จีไอทีลุ้นไตรมาส 4 ดันส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับฟื้น

จีไอทีลุ้นไตรมาส 4 ดันส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับฟื้น

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 9 เดือน ปี 63 มีมูลค่า 16,130.64 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23.72% แต่หากหักทองคำออก ส่งออกหดเหลือ 3,360.77 ล้านดอลลาร์ ลดลง 46.45% เหตุโควิด-19 ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำคนใช้จ่ายมากขึ้น

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 16,130.64 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23.72% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 503,294.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.84% ทำให้อัญมณีและเครื่องประดับขึ้นแท่นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 คิดเป็นสัดส่วน 9.32% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 3,360.77 ล้านดอลลาร์ ลดลง 46.45% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 103,918.24 ล้านบาท ลดลง 46.94%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำเป็นมูลค่าสูงถึง 12,769.87 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 88.85% คิดเป็นสัดส่วน 88.58% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ แต่การส่งออกทองคำไปเก็งกำไรส่วนต่างราคาเริ่มลดลง เพราะราคาทองคำอ่อนตัวลง โดยยังเชื่อว่าจะมีความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในการลงทุนช่วงเศรษฐกิจผันผวน

160585989615

ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่หักทองคำออกที่ยังคงลดลง ยังคงมาจากสาเหตุเดิม ทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก บางประเทศกลับมาล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว และเศรษฐกิจของคู่ค้าที่สำคัญของไทย มีการชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลดลง

“หากดูเฉพาะเดือนก.ย.2563 การส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในตลาดสำคัญ โดยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย จีน และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นตลาดในอันดับที่ 1 , 4 , 6 , 7 , 8 และ 9 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 47.17% , 29.66% , 257% , 24.11% , 51.76% และ 53.65% ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย และเบลเยียม ตลาดอันดับที่ 2, 3, 5 และ 10 มีมูลค่าลดลง 0.10% , 2.95% , 6.37% และ 23.65% ตามลำดับ”นายสุเมธกล่าว

สำหรับการส่งออกเป็นรายสินค้าในช่วง 9 เดือน ส่วนใหญ่ยังปรับตัวลง โดยเครื่องประดับแท้ ลด 33.26% เครื่องประดับเงิน ลด 5.46% เครื่องประดับทอง ลด 50.11% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 27.01% เพชรก้อน ลด 68.82% เพชรเจียระไน ลด 44.66% พลอยก้อน ลด 65.85% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลด 66.95% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 62.65% เครื่องประดับเทียม ลด 42.23%  

ขณะที่ตลาดส่งออก ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด โดยสหภาพยุโรป (อียู) ลด 26.86% สหรัฐฯ ลด 23.78% ฮ่องกง ลด 67.10% ตะวันออกกลาง ลด 44.52% อินเดีย ลด 58.54% อาเซียน ลด 65.46% ญี่ปุ่น ลด 18.73% จีน ลด 24.45% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 0.98% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 0.79% 

นายสุเมธ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่จะมีผลต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 คือ ภาครัฐในหลายประเทศออกมาตรการทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทยอยฟื้นตัว รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศอาจกลับมาอีกครั้งหลังชะลอไปนาน จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการเริ่มเปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ที่เน้นนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว แม้จะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ก็จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการเสริมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง คือ การหดตัวของเศรษฐกิจโลก จากแนวโน้มของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนเอกชน และการบริโภคของประชาชน การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค.2563 ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีแนวโน้มที่จะยังคงคุกรุ่นและจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลก รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายกับประเทศคู่ค้าที่ต่างไปจากเดิม และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทย