ก.ล.ต.วางรากฐาน“ไอซีโอ” คุ้มครองผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

ก.ล.ต.วางรากฐาน“ไอซีโอ”  คุ้มครองผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล”ไม่ว่าจะเป็น “บิทคอยน์” “คริปโต เคอร์เรนซี” “โทเคน/เหรียญดิจิทัล” จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจึงทำให้เป็นที่สนใจลงทุน และ บริษัทต่างๆสนใจ

นํา “คริปโตเคอร์เรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล” มาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนํามาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กํากับหรือควบคุมการดําเนินการดังกล่าว จึงทําให้ มักมีการแอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัล หวังหลอกลวงให้ลงทุน อ้างว่าลงทุนในเทคโนโลยีบ้าง ลงทุนในโทเคนบ้าง ลงทุนสิ่งที่เป็นอนาคตบ้าง แล้วใช้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงเป็นสิ่งล่อใจ หวังให้ผู้ไม่รู้หลงกลนำเงินไปลงทุนเข้าห่วงโซ่ของมิจฉาชีพ ทำให้หมดตัวได้ง่าย ๆ

จึงเป็นที่มาเมื่อปี2561 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออก “พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561” เพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทและอำนาจหน้าที่สร้างมาตรฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วยการออกโทเคนดิจิทัล 

 

ด้าน ก.ล.ต. ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ เพื่อดูแลให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและทันต่อ     สภาพการณ์ปัจจุบัน เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ รวมทั้งคุ้มครองประโยชน์ผู้ลงทุน

 ล่าสุด ก.ล.ต. ประกาศเตรียมปรับเกณฑ์กำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) และทรัพย์สินต่าง ๆ (asset-backed ICO) เพื่อรองรับการระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ และคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

"จอมขวัญ คงสกุล" ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต กล่าวว่า วิวัฒนาการของก.ล.ต. คือการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัล เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกฎเกณฑ์และการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) ระหว่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการรักษาสิทธิของผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับลักษณะ รูปแบบ และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์การลงทุน

อย่างในปัจจุบันมีเอกชนหลายรายสนใจนำทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น รูปภาพ อัญมณี บัญชีลูกหนี้ หลักทรัพย์ เป็นต้น มาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลและออกเสนอขายต่อประชาชน  (tokenization) โดยหากเป็นการออกเสนอขาย asset-backed ICO เพื่อการระดมทุนที่มีลักษณะ (substance) คล้ายกับหลักทรัพย์ เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงหรือตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน (DR) ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ 

สำหรับประเทศไทยนั้น หากโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายมีลักษณะเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ เช่น REIT หุ้นกู้ securitization หรือ DR แม้จะออกในรูปแบบดิจิทัล ก็จะถือเป็นหลักทรัพย์และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยไม่ถือเป็นโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)

แต่อย่างไรก็ดี หากโทเคนดิจิทัลที่ออกเสนอขายไม่เข้าลักษณะของหลักทรัพย์ ก็จะถูกกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการโฆษณาเกี่ยวกับการออกเสนอขาย asset-backed ICO ถึงสิทธิหรือความเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่นำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัล หากพิจารณาสิทธิตามกฎหมายแล้ว การนำทรัพย์สินมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลนั้น ผู้ถือโทเคนดิจิทัลจะมีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) เท่านั้น โดยไม่ได้มีกฎหมายพื้นฐานรับรองกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของบนทรัพย์สินที่นำมาอ้างอิงหรือแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลแต่อย่างใด

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการออกเสนอขาย real estate-backed ICO และ asset-backed ICO อื่น ๆ ให้เทียบเคียงได้กับหลักเกณฑ์การออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อสนับสนุนการระดมทุนด้วยเทคโนโลยี และในขณะเดียวกันก็มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม

“ตอนนี้ธุรกิจที่สนใจและเข้ามาติดต่อก.ล.ต. ส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มี asset-backed และ asset-backed ค่อนข้างมีความหลากหลาย"

 แน่นอนว่า ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลกับนักลงทุนทั่วไป หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการติดอาวุธ หากผู้ลงทุนยังไม่แน่ใจว่า ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ที่ www.sec.or.th และแอปพลิเคชัน “SEC Check First” รวมถึงยังมีการออกข่าวแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับผู้ลงทุนรับทราบด้วย

   

 “กูรู”เปิด 4 ข้อเชิงบวกยกชั้น“คริปโต”มากกว่าเก็งกำไร

       อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการที่ ก.ล.ต. เตรียมปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ real estate-backed ICO และ asset-backed ICO นั้นมองว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกของตลาด มากกว่ารุ่นแรกที่เป็น project-based แม้จะยังไม่เกิดขึ้นแต่มี ICO ที่ออกมาก่อนจะมีกฎหมายกำกับ แต่นักลงทุนไม่เข้าใจเรื่องการประเมินมูลค่าทำให้การซื้อขายอิงการเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่

สำหรับการผลักดันสินทรัพย์ดังกล่าวให้ขึ้นมาเทียบเท่าหลักทรัพย์อื่นๆในปัจจุบัน มองว่า จะส่งผลดี 4 ต่อตลาดด้าน คือ 1. การสร้างราคาสินทรัพย์ที่เป็นการซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากกว่าการเก็งกำไร 2. การสร้างแหล่งเงินออมสำหรับคนที่อยากจะมีบ้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ สามารถออมเงินผ่านการซื้อโทเคน 3. การสร้างทางเลือกใหม่การลงทุนมีหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทำให้เกิดความต้องการมากขึ้นในตลาดซื้อขายโทเคน 4. การสร้างราคาอ้างอิง สำหรับสถาบันการเงินที่ใช้สินทรัพย์เหล่านี้ เป็นหลักประกัน เช่น อสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตามการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล สุดท้ายแล้วนักลงทุนจะต้องฉลาดพอที่จะแบ่งแยกและเข้าใจสินทรัพย์แต่ละประเภทให้ชัดเจน รวมถึงสินทรัพย์ที่มี asset -backed ต้องมีกฎเกณฑ์ป้องกันไว้ไม่ให้เกิดการปั่นราคาในตลาดจนนำมาสู่การปั่นราคาในตลาดโทเคนด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นตลาดบับเบิ้ลแน่นอน ซึ่งยังเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง

การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) หรือศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย คอวลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มองว่า การผลักดัน real estate-backed ICO และ asset-backed ICO ขึ้นมาให้เทียบเท่าสินทรัพย์การลงทุนประเภทอื่นนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจาก ICO ประเภทนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนเข้าใจได้ง่ายและมีความสนใจอยู่แล้ว เป็น ICOที่มีปัจจัยพื้นฐานพื้นฐาน (fundamental ) ที่สามารถใช้วิเคราะห์การลงทุน และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนที่ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดของหุ้น

อย่างไรก็ดีการปรับปรุงหลักกฎเกณฑ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจะพิจารณาในแง่ของผู้ออกICO ด้วย คือ อยากสนับสนุนให้มีความคล่องตัว เพื่อให้ผู้ออกสามารถนำไปต่อยอดจากธุรกิจเดิมได้จริง ในขณะที่อีโคซิสเต็มที่รองรับ ICO ปัจจุบันมีพร้อมแล้ว ดังนั้น คาดว่า ในอนาคต real estate-backed ICOและ asset -backed ICO จะทำให้ตลาด ICOในไทยกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น เพียงแต่ต้องเลือกโปกเจ็คที่ดีๆและมีความน่าเชื่อออกมาเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ทุกคนในตลาดกำลังติดตามและรอคอยกันมานาน