เปิดโมเดลนักรบไซเบอร์ ‘จีน’ คนเข็นผักก็เป็นเศรษฐีได้

เปิดโมเดลนักรบไซเบอร์ ‘จีน’  คนเข็นผักก็เป็นเศรษฐีได้

นวัตกรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจการลงทุนและธุรกิจ เรื่องเหล่านี้ “จีน” วางรากฐานมาเนิ่นนาน พัฒนาคนให้คิดเป็นแล้วต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

ไม่ต้องรอให้ถึงโลกยุคใหม่ ตอนนี้จีนมีหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ตีปิงปองกับคน สารพัดหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ประโยชน์  รถยนต์ไร้คนขับในบางเมือง รวมถึงเทคโนโลยี เครือข่ายไร้สายระบบ 5G สามารถครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และนวัตกรรมอีกมากมายที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

 

  • อยากเป็นเศรษฐีต้องรู้อะไร

ว่ากันว่าปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจีนพยายามแก้ปัญหา โดยการหาโมเดลใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ วางนโยบายในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนจีนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าให้รู้จักใช้เทคโนโลยี เข้าใจโลกและการลงทุนมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีวิสัยทัศน์ ยกตัวอย่างคนมีเงินทุนน้อยจะต่อยอดอย่างไร หรือมีเงินแต่ไม่รู้เรื่องการลงทุนต้องทำอย่างไร

160618785088
- อีกไม่นาน การสร้างหุ่นยนต์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก -

"สิ่งที่ผมได้เรียนและทำงานในจีนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ  ถ้าใครถนัดเครื่องมือแบบนั้น ก็ทำแบบนั้น เอาชิ้นงานที่อยู่ในหัวออกมา ในศูนย์บ่มเพาะคนของจีน พวกเขาสอนตั้งแต่การพัฒนาแอพฯ การจ้างคนอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด บริหารคนอย่างไร ผมเองก็ลอกโมเดลจีนมาสอนเด็กไทย" ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม โปรแกรมเมอร์และนายกสมาคมดิจิทัลไทย เล่าถึงการใช้ชีวิตในจีนและบอกว่า

“ผมเริ่มจากเป็นอาสาสมัครสอนวิชาชีพใน มูลนิธิแจ๊ค หม่า และปีนี้ผมกำลังจะโอนสัญชาติเป็นจีน เพื่อจะได้ทำงานอย่างราบรื่นในกรมขจัดความยากจนของจีน ศูนย์บ่มเพาะคน ที่ผมเข้าไปเรียนรู้และทำงาน จะเปิดโอกาสให้คนเรียนคิดและสร้างอะไรก็ได้หนึ่งอย่าง แต่ต้องมีผลกระทบต่อประเทศเขา โดยรัฐบาลจีนวางนโยบายว่า คนจีนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ก่อนลงทุน"

เมื่ออยากรู้ว่า จีนพัฒนาคนอย่างไร ณัฐพรเข้าไปทำงานในกรมขจัดความยากจน และหลายหน่วยงาน ที่ทำให้เขามีประสบการณ์ เพื่อนำความรู้มาช่วยเกษตรกรไทยและเยาวชน รวมถึงคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย

เขายกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในจีน แม้จีนจะเป็นนักประดิษฐ์เข้าใจกลไกด้านฮาร์ดแวร์ แต่ยังขาดด้านซอฟต์แวร์ และเป็นจังหวะดีที่อีลอน มัสก์ อยากเข้ามาลงทุนในจีน

“ในเรื่องการสร้างรถยนต์เทสล่า จีนทำเรื่องฮาร์ดแวร์ได้แล้ว แต่ขาดเรื่องซอฟต์แวร์ ที่ต้องเรียนจากคนต้นคิด และเป็นจังหวะที่อีลอน มัสก์ อยากเข้ามาลงทุนในจีน รัฐบาลจีนจึงยื่นเงื่อนไขว่า ต้องสอนเทคโนโลยีให้คนจีนก่อน ผมเองก็มีโอกาสเรียนด้วย 7 วัน

160627584965
- ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย - 

"ตอนที่เรียนที่นั่นจะออกไปไหนไม่ได้เลย เรียนจนไม่รู้จะถามอะไร นอกจากนี้ยังมี มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และ บิล เกตส์ ที่ต้องการจดทะเบียนธุรกิจในจีน จึงต้องทำตามเงื่อนไขเดียวกัน"

ที่น่าทึ่งกว่านั้น ก็คือ รัฐบาลจีนกล้าที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ก็คือ ธอมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้ริเริ่มให้อีลอน มักส์ พัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ทั้งๆ ที่มีค่าตัวในการสอน 4 ชั่วโมง 1.25 ล้านบาท รัฐบาลจีนก็ยอมเอาภาษีมาจ้างสอนเด็กอาชีวะ เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักศึกษาสายอาชีพกับนักศึกษามหาวิทยาลัย

 

  • คนธรรมดาก็เป็นเศรษฐีได้

สำหรับณัฐพรแล้ว การเข้าไปทำงานในจีน ไม่ได้ต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต แต่มีเป้าหมายอยากกลับมาช่วยเกษตรกรและเยาวชนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีและการลงทุน ดังนั้นการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเกษตรกรจีน ทำให้เขารู้ว่า ข้าวไทยมี 72 สายพันธุ์

“ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ต้องมาเรียนกับเกษตรกร  โจทย์มีอยู่ว่า ต้องช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตต่อชิ้นให้เหลือครึ่งหนึ่ง และต้องขายได้มากกว่าเดิม 2 เท่า ถ้าจะขายข้าวเกวียนละ 8,000 บาท ต้นทุนอยู่ที่เกวียนละ 6,000 บาท ต้องทำให้ต้นทุนเหลือเกวียนละ 3,000 บาทและขายได้เกวียนละ16,000 บาท”

160618802174
- หุ่นยนต์จะมีให้เห็นเรื่องปกติในอนาคตอันใกล้ - 

ส่วนอีกความท้าทายที่ณัฐพรได้ทำในจีนคือ การเรียนจบปริญญาตรีภายใน 2 ปีครึ่ง ด้วยเงื่อนไขที่เขาตั้งขึ้นเอง เรียกว่า ปริญญาบราวนี่ ตอนนั้นเขาได้ทุนจากมูลนิธิแจ๊คหม่าจำนวน 10,000 บาทเพื่อนำมาพัฒนาร้านขายขนมเล็กๆ ที่ไม่มีลูกค้า ตรงข้ามออฟฟิศอาลีบาลา โดยมีแนวทางว่า ต้องเปลี่ยนคนธรรมดา ไม่มีวุฒิการศึกษาเป็นเศรษฐี ด้วยเวลาจำกัด

ณัฐพรคิดโมเดลและลงมือทำให้เห็น โดยเรียนทำบราวนี่ 180 ชั่วโมงทางออนไลน์ ไม่เรียนวิชาบังคับทั่วไป จากนั้นทำการตลาดทั้งออนไลน์และหน้าร้าน โดยวางแต่ละสเต็ปในการเรียน จนในที่สุดได้ปริญญาบราวนี่ภายใน 8 เดือน ได้เงินจากการขายบราวนี่ 5 แสนบาท จากนั้นสร้างรายได้ผ่านออนไลน์ Taobao ในชื่อ “แจ๊คลุยบราวนี่” ภายใน  2 ปีร้านขนมเล็กๆ ที่เขาเข้ามาบริหารจัดการ เฝ้าร้านสามารถสร้างรายได้กว่า 10 ล้านหยวน โดยปีแรกขายได้ 3.1 ล้านหยวน และปีที่สองขายได้ 7 ล้านหยวน

ตามระบบการศึกษา เขาต้องเรียน 5 ปีจึงจะได้ปริญญาตรี ณัฐพร คิดโมเดลให้ตัวเขาเองเรียนจบภายในสองปีครึ่ง ได้รับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยอันดับ 5 ของจีน และอันดับ15 ของโลก จบเป็นเอสเอ็มอีที่มีเงินทุน 15 ล้านบาท 

เหล่านี้คือ โมเดลที่เขาคิดและสามารถนำไปใช้กับคนธรรมดาที่มาเรียนรู้กับมูลนิธิอาลีบาบา และกรมขจัดความยากจน ทำให้คนจีนที่มีอาชีพธรรมดาๆ ได้รับปริญญาแบบนี้

“คนที่มีอาชีพซ่อมรถยนต์ เข็นผักในตลาด ขายปูปลา หรือเป็นเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ มีประมาณ 60,000 คน คนจีนเหล่านั้นมีรายได้ ผันตัวเป็นเศรษฐี ตั้งแต่ปีคศ. 2016”
ณัฐพร เล่าว่า การเป็นสตาร์ทอัพจีนรุ่นใหม่ มีโจทย์ว่า ต้องคิดโครงการให้ได้ก่อน ถ้าคิดออกมาแล้ว มีประโยชน์ก็ทำได้เลย ไม่ต้องสนใจปัญหาทางกฎหมาย

“ต้องรู้ก่อนว่านักรบไซเบอร์ นักรบการค้าสร้างมาด้วยโมเดลแบบนี้ ยกตัวอย่าง การโคลนนิ่งมนุษย์ โรคที่รักษาไม่ได้ ถ้ารักษาให้หายได้ ก็มีประโยชน์ เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมยังไม่สำคัญเท่าการช่วยเหลือคน”

160618852040
- จีนนำเทคโนโลยีมาใช้เกือบทุกเรื่องในชีวิต - 

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ณัฐพรเรียนรู้ในจีน เพื่อนำโมเดลเหล่านั้นมาช่วยคนไทย และสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วมีหลายอย่าง อาทิ ร่วมกับ บังฮาซัน ช่วยคนภาคใต้ขายผลผลิตทางการเกษตร, ช่วยทำโมเดลธุรกิจ ไก่ย่างเขาสวนกวาง เพื่อให้คนทำฟาร์มไก่และเลี้ยงไก่ ได้วุฒิปริญญา และช่วยวางแนวทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำโปรแกรม new normal system เพื่อให้เด็กสร้างแอพพลิเคชัน ให้มียอดดาวน์โหลดแตะหลักล้านเพื่อสร้างรายได้

"ผมเอาเด็กจากทุกมหาวิทยาลัยในภาคต่างๆ มาสอนให้มีทักษะดิจิทัล ผมออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง เป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่น 11 แล้ว แต่ละรุ่นมีน้องๆ ประมาณ 60 คน ทั้งที่จบแล้วและยังไม่จบได้งานร้อยเปอร์เซ็นต์”

เหล่านี้คือ โมเดลนักรบไซเบอร์ที่เขาได้เรียนรู้และทำงานในจีน รวมถึงกำลังต่อยอดไปเรื่อยๆ

................

หมายเหตุ : จากการอบรม มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 3 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2563