สิ่งต้องรู้เมื่อจะ“ฝากไข่” ควรเก็บก่อน 35 ปีใช้ก่อน 40ปี

สิ่งต้องรู้เมื่อจะ“ฝากไข่” ควรเก็บก่อน 35 ปีใช้ก่อน 40ปี

“การฝากไข่”เป็นที่สนใจของสาวรุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้ไม่พร้อมที่จะมีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์คุณภาพ คือ ไม่เกิน 35 ปี

 แต่ก็ไม่อยากที่จะเสียโอกาสของการมีบุตรในวันข้างหน้า จึงมีความต้องการที่จะเก็บไข่ฝากไว้ ทว่า ก่อนดำเนินการควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งเชิงวิชาการและข้อกฎหมาย ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำ

ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ฝากไข่ จะทำใน 2 กรณีใหญ่ที่มีข้อบ่งชี้ ได้แก่ 1.คนไข้ที่จำเป็นต้องดำเนินการเก็บรักษาความสามารถในการมีบุตรไว้ เนื่องจากต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาหรือใช้สารเคมีที่อาจจะได้รับอันตรายต่อเซลล์ของไข่ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง กำลังจะได้รับเคโมในการรักษา หรือคนไข้อาจจะไม่สบายในโรคต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาโดยใช้สารเคมีที่รุนแรง เช่น รังสีรักษา เป็นต้น อาจจะมีการเก็บเซลล์ไข่เอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า

160663386945

และ2.คนที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ยังไม่สะดวกที่จะมีการตั้งครรภ์ในช่วงนี้ เช่น ผู้ที่ต้องไปทำงานต่างประเทศ นักศึกษาปริญญาเอกที่ต้องเรียนนานๆจนอายุมากขึ้น หรืออื่นๆ ก็อาจจะขอเก็บ ฝากไข่ไว้ก่อน จนเมื่อจบการศึกษา กลับจากต่างประเทศ หรือมีความพร้อม จึงมานำไข่ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าอายุคนเรา หลังจาก 35 ปีจะมีปัญหา 2 ประการ คือจำนวนและคุณภาพของฟองไข่จะลดลง มีโอกาสตั้งครรภ์ที่เด็กจะผิดปกติมากขึ้น

“เจตนาของการฝากไข่เพี่อทำให้เกิดเป็นตัวเด็ก ให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะฉะนั้นตัวเด็กก็จะต้องเป็นเด็กที่มีคุณภาพ ซึ่งควรจะเกิดจากไข่ที่มีคุณภาพ ข้อแนะนำโดยทั่วไปจึงอยากให้ทำการฝากไข่ก่อนอายุ 35 ปี แต่อายุมากกว่า 35 ปีหากจะฝากก็ไม่ถึงกับผิดแต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จหรือนำเอาตัวอ่อนไปใช้ได้ภายหลังจะน้อยลงไปตามเหตุผลธรรมชาติ”ศ.นพ.กำธรกล่าว

"กฎหมายยังไม่อนุญาตถ้าเป็นการเลือกเพศจากสาเหตุที่เป็นความประสงค์เพียงอย่างเดียว”

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บฝากไข่ไว้นั้น ศ.นพ.กำธร บอกว่า ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าฟองไข่เก็บได้นานเท่าไหร่ ยังไม่มีการสรุปไว้ แต่โดยทั่วไปแนะนำให้เก็บไม่เกิน 5 ปี เมื่อเก็บไข่ไว้แล้วต้องการนำมาใช้ จะต้องทำเป็นเด็กหลอดแก้ว โดยเอาอสุจิสามีมาผสมเป็นตัวอ่อนก่อน หลังจากนั้นเอาตัวอ่อนคืนกลับให้คุณผู้หญิง ยกตัวอย่าง กรณีคนไข้ที่เป็นมะเร็งหรือต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสง เมื่อเก็บไข่แล้วก็ไปรักษาโรคมะเร็งอาจจะใช้เวลา 2-3 ปีจนหายและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเคโมอีกแล้ว ต้องการตั้งครรภ์ก็สามารถเอาไข่ของตัวเองไปผสมกับอสุจิสามีที่อาจจะแต่งงานภายหลังให้เป็นตัวอ่อนและคืนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ ซึ่งถ้าไม่ฝากไข่ไว้ก่อน หากได้เคโมหรือรังสีจะทำให้ไข่เสียหาย ไม่สามารถใช้การได้อีก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฝากไข่ไว้ แต่ปัจจัยของการตั้งครรภ์นั้น หากเป็นกรณีการฝากไข่ที่เป็นโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรง จะมีปัญหาสุขภาพของตัวคุณแม่มาประกอบด้วยว่า จะแข็งแรงพอที่จะใส่ตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรงนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ส่วนกรณีการฝากไข่เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย จะไม่ค่อยมีข้อจำกัด หากสุขภาพแข็งแรงก็สามารถดำเนินการได้ ทว่า หากจะนำไข่มาใช้ในช่วงอายุที่มาก เช่น 40 ปีขึ้นไป โดยปกติเมื่อเทียบกับคนตั้งครรภ์ที่อายุน้อย คนที่มีอายุมากจะมีปัญหา เช่น เบาหวานในสตรีตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง หรืออาจจะมีการตกเลือดหลังคลอดเพิ่มขึ้น จะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงได้ จึงเป็นการตั้งครรภ์ที่อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อฝากไข่ไว้ก่อนอายุ 35 ปีแล้วอายุที่เหมาะสมในการนำไข่กลับมาสู่การตั้งครรภ์ควรเป็นเท่าไหร่ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ถ้าฝากไข่ไว้อายุก่อน 35ปี แล้วเก็บไว้ราว 5 ปี ก็จะอยู่ที่อายุเกือบ 40 ปี ก็เป็นช่วงที่ยังได้อยู่ ส่วนที่เก็บไว้แล้วไปใช่ตอนอายุมากกว่า 40 ปีหรือ 50 ปี ไม่เหมาะสมและไม่ค่อยมีการทำเช่นนั้น

160663356277

ประเด็นเรื่องของการเลือกเพศและเลือกลูกแฝด ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า การเลือกเพศหมายความว่าเอาอสุจิผสมเป็นตัวอ่อน แล้วเอาตัวอ่อนไปปัดเพื่อเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยทฤษฎีหรือโดยวิทยาศาสตร์ทำได้ แต่ในแง่ของกฎหมายและความเหมาะสมอาจจะไม่ค่อยดี เพราะมีการทำลายตัวอ่อนอยู่เหมือนกัน ซึ่งกฎหมายยังไม่อนุญาตถ้าเป็นการเลือกเพศจากสาเหตุที่เป็นความประสงค์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่สาเหตุจากความจำเป็นทางการแพทย์ การเลือกแฝด ไม่อยากใช้คำนี้ แต่เป็นการที่จะใส่ตัวอ่อนเผื่อไว้ อย่างเช่น เวลาทำเด็กหลอดแก้ว อาจจะมีการใส่ตัวอ่อนเผื่อให้อีกคน แล้วบังเอิญติดทั้งคู่ก็จะเป็นแฝด ซึ่งหลักทางวิชาการมักจะมีการใส่เผื่อไว้ แต่ปัจจุบันในยุโรปตอนเหนือปรากฎว่าจะไม่ใส่ 2 ตัวอ่อนจะใส่เพียง 1 ตัวอ่อนเป็นหลัก ด้วยเหตุผลเพราะคิดว่าการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยควรเป็นการตั้งครรภ์ทีละคน

“ปัจจุบันในสังคมไทยมีการพูดถึงการฝากไข่เพิ่มมากขึ้น แต่อยากบอกว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย คำว่าฝากไข่กรณีที่มีเหตุผล เช่น จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคต่างๆกรณีนี้มีประโยชน์มาก ส่วนกรณีทางสังคมต้องดูเอาว่าจริงๆเราจำเป็นหรือไม่ เพราะการฝากไข่มีค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งด้วย จะต้องเจ็บตัวมาฉีดยา เป็นสาเหตุที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม หลายครั้งคุณผู้หญิงมักคิดถึงเรื่องงานหรืออื่นมาก่อนตัวเอง จนลืมไปว่าตัวเรายังอายุเท่าเดิมตลอดกาล ทั้งที่มีงานวิจัยมากมายบอกว่าสุภาพสตรีหลังจากอายุ 35 ปีไปแล้ว หน้าที่การทำงานของรังไข่ย่อมจะน้อยลง และการฝากไข่ควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต”ศ.นพ.กำธรแนะนำ