เปิดลิสต์‘พรีออเดอร์’วัคซีนโควิด-19

เปิดลิสต์‘พรีออเดอร์’วัคซีนโควิด-19

บริษัทยาทยอยเผยผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 เฟส 3 ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศที่สั่งจองไว้ล่วงหน้า พบ 4 ประเทศจองวัคซีนเกินจำนวนประชากร

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทยาชื่อดังระดับโลก 3 บริษัทที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ต่างมีข่าวดีเรื่องผลการทดลองทางคลินิกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐที่เป็นพันธมิตรกับไบออนเทค บริษัทไบโอเทคโนโลยีจากเยอรมนี รายที่ 2 คือ โมเดอร์นา บริษัทยาสหรัฐอีกราย และรายที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาอังกฤษ-สวีเดนที่จับมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผลการทดลองวัคซีนเบื้องต้นน่าพอใจ ปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อได้ 70-95%

ไฟเซอร์และไบออนเทคยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนโมเดอร์นาและแอสตร้าเซนเนก้าวางแผนยื่นขออนุมัติเร็วๆ นี้

นับเป็นข่าวดีว่าวัคซีนจะยุติการแพร่ระบาดของโรคร้ายได้เสียที โดยเฉพาะประเทศที่พรีออเดอร์วัคซีนไปหลายล้านโดสแล้ว

เว็บไซต์ weforum.org รายงานอ้างข้อมูลศูนย์นวัตกรรมสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยดุคในสหรัฐ ระบุ หลายประเทศและสหภาพยุโรป (อียู) สั่งวัคซีนจากทั้ง 3 บริษัทไปแล้ว 2.8 พันล้านโดส ไม่เพียงเท่านั้นหลายประเทศยังพรีออเดอร์วัคซีนจากบริษัทอื่นด้วย แต่ยังไม่ทดลองทางคลินิกเฟส 3

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องฉีด 2 โดส เมื่อพิจารณาจำนวนวัคซีนที่นานาประเทศสั่งไปแล้วหากหน่วยงานกำกับดูแลไฟเขียวให้ใช้วัคซีนจาก 3 บริษัท หมายความว่า 4 ประเทศอันประกอบด้วย แคนาดา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ สามารถฉีดวัคซีนได้กว่า 100% ของประชากรทั้งหมด

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ อียูพรีออเดอร์วัคซีนโควิด-19 จำนวน 700 ล้านโดสจากไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ปริมาณรวมเท่ากับสหรัฐ แต่สหรัฐสั่งจากทั้ง 3 บริษัท อินเดียสั่ง 500 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้าบริษัทเดียว ญี่ปุ่นสั่งจากทั้ง 3 บริษัทรวม 290 ล้านโดส สหราชอาณาจักรสั่งจากทั้ง 3 บริษัทรวม 145 ล้านโดส

ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีประชากรมากอย่างอินโดนีเซียและบราซิล สั่งจากแอสตร้าเซนเนก้าที่เดียว ประเทศละ 100 ล้านโดส แคนาดาสั่งจากทั้ง 3 บริษัท จำนวน 96 ล้านโดส

หากพิจารณาอัตราความครอบคลุมประชากรจากวัคซีนที่สั่งจอง แคนาดาครอบคลุมมากที่สุด 127.7% ญี่ปุ่น 114.6% สหราชอาณาจักร 108.7% สหรัฐ 106.6% ออสเตรเลีย 87.6% อียู 78.2% ในเอเชีย อินโดนีเซียสั่งจองวัคซีนครอบคลุมประชากร 18.7% ใกล้เคียงกับอินเดียที่ 18.5%

  • พรีออเดอร์เร่งการพัฒนา

มหาวิทยาลัยดุครายงานด้วยว่า การเร่งสั่งวัคซีนล่วงหน้าช่วยหนุนให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งเหล่านี้อนุญาตให้บริษัทพัฒนาวัคซีนไม่ต้องรับความเสี่ยงทางการเงินในการทดลองทางคลินิกที่ไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ ในเวลาปกติการพัฒนาวัคซีนใช้เวลานับสิบปี เพราะบริษัทจะทำการทดลองทางคลินิกได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลมากพอมั่นใจได้ว่า ทดลองแล้วจะประสบความสำเร็จ

  • หวั่นสร้างความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าการที่นานาประเทศเร่งจองวัคซีนได้สร้างความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนด้วย กล่าวคือ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงหรือประเทศรายได้สูง 5 ประเทศ และอียูมีโอกาสฉีดวัคซีนได้มากกว่าประชากรของตน เมื่อคำนวณจากตัวแบบทางคณิตศาสตร์พบว่า หากประเทศมั่งคั่งซื้อวัคซีนชุดแรกไปหมด โควิด-19จะคร่าชีวิตประชาชนมากกว่าการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้พันธมิตรวัคซีน “เกวี” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรใหญ่ระดับนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก และมูลนิธิเกตส์ ได้ทำโครงการเข้าถึงวัคซีนโลก (โคแวกซ์) มุ่งหมายช่วยกระจายวัคซีนไปทั่วโลก ถึงขณะนี้ได้รับบริจาคจากประเทศ บุคคล และองค์กรการกุศลแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ แต่ยังต้องการอีก 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วโลก

