‘สายสีส้ม’จุดเปลี่ยนธุรกิจรถไฟฟ้า วัด 2 ทุนใหญ่ชิงสิทธิเดินรถ

‘สายสีส้ม’จุดเปลี่ยนธุรกิจรถไฟฟ้า  วัด 2 ทุนใหญ่ชิงสิทธิเดินรถ

การเดินหน้าเลือกผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นตะวันตก (บางขุนนนท์- มีนบุรี) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท มาถึงจุดที่ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

ว่าจะต้องรับคำร้องอุทธรณ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและทุเลาหลักเกณฑ์ ที่เปลี่ยนไปจากเอกสารประกวดราคาหรือไม่

คำตัดสินจะมีผลต่อ 2 กลุ่มใหญ่ที่เข้าร่วมประมูลโครงการนี้ ทั้งกลุ่ม บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัทลูก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อีกกลุ่มที่ผนึกกันในนาม BSR มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ยังรอร่วมทุนหลังมีคำตัดสินจากศาลให้ชัดเจน

ประเด็นดังกล่าวมีผลต่อ 2 กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าว่าใครจะชิงสายสีส้มทั้งหมดในส่วนนี้ไป เพราะในสัญญาฉบับนี้จะได้สิทธิการบริหารเดินรถไฟฟ้าทั้งเส้น  จากตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) มีทั้งหมด 17 สถานี จำนวน 22.5 กิโลเมตร ได้มีการก่อสร้างไปแล้ว จะมาเชื่อมต่อกับเส้นตะวันตก ที่มีทั้งหมด 11 สถานี จำนวน 13.4 กิโลเมตร

ความสำคัญเมื่อรวมสายสีส้มแล้วมีทั้งหมด 28 สถานี จำนวนถึง 35.9 กิโลเมตร ซึ่งมีผลต่อการเชื่อมต่อสายอื่นที่ทั้ง 2 กลุ่มได้รับบริหารเดินรถไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ และที่สำคัญยังทำให้เกิดผลชี้ขาดในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในอนาคตได้อีกด้วย

ก่อนหน้านี้กลุ่ม บีทีเอส ได้ร้องเรียนต่อศาลปกครองกลางและศาลได้ให้คุ้มครองประมูลชั่วคราวภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ พิจารณาข้อเสนอโดยให้คะแนนด้านราคา 100 คะแนน จากที่มีการเปลี่ยนเป็นใช้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

ประเด็นดังกล่าวทำให้ระยะเวลาการประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ต้องล่าช้าออกไป หากเมื่อเทียบกันแล้วประเด็นการเปลี่ยนแปลงการให้น้ำหนักคะแนนสายสีส้มมีสถานีลอดใต้ดิน 10 สถานี บนดิน 7 สถานี ทำให้ต้องการผู้ก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งในบรรดาผู้รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่และเชี่ยวชาญงานอุโมงค์ในไทยต้องยกให้กลุ่ม ช.การช่าง

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่างานประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ผ่านมามีทั้งบนดินและลอดใต้ดิน ซึ่งให้หลักเกณฑ์ คุณสมบัติต้องผ่าน ด้านเทคนิคก่อสร้างต้องผ่าน และไปตัดสินขั้นสุดท้ายกันที่ซองเงินลงทุนและผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะออกน้อยที่สุด จึงกลายเป็นเหตุความวุ่นวายการประมูลสายสีส้มถึงไม่ราบรื่นอย่างที่ผ่านมา

ฟากของ บีทีเอส ซึ่งถือว่าเป็นทุนใหญ่ ร่วมกับ กลุ่ม “ปราสาททองโอสถ” ที่พึ่งผ่านการชนะประมูลโครงการใหญ่สนามบินอู่ตะเภาเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท เอาชนะกลุ่มซีพี และกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เดียม

เม็ดเงินลงทุนเฉพาะในส่วนของบีทีเอส ตามสัดส่วนถือหุ้นในโครงการดังกล่าว 40% ทำให้ต้องเตรียมเม็ดเงินรองรับไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจากธุรกิจบริหารเดินรถไฟฟ้า ธุรกิจสื่อ สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ไม่ต่ำกว่าปีละหมื่นกว่าล้านบาท จนสามารถนำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ

งวดไตรมาส 2 ปี 2563-2564 มีรายได้รวม 8,910 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของรายได้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลไปยังธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ และยังมีการบันทึกรายได้จากการให้บริการติดตั้งงานระบบและการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สําหรับโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือที่ลดลงเพราะอยู่ในช่วงท้ายงานก่อสร้าง แต่ในส่วนของกำไรขั้นต้นถือว่ายังทำได้ดีโดยรวมอยู่ที่ 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 16%

นอกจากนี้ที่ผ่านมา BTS เริ่มบริหารจัดการพอร์ตลงทุนรวมไปถึงการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท ด้วยการทำรายการบิ๊กล็อตหุ้น บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จำนวน 1,300 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6.55 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,799 ล้านบาท

ถัดมา บีทีเอส มีการเข้าซื้อหุ้นบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัดส่วน 7.5% ที่ราคาหุ้นละ 1.33 บาท มูลค่า 332 ล้านบาท และอาจจะได้เห็นการซื้อหุ้นเพื่อลงทุนเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งการขยับพอร์ตในรอบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นตัวสร้างการเติบโตในอนาคต