ตั้ง ‘คณะทำงาน’ แก้สำรองไฟฟ้าล้นระบบช่วงปี64-68 ลดภาระผู้ใช้ไฟ

ตั้ง ‘คณะทำงาน’ แก้สำรองไฟฟ้าล้นระบบช่วงปี64-68 ลดภาระผู้ใช้ไฟ

“พลังงาน” เตรียมตั้งคณะทำงานฯ แก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserved Margin) ล้นระบบ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า หวังลดภาระผู้ใช้ไฟ หลังพบตั้งแต่ปี64 โรงไฟฟ้าใหม่ทยอยเข้าระบบต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserved Margin) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 50% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ จากระดับที่เหมาะสมความควรอยู่ที่ประมาณ 15-17%

โดยเตรียมแต่งตั้ง “คณะทำงานฯ” เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานฯ จะประกอบด้วยตัวแทนทั้งจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้คำสั่ง ของ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เตรียมจะจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า(Load forecast) เพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP 2022

“ตามแผน PDP 2018 ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงไปถึงปี 2568 จากนั้นจะเริ่มลดลง ดังนั้นในช่วงเร่งด่วยปี 2564-2568 จะต้องเร่งแก้ไข ซึ่งจะพิจารณาในทุกแนวทาง ทั้งการผันไฟฟ้าไปส่งขายเพื่อนบ้าน การปลอดโรงไฟฟ้าเก่า ประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบเร็วขึ้น หรือการเจรจาเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้า(COD)ออกไปก่อน ก็ต้องดูว่าวิธีไหนเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด”

160646340763

ทั้งนี้ จากข้อมูลในการนำเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี 2563 อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์

สวนทางกับโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเข้าระบบปี 2563 อยู่ที่ 51,943 เมกะวัตต์  ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์ ขณะที่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการเติบโตของไทยเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง กว่า 4,000 เมกะวัตต์

ฉะนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นสมมติฐานในการจัดทำแผน PDP ดังก่าวจริงเกิดความคลาดเคลื่อน และส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่เดิมสูงอยู่ปรับเพิ่มขึ้นไปอีก

160646341978

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแก้ไขปัญหาสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบจะเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA ) กับทาง กฟผ. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบในปี 2564-2568 ได้แก่

ปี 2564 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

ปี2565 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 2 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ

ปี 2566 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ

ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

ปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