แนะ‘8แบรนด์’ซูเปอร์มาร์เก็ต เร่งสร้างห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน

แนะ‘8แบรนด์’ซูเปอร์มาร์เก็ต  เร่งสร้างห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน

สุดยอดซูเปอร์มาร์เก็ตไทยแห่งปี 2563 คือใคร?

ทีมงานของแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ได้เฉลยผลการสำรวจและประเมินนโยบายสาธารณะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภคของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 8 รายซึ่งมีจำนวนสาขารวมกว่า 4,000 สาขาในประเทศไทยประจำปีนี้ หลังจากเริ่มสำรวจมาตั้งแต่ปี 2561  (เดิมใช้ชื่อแคมเปญว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก”)

เป้าหมายไม่ใช่อื่นไกล มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ตลอดจนมีการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง! ในฐานะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกของไทย อุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า 3.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 15.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

จิดาภา มีเพียร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) เล่าว่า ปีนี้ทีมงานแคมเปญผู้บริโภคที่รักได้พัฒนา “ตัวชี้วัด” ให้เข้ากับบริบทการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยมากขึ้น แบ่งเป็น 3 มิติหลัก ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า และ ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก 

แต่ละมิติมี 8 ตัวชี้วัดย่อย รวม 24 คะแนนเต็ม กรอบการประเมินเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.2562-พ.ค.2563 พบว่าที่ผ่านมามีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติสู่สาธารณะ แต่ในภาพรวมยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น 

โดยซูเปอร์มาร์เก็ตที่คว้าคะแนนสูงสุดประจำปี 2563 ได้แก่ แม็คโคร, ท็อปส์ มาร์เก็ต และซีพีเฟรชมาร์ท ทั้ง 3 รายครองอันดับ 1 ร่วมกัน เนื่องจากได้คะแนนรวมเท่ากันที่ 9 คะแนน แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก!  เพราะได้เพียง 1 ใน 3 ของคะแนนเต็มเท่านั้น!

“แม็คโคร” ได้คะแนนสูงในมิติความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 5 คะแนน ส่วน "ท็อปส์ มาร์เก็ต" และ "ซีพีเฟรชมาร์ท" ได้คะแนนสูงในมิติความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีกเท่ากันที่ 5 คะแนน แต่ในมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า ทั้ง 3 รายกลับได้คะแนนน้อยมากที่ 1 คะแนน, ไม่มีคะแนน และ 1 คะแนนตามลำดับ

ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนมากที่สุดอันดับ 2 “เทสโก้ โลตัส” ได้คะแนนรวม 3 คะแนน ตามมาด้วย “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” คะแนนรวม 2 คะแนน ขณะที่บิ๊กซี, วิลลา มาร์เก็ต และฟู้ดแลนด์ ไม่มีคะแนนทั้ง 3 ราย 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 5 รายหลังจะไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติ เพียงแต่ในช่วงระยะเวลาที่ทีมงานฯดำเนินการประเมิน อาจจะยังไม่ได้มีการประกาศนโยบายแก่สาธารณชน ทำให้ไม่ได้รับคะแนนในส่วนนี้ไป

“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบางราย เช่น บิ๊กซี เพิ่งประกาศนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิภาพของสัตว์และการจัดการด้านการเกษตรหลังจากทีมงานฯประเมินเสร็จแล้ว โดยสิ่งที่บิ๊กซีทำในปีนี้ก็จะถูกประเมินคะแนนในปี 2564 แทน”

ด้านมิติที่จะต้องเร่งปรับปรุง ประกอบด้วย 1.การพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกลไกการร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภค ต้องครอบคลุมแนวทางการจัดการข้อร้องเรียน รูปแบบ กรอบระยะเวลาในการจัดการข้อร้องเรียนและการชดเชย 2.การเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาและกระบวนการคัดกรองสินค้า 3.การพัฒนากลไกการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสินค้า โดยเฉพาะในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ รวมไปถึงอาหารทะเล 4.การออกมาตรการในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตที่ไม่มีกระบวนการการผลิตอาหารที่ปลอดภัย และ 5.การส่งเสริมการใช้นโยบายและแนวปฏิบัติตามแนวทางการจัดหาสินค้าที่ยั่งยืน

“หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศและอยากเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเอาแบบอย่าง คือ แนวทางของวอลมาร์ท (Walmart) ที่วางแนวปฏิบัติให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีความโปร่งใส และทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน สามารถติดตามและตรวจสอบย้อนกลับได้”

การประเมินในปี 2564 จะมีการ “ตัดเกรด” จากคะแนนรวมที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละรายได้รับด้วย แบ่งเป็นเกรด A, B และ C โดยจะจัดเวิร์กช็อปตัวแทนของทั้ง 8 รายในช่วงต้นปีหน้าให้ทราบถึงแนวทางการประเมินของทีมงานฯ

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวเสริมว่า ในมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า พบว่า 6 ตัวชี้วัดที่ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตรายใดได้เลย คือ การใช้ยาและสารเคมี ความยั่งยืนของระบบนิเวศต้นน้ำ การตรวจสอบและย้อนกลับ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้ำทิ้ง และของเสีย

สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการใช้มาตรการเพื่อควบคุมให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกิดความยั่งยืนทางอาหาร