‘หอมนาคา’ ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ หอมนุ่ม ผลผลิตสูง

‘หอมนาคา’ ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ หอมนุ่ม ผลผลิตสูง

จากห้องแล็บสู่แปลงนา นักวิจัย “ไบโอเทค” พัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ “หอมนาคา” ทั้งอร่อยและแข็งแรงสู้โรคข้าว

เมื่อเอ่ยถึง “ข้าวเหนียว” หลายคนต่างยกนิ้วให้กับ “ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6” พันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะโดดเด่นเรื่องความอ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอม หากแต่ว่ายังมีปัญหาต้นล้มง่าย และอ่อนแอต่อโรค ทว่าน่ายินดีที่ตอนนี้ นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ "หอมนาคา" ที่ดีต่อใจทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร เพราะนอกจากจะรสชาติดี มีกลิ่นหอมและนุ่มเหนียวเมื่อหุงสุกไม่แพ้กันแล้ว ยังต้านทานต่อโรคข้าวและภัยธรรมชาติ ล่าสุดขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เพื่อทดลองปลูกและพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว

  • “หอมนาคา” ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบก

ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิมที่ผ่านมา คือ “ข้าวล้ม” เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหน “แล้ง” ขาดน้ำ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ “โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง” ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ ศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะผู้วิจัย พัฒนาข้าวเหนียวสายพันธุ์ “หอมนาคา” ข้าวสะเทินน้ำสะเทินบกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย โดย “ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา” เกิดจากการผสมระหว่างข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว และใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ จนได้ข้าวเหนียวที่มีคุณสมบัติเด่น คือ กอตั้ง ลำต้นมีความแข็งแรง ขนาดต้นสูงปานกลาง ไม่หักล้มง่าย ใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวได้สะดวกรวดเร็ว ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“สมญานามสะเทินน้ำสะเทินบกของหอมนาคา มาจากจุดเด่นของข้าวเหนียวพันธุ์นี้ที่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน โดยข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถจมอยู่ในน้ำได้นาน 1– 2 สัปดาห์ และทนต่อความแห้งแล้งเมื่อฝนไปตามลักษณะของพื้นที่ริมน้ำโขง ซึ่งเมื่อผ่านทั้งสองสถานการณ์นี้แล้วข้าวยังคงออกรวงได้ดีดังเดิม อีกทั้งยังต้านทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง

ที่สำคัญหอมนาคายังเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ตลอดปี (ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง) มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130–140 วัน และให้ผลผลิตสูง โดยผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800–900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700–800 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ทาง ไบโอเทค สวทช. ได้ยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว”

160671179828

160671179962

  • “หอมนาคา” จากห้องแล็บสู่แปลงนา

ปัจจุบัน ไบโอเทค” สวทช. ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” ที่พัฒนาขึ้นไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร พื้นที่ จ.ลำปาง จ.พะเยา และ จ.เชียงราย ซึ่งข้าวที่ปลูกล้วนออกรวงงาม ให้ผลผลิตสูง

ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา มูลนิธิรวมใจพัฒนา กล่าวว่า ในปี 2562 มีการนำข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ จ.ลำปาง จ.พะเยา และ จ.เชียงราย รวมพื้นที่ประมาณ 95 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 807 กิโลกรัมต่อไร่ และล่าสุดในปี 2563 ได้มีการขยายผลการปลูกทดสอบร่วมกับสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด โดยจัดส่ง “เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคา” ให้ทางสหกรณ์ฯ จำนวน 400 กิโลกรัม ปลูกได้จำนวน 58 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกจำนวน 6 คน โดยบางแปลงได้ผลผลิตสูงถึง 1 ตันต่อไร่

“ในการปลูกทดสอบยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ‘วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐานและตรงตามพันธุ์’ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต และกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมนาคาในอนาคต”

  • เตรียมขาย “ข้าวสาร-เมล็ดพันธุ์”

สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด คือหนึ่งในผู้รับถ่ายทอดนำ “เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคา” ไปปลูกในพื้นที่ 8 ไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ร่วมนำไปปลูกด้วย รวมพื้นที่ 50 ไร่ โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกคาดว่าจะได้เป็นเมล็ดพันธ์ุข้าวคุณภาพดี 10-15 ตัน เพื่อปลูกในฤดูถัดไป และข้าวเปลือก 20-25 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันอยู่นานแล้ว

ธีรภัทร์ คำสม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด กล่าวว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 มีข้อเสียคือ มีความไวต่อแสง ลำต้นสูงหักล้มง่าย และปลูกได้เพียงครั้งเดียวต่อปีเท่านั้น ขณะที่ข้าวเหนียวหอมนาคามีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย แข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ลดค่าแรงคนในการเก็บเกี่ยว และปลูกได้ 2 ครั้งต่อปี ทนต่อโรคได้ดี ที่สำคัญจากการทดลองนำข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคาที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงทดลองมาลองหุงกิน ยืนยันได้ถึงคุณภาพของข้าว เพราะหุงสุกแล้วมีความนุ่มหอมไม่ต่างจากพันธุ์ กข6 ที่มีจุดเด่นเรื่องความหอมและนุ่มนาน

“ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจสอบถามถึงพันธุ์ข้าวหอมนาคาจำนวนมาก สหกรณ์ฯ เตรียมวางแผนขยายผล โดยจะถ่ายทอดให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดการผลิตจากทีมวิจัย สวทช. และเครือข่าย เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูก เมื่อได้ผลผลิตแล้ว มีแผนวางจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจำนวนหนึ่งสามารถนำข้าวมาสีที่โรงสีของสหกรณ์ฯ เพื่อจำหน่ายได้เลย โดยในเบื้องต้นวางจำหน่ายข้าวเปลือกราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม และข้าวสาร 35 บาทต่อกิโลกรัม”

160671179891

160671180640

  • เดินหน้า “ปรับปรุงพันธุ์ข้าว” อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา “ไบโอเทค” สวทช. มุ่งมั่นใช้ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์แนวอณูวิธี (molecular breeding) กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะ ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทควิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาตลอด 37 ปี ปัจจุบันสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลดระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหลือ 3-5 ปี จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี ดังเช่น ข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ใช้ระยะเวลาการพัฒนาพันธุ์เพียง 5 ปี เท่านั้น

“ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ปรับปรุงพันธุ์ข้าวประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย อาทิ ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ข้าวน่าน59 และ กข18 ต้านทานโรคไหม้ โดยได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกเพื่อความมั่นคงในการบริโภคข้าวเหนียวของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษจากการใช้สารเคมีปราบโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรในภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากนั้น ยังได้เผยแพร่เมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรทั้งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีความเสี่ยงน้อยลงและเพิ่มรายได้”

อย่างไรก็ดี “ไบโอเทค” สวทช. ยังคงมุ่งมั่นใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดการแปรรูปข้าวสู่สารมูลค่าสูง เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่พื้นที่ และเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในอนาคต

สำหรับผู้สนใจ ‘ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา’ สามารถติดต่อได้ที่ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด โทร.0 5426 9062 - 3