'การพนันออนไลน์' เกมหลอกล่อที่ผู้เล่นอยากชนะ

'การพนันออนไลน์' เกมหลอกล่อที่ผู้เล่นอยากชนะ

ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่ "การพนันออนไลน์" เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เรื่องนี้จึงเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ที่ต้องรีบแก้ปัญหา

คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า การพนันในออนไลน์ เล่นง่ายได้เงินไวในช่วงแรก คนที่หลงเข้าวงจรการพนันจึงกลับตัวได้ยาก เห็นได้จากตัวอย่าง อดีตภรรยาของนักแสดงชายชื่อดัง ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้พนันบาคาร่า เพื่อหวังจะหาเงินใช้หนี้ แต่ยิ่งเล่น ยิ่งลึก จนถอนตัวไม่ขึ้น

การพนันออนไลน์ จึงเฟื่องฟูมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะคนทั่วไปและเด็กนักเรียนต่างกักตัวอยู่บ้าน เว็บไซต์พนันจึงถือโอกาสใช้“คำชวนเชื่อ”เชื้อเชิญให้ลองเล่นดูสักครั้ง เช่น มีเงินใช้ช่วงโควิด หาเงินค่าเทอม หรือลงทุนง่ายได้เงินไว ซึ่งตัวเลขที่คาดการณ์กันไว้อยู่ในวงเงินระดับหลายแสนล้านบาท ตัวเลขนักเสี่ยงดวงหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน 

160638692649

(ส่วนหนึ่งของเกมออนไลน์)

มื่อเทียบกับปี 2560 ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน ด้านหนี้สินจากการพนันก็ทวีคูณจากปี 2560 ที่ขณะนั้นพบว่า ผู้เล่นพนันมีหนี้สินจากการพนันประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณ 13,000 บาทต่อคน

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงโควิด-19 ธุรกิจหลายอย่างซบเซา ทว่า ธุรกิจพนันออนไลน์กลับตรงกันข้าม เว็บพนันออนไลน์ผุดเป็นดอกเห็ดเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว รวมแล้วมากถึง 440 เว็บไซต์ ทั้งยังประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่โซเชียลมีเดียหลากหลาย ผ่านเน็ตไอดอล และอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย โดยล่อหลอกด้วยรูปแบบของ “เกมได้เงิน”

สอดคล้องกับการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ประจำปี2563โดย COPAT ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยโดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอายุ 12-18 ปี พบว่า

เด็กเล่นเกมออนไลน์ 3-10 ชั่วโมงต่อวัน มากถึงร้อยละ 30 รองลงมาเล่นเกมออนไลน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ที่สำคัญคือร้อยละ 10 บอกว่า มีการพนันในเกมที่เล่น จะเห็นได้ว่าการพนันซุกซ่อนอยู่ในโลกออนไลน์ เพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงได้ง่าย

การปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องใส่ใจ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย 32 องค์กร วางแนวทางความร่วมมือในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ที่นำไปสู่การขยายผลในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยออนไลน์อย่างเป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ การพนันออนไลน์ที่มีการเก็บข้อมูลพบว่าเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเป็นอันตรายที่เด็กเข้าถึงมากที่สุดมีเรื่องการพนันเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 22

“ความน่ากลัวของธุรกิจพนันออนไลน์ อยู่ที่การโฆษณากระตุ้น จัดโปรโมชั่นดึงดูดใจ ทำให้การเล่นพนันง่ายขึ้นด้วยการผูกบัญชี โดยเฉพาะการพนันฟุตบอล ที่มูลค่าการแทงบอลในเทศกาลสำคัญสูงหลายสิบล้านบาท แม้ว่าจะดำเนินการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 200 เว็บไซต์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่อาจควบคุมได้” พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุ

พงศ์ธร ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่การปราบปราม คือการให้ความรู้เรื่องวิกฤตสุขภาพจากพนันออนไลน์ ชวนให้สังคมเห็นภาพรวมว่า การพนันมีผลต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมาย แต่กระทบวิธีคิด สุขภาพจิต การเรียน แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ปัญหาการพนันและพนันออนไลน์จึงเกี่ยวข้องสังคมโดยตรง

 “เราควรผลักดันปัญหาการพนันให้อยู่ในระดับเดียวกับยาเสพติด เพราะการพนันส่งผลต่อสุขภาพคล้ายกับการใช้สารเสพติด เรียกกันว่า โรคติดพนัน ซึ่งก่อให้เกิดโรคจิตเวช และมีผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ส่งผลกระทบต่อครอบครัว แม้กระทั่งการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านบัญชีหรือดูแลการเงิน หากมีปัญหาติดการพนันจะไปเพิ่มความเสี่ยงกับบริษัทได้”

160638637587

(ยิ่งเล่นยิ่งเสีย)

ผู้จัดการโครงการ มสช.กล่าวอีกว่า การที่เด็กและเยาวชนเล่นการพนัน ส่วนหนึ่งมาจากคนในครอบครัวชอบเล่นการพนัน การพนันอยู่ในสายเลือดจึงไม่ใช่คำเปรียบเทียบ แต่เป็นเรื่องจริง พฤติกรรมการพนันเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอ จึงต้องอาศัยการจัดการสภาพแวดล้อม ชี้แนะให้เยาวชนรู้ถึงอันตรายของการเล่นพนัน

“ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้นโยบายการปราบปรามการพนันเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วง แต่ต้องเพิ่มบุคลากรในการประสานทำงานอย่างเป็นระบบ ด้านคณะรัฐมนตรีและภาคสังคมควรตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการผลักดันแก้ปัญหาในระยะยาว”

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ในระยะยาว พบว่า ข้อเสนอจากมสช. ซึ่งร่วมกับศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขผ่าน Health Policy Brief เรื่องการจัดการและรับมือกับปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากพนันนั้นน่าสนใจไม่น้อย

“โรคติดพนันเป็นประเด็นปัญหาสุขภาพสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อผู้เล่น ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ”