‘เงินบาท’ เปิดตลาดวันนี้ ‘อ่อนค่า’ที่30.31 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ เปิดตลาดวันนี้ ‘อ่อนค่า’ที่30.31 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆในสัปดาห์นี้ต้องจับตาการปรับสถานะของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี อย่างไรก็ตามสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพื่อรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า  เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 30.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 30.20-30.40 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์

ฝั่งเงินบาท หลังจากแข่งค่าเร็วในช่วงต้นเดือนก็ทรงตัวมาตลอดเช่นเดียวกันกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ สัปดาห์นี้ต้องจับตาการปรับสถานะของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี แม้มุมมองหลักยังคงเห็นว่าสินทรัพย์ทางการเงินในฝั่งเอเชียมีความน่าสนใจเพราะมีกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไปจนถึงช่วงไตรมาสที่หนึ่งปีหน้า แต่ถ้าตลาดเริ่มระวังตัวว่าเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกจะยังไม่ฟื้นตัวดี ก็อาจเกิดแรงขายทำกำไรในเอเชียด้วยเช่นกัน

ในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพื่อรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐ โดยในวันอังคารจะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) คาดว่าจะปรับตัวลงมาที่ระดับ57.0จุด จากเดิม 59.3จุด เนื่องจากการลงทุนชะลอตัวลง แต่โดยรวมถือว่าฟื้นตัวได้ดีจากยอดสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ต่อด้วยในวันพุธ รายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) คาดว่าจะฟื้นตัวที่ระดับ 4.2 แสนตำแหน่ง และในวันพฤหัส คาดตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) จะลดลงมาที่ระดับ 7.65 แสนตำแหน่ง

วันศุกร์ คาดว่าเงินเฟ้อไทย (Thailand CPI) จะรายงานหดตัว 0.4% จากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่ขยายตัวต่ำเพียง0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไฮไลท์อยู่ที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (US Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์ คาดว่าจะขยายตัว 5.0 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานปรับตัวมาที่ 6.8% อย่างไรก็ดีตัวเลขในตลาดแรงงานดังกล่าวชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐพื้นตัวช้าลงกว่าในช่วงไตรมาสที่สามมาก

ส่วนในตลาดเงิน ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนล่าสุดแต่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2018 ในสัปดาห์นี้ มีความเสี่ยงจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ชะลอลงหลังการระบาดของไวรัสมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงต้องระวังว่าถ้าช่วงปลายปีไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงลงซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์พลิกแข็งค่ากลับได้ มองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.0-93.0จุด ระดับปัจจุบัน 91.8 จุด