มะกันอ่วม!!! ยอดคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม

มะกันอ่วม!!! ยอดคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม

CDC สหรัฐฯ รายงานอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าน่าห่วง กว่าครึ่งของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนักสูบหน้าใหม่ ย้ำไทยมาถูกทางห้ามนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ปกป้องสุขภาพคนสูบ

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้รายงานผลสำรวจสุขภาพระดับชาติประจำปี 2562 พบอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปอยู่ที่ ร้อยละ 14 ซึ่งถือเป็นอัตราที่คงที่ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม แต่พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คือ ร้อยละ  3.2 เป็น ร้อยละ 4.5

โดยพบว่ากลุ่มอายุ 18-24 ปีเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดคือ ร้อยละ 9.3 (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีผู้สูบ ร้อยละ 7.6) และที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 56 ของวัยรุ่นอายุ 18-24 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ประเภทใด ๆ มาก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนประชากรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50.6 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีประชากรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ 47.4 ล้านคน 

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า จากข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่เลิกสูบตามที่บริษัทบุหรี่กล่าวอ้าง เพราะแม้จะพบมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดากลับไม่ได้ลดลงเลย ตรงกับรายงานวิจัยหลายชิ้นที่สรุปว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 55-85 ยังคงสูบบุหรี่ธรรมดาร่วมกับสูบบุหรี่ไฟฟ้า  ซึ่งการสูบบุหรี่ทั้งสองประเภทนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคปอดสูงกว่าสูบอย่างใดอย่างหนึ่ง

“บริษัทบุหรี่โฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทบุหรี่รายใด ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อขอให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่จากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ทั้งนี้น่าจะเกิดจาก3 เหตุผล ได้แก่ 1.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดจริง 2.บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายสูงกว่าผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และ 3.การจดทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่จะจำกัดกลุ่มผู้ใช้เฉพาะกรณีมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น เพราะมีฤทธิ์เสพติดสูง ซึ่งจะกระทบการตลาดของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกใช้เป็นวงกว้าง” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า 

ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าแท้จริงแล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่น เป็นการขยายฐานการตลาดของบริษัทบุหรี่เพื่อเพิ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นอายุน้อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ปกติจะไม่ไปลองสูบบุหรี่แบบธรรมดา ทำให้วัยรุ่นเหล่านี้สนใจและทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนเสพติดสารนิโคติน เลิกไม่ได้ ซึ่งจากผลการสำรวจของสหรัฐฯ พิสูจน์ให้เห็นว่าการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ลดอัตราการสูบบุหรี่ และไม่ได้ลดจำนวนคนที่สูบบุหรี่ ซ้ำยังทำให้ประชากรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือเสพติดสารนิโคตินในภาพรวมเพิ่มจำนวนขึ้น กรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้การควบคุมยาสูบไม่คืบหน้า ซ้ำยังจะทำให้การทำงานด้านการควบคุมยาสูบถอยหลัง  

“การที่ประเทศไทยมีกฎหมายทั้งห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ก็เพื่อปกป้องเยาวชนไทยจากการเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ต้องการให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยพุ่งสูงขึ้นเหมือนกับ สหรัฐฯ ที่ปัจจุบันนักเรียนมัธยมกว่า 1 ใน 4 สูบบุหรี่ไฟฟ้า จนกลายเป็นวิกฤตทางการสาธารณสุขที่ต้องมาตามแก้ไขภายหลัง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรคงมาตรการเข้มงวดในการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป” ศ.นพ.ประกิต กล่าว