โคแวกซ์พรีออเดอร์วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 300 ล้านโดส จากซาโนฟีและแกล็กโซสมิธไคลน์ (ที่ยังทดลองทางคลินิกในขั้นต้น) 200 ล้านโดส แต่ยังไม่พอสำหรับประชาชนใน 92 ประเทศที่ต้องการให้โครงการช่วยซื้อวัคซีนให้

  • สิงคโปร์ไม่พึ่งวัคซีนเดียว

ส่วนเพื่อนบ้านไทยอย่างสิงคโปร์มองว่า ขณะที่วัคซีน 3 ตัวกำลังยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินไปทั่วโลก แถมอีกหลายบริษัทกำลังทดลองทางคลินิก และสิงคโปร์ก็มีวัคซีนทางเลือกพัฒนาเอง จึงไม่ควรฝากความหวังทั้งหมดไว้กับวัคซีนเพียงตัวเดียว

เว็บไซต์สเตรทส์ไทม์สรายงาน นายอี เอ็งยง รองผู้อำนวยการโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เอ็นยูเอส-ดุค กล่าวว่า สิงคโปร์ควรใช้วัคซีนตัวใดก็ได้ที่พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยมีประสิทธิภาพ โดยเร็วที่สุดเพื่อปกป้องประชากรให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

  • มาเลเซียซื้อไฟเซอร์

ด้านมาเลเซียเห็นชอบซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 12.8 ล้านโดสจากไฟเซอร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หลายประเทศไม่กล้าเสี่ยงเพราะแถบนี้เป็นประเทศป่าฝนเขตร้อน มีหมู่เกาะห่างไกล และขาดแคลนตู้แช่เย็นจัด

นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน แถลงเมื่อวันศุกร์ (27 พ.ย.) ว่า มาเลเซียให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน ได้แก่ เจ้าหน้าที่แถวหน้า คนสูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ

ไฟเซอร์จะส่งมอบวัคซีน 1 ล้านโดสแรกให้มาเลเซียในไตรมาสแรกของปี 2564 แล้วในไตรมาสถัดมาจะส่งมอบอีก 1.7 ล้านโดส 5.8 ล้านโดส และ 4.3 ล้านโดสตามลำดับ

  • วัคซีนตัวไหนดีที่สุด

ขณะนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่า วัคซีนตัวใดดีที่สุด ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิผลการป้องกันโรคจากการทดลองทางคลินิกเพียงอย่างเดียว ราคาและการขนส่งเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย นับจนถึงขณะนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแพงน้อยที่สุด โดสละ 3 ดอลลาร์ ทั้งยังมีข้อได้เปรียบเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บ วัคซีนของไฟเซอร์ต้องเก็บในที่เย็นจัดถึง -70 องศาเซลเซียส ของโมเดอร์นาเก็บที่ -20 องศาเซลเซียส ตรงข้ามกับแอสตร้าเซนเนก้าที่เก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา

  • คำถามคาใจ

คำถามใหญ่สุดสำหรับวัคซีนทุกตัวคือคุ้มกันได้ยาวนานแค่ไหน รายงานผลวัคซีนทุกตัวระบุว่า แค่ 2-3 สัปดาห์หลังฉีดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า การฉีดวัคซีนจะได้ผลในกรณีไวรัสกลายพันธุ์หรือไม่ และวัคซีนใช้ได้ผลกับประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุหรือไม่

  • ประชาชนไม่ไว้ใจ

ไม่ว่าวัคซีนใดจะถูกแจกจ่ายออกไปเป็นตัวแรก คำถามสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่คือยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสาร The Royal Society Open Science เมื่อเดือนก่อนพบว่า ประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเรื่องต้นกำเนิดวัคซีนหรือเรื่องไวรัส ตัวอย่างเช่นในเม็กซิโก ผู้ให้ข้อมูลกว่า 1 ใน 5 เชื่อว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งของแผนกำหนดฉีดวัคซีนทั่วโลก

ผลการศึกษาใน 15 ประเทศโดยเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมตีพิมพ์เมื่อหลายวันก่อน พบว่า จำนวนประชาชนที่ยินดีฉีดวัคซีนลดลงตั้งแต่เดือน ส.ค. จาก 77% มาอยู่ที่ 73%