ทำไมคุมโควิดได้ แต่เศรษฐกิจไม่โต

ทำไมคุมโควิดได้ แต่เศรษฐกิจไม่โต

ทำไมเศรษฐกิจยังหดตัวรุนแรง แม้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ แต่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ ที่เกิดจากผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

คำถามนี้ผมถูกถามบ่อยจากเพื่อนนักลงทุนว่า ทำไมเศรษฐกิจเรายังดูแย่ คือหดตัวแรงทั้งที่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ คือไม่มีการระบาดในประเทศมานานกว่า 5 เดือน ทำไมเราไม่ใช้ความได้เปรียบจากการไม่มีการระบาดในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ต่อยอดไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร็วและเศรษฐกิจไม่หดตัวมากอย่างที่ประเมินกัน

คำถามนี้เป็นคำถามที่ดี แต่คำตอบต้องบอกว่าซับซ้อนพอควร มีทั้งคำตอบแบบง่ายๆ และคำตอบที่เจาะลึกลงไปในปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีที่ทำให้ประเทศเคลื่อนตัวยากในการแก้ไขปัญหา รวมถึงหาประโยชน์จากสถานการณ์ที่ได้เปรียบ เช่น การไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ทำให้คนในประเทศเสียโอกาส

วันนี้จึงอยากตอบคำถามนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ และสิ่งที่สังคมต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหา

คำตอบแบบง่ายๆ ว่าทำไมเศรษฐกิจยังหดตัวรุนแรง แม้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศก็คือ ความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศ ที่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด แต่ที่ลึกกว่านั้นคือ

วิกฤติคราวนี้กระทบภาคต่างประเทศของเรามาก คือทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจะฟื้นก็ต้องมาจากการใช้จ่ายในประเทศอย่างเดียว หมายถึงการใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดก็คือการบริโภคของครัวเรือน 

แต่การบริโภคของครัวเรือนขณะนี้มีข้อจำกัดมากจากการชะลอตัวของรายได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับของหนี้ครัวเรือนที่สูงและความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มีมาก ปัจจัยท้ายสุดนี้ทำให้คนในประเทศจำนวนมากไม่มีเงินออมและอยู่ลำบากในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น

ความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี เห็นได้จากตัวเลขความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำได้แย่ลงจนคนที่เคยมีรายได้เหนือเส้นความยากจนเมื่อ 5 ปีก่อนปัจจุบันรายได้ลดลงต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้จำนวนคนยากจนในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ตัวเลขจากธนาคารโลกชี้ว่าอัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ปี 2558 เป็นร้อยละ 9.8 ปี 2561 สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ 

ล่าสุดอย่างที่ทราบ จำนวนประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐจากผลกระทบของวิกฤติโควิดนี้อาจมีมากถึง 40 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสูงมาก แสดงว่าคนรายได้น้อย หรือคนไม่มีรายได้ในประเทศเรานั้นมีจำนวนมาก คนส่วนใหญ่จึงไม่มีกำลังซื้อที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลัก ทำให้การใช้จ่ายจากภาครัฐและกำลังซื้อที่มาจากคนที่มีรายได้มีเงินออม จำเป็นต้องออกมาทดแทน

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกันคือ ถ้าประเทศเราคุมโควิดได้ดี ทำไมนักลงทุนต่างประเทศไม่ขนเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อหาประโยชน์จากภาวะแวดล้อมทางสาธารณสุขที่ปลอดภัย ตรงกันข้าม เราเห็นนักลงทุนต่างชาติปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน แม้แต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นในประเทศไทยมานาน

นี่เป็นอีกเรื่องที่ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนแอที่ประเทศเรามี ที่เราไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมายที่น่าลงทุนของประเทศอื่นอย่างแต่ก่อน ทำให้แม้เราจะควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่นักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะไปลงทุนที่อื่น หรือย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศอื่นแทน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก 3 เรื่องที่เราต้องเปิดใจยอมรับ

หนึ่ง ประเทศเราได้กลายเป็นประเทศที่มีต้นทุนสูงในการทำธุรกิจ ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานของเราได้เพิ่มขึ้นมากและไม่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเหมือนแต่ก่อน ขณะที่คุณภาพและทักษะของแรงงาน รวมถึงความรู้ภาษาอังกฤษ ทัศนคติและความมีวินัยก็อาจด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่สำคัญ ประเทศเรามีต้นทุนแอบแฝงในการทำธุรกิจในรูปของเงินใต้โต๊ะและการทุจริตคอร์รัปชันที่นักธุรกิจต้องเจอ ที่นับวันจะยิ่งรุนแรง 

เห็นได้จากรายงานความเห็นของนักลงทุนต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย (The Global Competitiveness Report 2017-18, WEF) ที่ชี้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นข้อจำกัดอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจในประเทศไทย ล่าสุด ในการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ คะแนนประเทศไทยก็ลดลงอีกในปี 2562 แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง คือได้คะแนน 36 จาก 100 เทียบกับ 37 คะแนนในปี 2561 ขณะที่อันดับประเทศก็เพิ่มเป็น 101 ของประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อย จากอันดับ 99 ปีก่อนหน้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีปัญหามากในการทำธุรกิจ

สอง การแข่งขันที่มีน้อยลง ก็เป็นอีกประเด็นที่นักลงทุนเป็นห่วง จากบทบาทที่มากขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ ที่มีอำนาจครองตลาดและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายของฝ่ายการเมือง จากความใกล้ชิดที่บริษัทเหล่านี้มีกับนักการเมือง รัฐบาล และระบบราชการของประเทศ ผลคือในสายตาต่างประเทศ ประเทศเรามีปัญหาสนามแข่งขันที่ไม่ตรงหรือเอียง (Unlevel Playing Field) ระหว่างบริษัทไทยขนาดเล็ก บริษัทต่างชาติ เทียบกับบริษัทไทยขนาดใหญ่ 

เห็นได้จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่จัดสรรโดยรัฐมักจะไม่มีบริษัทที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศในธุรกิจนั้นๆ เข้าแข่งขัน ผู้ได้สัมปทานจะเป็นบริษัทใหญ่ของประเทศกับบริษัทแนวร่วมต่างชาติที่จัดตั้งขึ้น ผลคืออำนาจทางเศรษฐกิจของบริษัทใหญ่นับวันจะมากขึ้น ผลวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2562 ชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ 5% แรกของประเทศมีสัดส่วนรายรับสะสมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมด มีส่วนแบ่งยอดขายมากถึง 46% และสัดส่วนกำไรกว่า 60% อำนาจทางธุรกิจแบบนี้ไม่จูงใจให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าแข่งขัน ขณะที่ผู้บริโภคเสียประโยชน์

สาม ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายและประสิทธิภาพของระบบราชการ ก็เป็นอีก 2 ข้อจำกัดที่นักลงทุนต่างประเทศพูดถึงในรายงานฉบับเดียวกัน คือนโยบายทางการไม่แน่นอน เปลี่ยนบ่อย ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของรัฐบาลในบ้านเราทุกสมัยจะเน้นการทำโครงการใหม่ๆ เพื่อสร้างคะแนนนิยมระยะสั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งหาประโยชน์จากงบประมาณ มากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ประเทศมี หรือทำในสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อผลของการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว 

วิธีการแบบนี้ทำให้การทำนโยบายไม่มีความต่อเนื่อง ขาดตอน เกิดความสูญเสีย ต่างกับประเทศที่มีแผนงานชัดเจน สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ โดยการแข่งขันที่เปิดกว้างต่อยอดไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน เพื่อนำพาการพัฒนาประเทศ

สามเรื่องนี้คือเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศเราไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างประเทศแม้สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของเราจะอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดาย ทำให้ประเทศต้องพึ่งการใช้จ่ายในประเทศจากการกู้เงินเป็นหลักเพื่อฟื้นเศรษฐกิจซึ่งแม้การฟื้นตัวกำลังเกิดขึ้น แต่ก็ช้า ไม่ทั่วถึงและเปราะบาง

สรุปคือ ถ้าเราจะมองเรื่องทั้งหมดอย่างมีเหตุมีผล คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นตอสำคัญที่ทำให้ประเทศเรามีปัญหามากจนเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นอย่างที่ควร โดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นมาจาก 2 เรื่องหลัก

หนึ่ง ปัญหาธรรมาภิบาล หรือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งในภาครัฐคือฝ่ายการเมือง ภาคราชการ และภาคเอกชน เมื่อคนในระดับนำของประเทศไม่พร้อมจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศจึงมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ หรือการบังคับใช้กฎหมาย

สอง ระบบการเมืองของประเทศไม่ทำงานสนองตอบปัญหาที่ประเทศมี เนื่องจากคนที่เข้ามามีอำนาจและมีหน้าที่ทางการเมืองไม่สามารถประนีประนอม (compromise) และหาจุดร่วมกันได้เพื่อนำพาประเทศให้ดีขึ้น เมื่อทำไม่ได้ ผลก็คือความแตกแยกและระบบการเมืองที่ยืนห่างจากปัญหาของประเทศ

ถ้าประเทศมีธรรมาภิบาล มีระบบการเมืองที่รับผิดชอบ คนในประเทศก็จะใช้ความรู้ความสามารถสร้างชีวิต สร้างนวัตกรรม สร้างการผลิตภายใต้กลไกการแข่งขัน นำประเทศไปสู่การพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น แต่เมื่อเราไม่มีทั้งธรรมาภิบาลและการเมืองที่รับผิดชอบ สิ่งที่เราได้ก็คือบ้านเมืองที่อนาคตดูยาก เพราะคนแย่งกันล็อบบี้การเมืองเพื่อหาประโยชน์ ใช้อิทธิพลการเมืองและเส้นสายระบบราชการสร้างระบบค่าเช่าเพื่อหาประโยชน์ นี่คือความสำคัญของธรรมาภิบาล