'สุพัฒนพงษ์' ตั้งเป้าไทยขึ้นท็อปเท็นอันดับ Ease of doing business ปี 65

'สุพัฒนพงษ์' ตั้งเป้าไทยขึ้นท็อปเท็นอันดับ Ease of doing business ปี 65

“สุพัฒนพงษ์” ตั้งเป้าไทยขึ้นท็อปเท็นจัดอันดับความยากง่ายธุรกิจปี 65 ชี้คะแนนห่างไม่มาก ป.ป.ย.เล็งหั่นกฎหมายล้าสมัย 85% ในปี 64 กกร.ดันแพลตฟอร์มส่งออก-นำเข้า เชื่อมระบบ NSW ทุกระบบ ประหยัดต้นทุนเอกชนปีละ 5 พันล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษในงานการพัฒนาการให้บริการภาครัฐเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) วานนี้ (30 พ.ย.) 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจผลักดันและปรับปรุงการทำงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศตามการประเมินความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Ease of doing business ของธนาคารโลก โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอันดับของไทยขยับดีขึ้นจากอันดับที่ 49 มาอยู่ที่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลกทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลมีการตั้งเป้าว่าจะให้ประเทศไทยขยับอันดับ Ease of doing business อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกโดยเร็วๆที่สุดภายใน 2 ปีหรือประมาณในปี 2565 

ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านโดยเฉพาะเรื่องโครงาสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าหลายเส้นทางในกรุงเทพมหานคร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ในปี 2564 จะมีการเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีการประมูลได้เอกชนในการก่อสร้างไปแล้วหลายโครงการ 

รวมทั้งเมื่อรวมกับความพร้อมที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในไทยมีกว่า 22 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือDJSI ที่บริษัทเหล่านี้พร้อมจะจับคู่เป็นพาร์ทเนอร์การลงทุนกับบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน โดยทั้งหมดที่มีการเตรียมความพร้อมจะหนุนเสริมให้ประเทศไทยมีการลงทุนจากภายนอกและเป็นศูนย์กลางการตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยในอนาคต 

“การขึ้นสู่ท็อปเท็นของโลกในการยากง่ายในการทำธุรกิจจะเร่งให้เร็วที่สุด และมั่นใจว่าทำได้เพราะตอนนี้คะแนนของไทยอยู่ที่ 80.1 คะแนนสูงสุดในรอบ 10 ปีและมีคะแนนห่างจากกลุ่มท็อปเท็นเพียง 3 คะแนนเท่านั้น มั่นใจว่าทำได้แน่นอน”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว  

นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.กล่าวว่า จากข้อเสนอ 10 for 10 ที่มีการเสนอจากเอกอัครราชทูตต่างประเทศให้กับรัฐบาลไทยปรับปรุงในด้านต่างๆ เพื่อให้ไทยขึ้นสู่ 1 ใน 10 ประเทศน่าทำธุรกิจของโลก พบว่าบางข้อได้มีการดำเนินการไปแล้วแต่บางข้อที่ยังดำเนินการไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคในการที่ยังทำให้คะแนนในตัวชี้วัดเรื่องการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยยังเพิ่มขึ้นได้น้อยในบางตัวชี้วัดเนื่องจากยังติดขัดในเรื่องของกฎหมาย 

รวมทั้งการนำเอาสิ่งที่มีการแก้ไขไปสู่การปฏิบัติซึ่งส่วนนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีได้วิเคราะห์พบว่ามีกฎหมาย และขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกอยู่ 1,094 กระบวนการซึ่ง ป.ย.ป.ตั้งเป้าว่าจะทำการตัดและปรับปรุงกฎหมายตามขั้นตอนที่เรียกว่า regulatory guillotine ให้แล้วเสร็จ 85% ภายในปี 2564  

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจที่จะเร่งดำเนินการเช่นกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาต และต่อใบอนุญาตโรงแรมที่เป็นอุปสรรคจะปรับปรุงให้ดีและรวดเร็วขึ้น อีกส่วนคือการเร่งทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซและอีเซอร์วิสทั้งหมดจะทำให้มีความทันสมัยและสามารถเข้าถึงในระบบดิจิทัลทั้งหมด 

นายณัฐพล เดชทวิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และการเชื่อมโยงธุรกิจ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลโดยอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Trade Platform : NDTP) 

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมระบบการส่งออกและนำเข้าเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยหากทำได้สำเร็จจะทำให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในโลกและในเอเชียที่ทำได้

ทั้งนี้ระบบนี้จะเชื่อมโยงกับระบบ National Single Windows (NSW)  ทั้ง 37 หน่วยงาน คาดว่าจะเริ่มทดลองในระยะแรกได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 และสามารถใช้งานได้เต็มระบบประมาณช่วยปลายปี 2564 ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยดีขึ้นยังช่วยลดต้นทุนธุรกิจเบื้องต้นจากการลดจำนวนแรงงานและการส่งเอกสารนำเข้าส่งออกที่ท่าเรือประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี