นผู้นำด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคม ในไตรมาส2 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 44% นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี5จี รวมทั้งความต้องการในโดเมนที่ขยายตัวมากขึ้น