ปชป.เตือนม็อบ อย่าคุกคาม-กดดัน ศาล รธน.

ปชป.เตือนม็อบ อย่าคุกคาม-กดดัน ศาล รธน.

"ราเมศ" เตือนม็อบนัดชุมนุม 2 ธ.ค. อย่าซ้ำรอยปี 52-53 ข่มขู่-คุกคาม-กดดันศาลรัฐธรรมนูญ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 .. ซึ่งเป็นวันที่จะมีการอ่านคําวินิจฉัยคดีที่มีการร้อง นายกรัฐมนตรีว่า ควรให้เกียรติอำนาจตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยที่มีผู้ร้องคดีไปยังศาล มีขั้นตอนวิธีพิจารณาที่ตรงไปตรงมาตรวจสอบได้ ทั้งคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลาง ส่วนคดีของนายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน เมื่อมีการร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ที่จะพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง และเป็นดุลพินิจของศาล เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าผลคดีจะมีคำวินิจฉัยออกมาในทิศทางใด ผู้ชุมนุมควรรอฟังคำวินิจฉัย

นายราเมศ กล่าวว่า ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ควรไปชุมนุมเพื่อข่มขู่ คุกคาม กดดัน การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ชุมนุมอ้างเป็นประจำว่าต้องการเปลี่ยน ต้องการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ในประเทศให้ดีขึ้น แต่การนัดไปชุมนุมที่ศาลรัฐธรรมนูชี้ให้เห็นได้ว่า เป็นความคิดๆที่ไม่มีพัฒนาการไปในเชิงสร้างสรรค์ ตัวอย่างมีให้เห็น การชุมนุม ปี 2552-2553 มีการไปชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นประกาศชื่อที่อยู่ของครอบครัวตุลาการ ข่มขู่ คุกคาม กดดัน ทุกรูปแบบ จนติดคุกกันไปหลายคน

"เหตุการณ์นั้นผ่านมาเป็น 10 ปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดของกลุ่มที่อ้างตัวเองว่าต้องการปฏิรูป กลับย้อนไปทำในสิ่งที่ไม่ดีแบบนั้น แกนนำซึ่งจะเรียกว่าแกนนำอาจจะอ้างว่าไม่ใช่ เพราะบางคนเป็นแกนแอบ แอบอยู่ข้างหลังผู้ชุมนุม บางคนเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายก็ยังให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำแบบนี้"นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ขอเรียกร้อง ให้แกนนำ แกนแอบและผู้ชุมนุม ไม่ควรเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ ข่มขู่ คุกคามกดดัน การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการอ้างว่าเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ ท้ายที่สุดอยากให้ตั้งใจฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันด้วยเหตุด้วยผล อย่าใช้อารมณ์ ความสะใจมาปิดกั้นเหตุและผล และไม่อยากเห็นผู้ชุมนุมเดินตามรอยทางที่รุ่นพี่ๆ เคยเดิน