เปิดทริค 'อัพเงินเดือน-เลื่อนตำแหน่ง' แบบไม่ต้องย้ายงาน!

เปิดทริค 'อัพเงินเดือน-เลื่อนตำแหน่ง' แบบไม่ต้องย้ายงาน!

อยู่ผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย!? เปิดมุมมองฝ่ายบุคคลกับความเป็นไปได้ในการพิจารณา "ขึ้นเงินเดือน" และ "เลื่อนตำแหน่ง" ของพนักงานที่อยากเติบโตในองค์กรเดิม แบบไม่ต้องย้ายที่ทำงานบ่อยๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

ช่วงปลายปีแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่หลายคนกำลังจดจ่อกับ "โบนัส" หลายคนก็กำลัง "หางานใหม่" อย่างขมักเขม้นเพื่อแสวงการการเติบโต โดยเฉพาะในมิติของ "เลื่อนตำแหน่ง" และ "อัพเงินเดือน" 

ทว่า การย้ายที่ทำงานใหม่อาจไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับทุกคน จึงกลายเป็นคำถามที่ว่าหากต้องการเติบโต ได้รับการเลื่อนตำแหน่งและอัพเงินเดือน หรือเติบโตในองค์กรเดิม ในฐานะของผู้ปฏิบัติงานควรจะทำอย่างไร?

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้สัมภาษณ์บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล 2 แห่ง ในประเด็น "ทำอย่างไร ให้ได้อัพเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งแบบไม่ต้องย้ายงาน" ก็ได้รับมุมมองในการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าไม่มีวิธีไหนดีกว่า หรือดีที่สุด ขึ้นอยู่กับบริบทของงาน ลักษณะงาน วัฒนธรรมองค์กร และศักยภาพของเรา แต่คำแนะนำเหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยที่ทำให้มองเห็นลู่ทางที่ทำให้คุณเติบโตได้ในแบบที่คุณอยากเป็น

  

  •  วิธีที่ 1 : บอกความต้องการตรงๆ

องค์กรที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลแห่งหนึ่ง ให้คำแนะนำว่าในกรณีที่เป็นองค์กรที่ไม่ได้เป็นแนวดิ่งหรือไต่ระดับขั้นการบริหารไปเรื่อยๆ เหมือนในอดีต แต่มีลักษณะการบริหารที่ขยายออกด้านข้าง

องค์กรในลักษณะนี้มักจะมีการให้โยกย้ายสลับตำแหน่ง ไปทำในสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานอยากทำหรือสนใจ โดยหลายองค์กรพยายามปลูกฝังให้มองว่าการโยกย้ายหรือสลับตำแหน่ง ถือเป็นการโปรโมทเช่นเดียวกัน 

แต่ว่าการโปรโมทในลักษณะการเปลี่ยนสลับหน้าที่ก็ต้องตอบโจทย์ได้ว่า พนักงานคนนี้อยากทำงานอะไร เช่น เดิมเคยทำงานแอดมินแต่อยากไปทำงานที่ท้าทายมากขึ้น เช่น อยากทำงานโครงการ โปรเจคนี้เราเป็นคนทำโปรเจคต่อไปเราเป็นแอดไวเซอร์ โปรเจคถัดไปเราทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์ เป็นต้น

ในกรณีที่อยากสลับตำแหน่งงานในลักษณะนี้ จะทำได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและโครงสร้างองค์กร ซึ่งผู้ที่ต้องการเติบโต อัพเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งในองค์กรลักษณะนี้ อาจจะเริ่มต้นจากการคุยกับฝ่ายบุคคล (HR) และหัวหน้างาน ซึ่งตอนนี้สิ่งที่หลายบริษัทกำลังทำก็คือการเปิดโอกาสให้คุยกับหัวหน้าที่ข้ามไปอีกระดับหนึ่งที่เราเรียกว่า "Skip level" หมายความว่าแทนที่จะคุยกับผู้จัดการ เราต้องไปคุยกับไดเรคเตอร์ เพื่อแสดงความต้องการหรือขอคำแนะนำ

อย่างไรก็ตาม การที่จะมอบข้อเสนอแบบนี้ให้กับ HR หรือผู้บริหารในองค์กรได้ คุณต้องมีทักษะที่หลากหลายมากพอที่จะทำให้ข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ เพราะถ้าคุณมีทักษะเดียวก็จะทำไม่ได้ หรืออาจไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำก็ได้

  •  วิธีที่ 2 : ถาม ต่อรอง พัฒนาตัวเอง อย่างมีศิลปะ 

ส่วนองค์กรที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลอีกแห่งหนึ่ง มองต่างจากคำแนะนำแรก โดยมองว่าการจะขออัพเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งที่กรณีที่เราไม่ถูกโปรโมทตำแหน่งนั้น จะต้องค่อยๆ ทำอย่างมี "ศิลปะ" โดยแนะนำ 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1  หาโอกาสคุยกับหัวหน้างานของเราโดยตรง แต่คุยแบบมีศิลปะ

คำถามที่ควรยิงใส่หัวหน้าของเรา ไม่ใช่ "ทำไมเราไม่ได้รับโปรโมท" "ทำไมเราไม่ได้ขึ้นเงินเดือน" แต่สิ่งที่ควรถามคือ "บริษัทมองอนาคตเราไว้อย่างไร" ซึ่งคำถามนี้จะช่วยให้เรามองเห็นภาพการเติบโตองค์กรที่กำลังทำงานอยู่มากขึ้น

นอกจากนี้การถามคำถามนี้ยังทำให้เรารู้ว่าทีมงานมองอนาคตของเราไว้อย่างไร เนื่องจากบางครั้งหัวหน้าอาจวางแผนการทำงานของเราไว้ แต่อาจมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะปรับ หรือยังไม่ถึงเวลาที่จะบอก ทำให้เราไม่รู้อนาคตการเติบโตในการทำงานของตัวเอง ดังนั้น การถามคำถามนี้จึงช่วยทำให้เราเห็นภาพร่วมกับองค์กรมากขึ้น และได้คำตอบว่าเราจะมีโอกาสได้ขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งในอนาคตหรือไม่อย่างไร 

ถ้าเราไม่มีทางเลือก จะไม่มีอำนาจต่อรอง

ขั้นที่ 2 หาอำนาจต่อรอง 

หากใช้วิธีแรกไม่สำเร็จ หรือไม่เคลียร์ อาจใช้วิธีที่สองคือ การ "สร้างอำนาจต่อรอง" ด้วยการลอง "สมัครงานที่ใหม่" ซึ่งการสมัครใหม่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนงานเสมอไป แต่เป็นการเช็คเรทติ้งของตัวเองว่าเรามีศักยภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่

เช่น หากเราสมัครงานที่ใหม่และได้การเสนอตำแหน่งที่สูงขึ้น มีเงินเดือนที่สูงขึ้น อาจใช้ข้อเสนอนี้มาคุยกับหัวหน้างาน เพื่อแสดงเจตจำนงว่าได้รับข้อเสนอมาจากองค์กรใหม่ แต่ยังคงอยากทำงานให้กับที่เดิมอยู่ หากเป้าหมายของ คุณ หัวหน้าของคุณ และองค์กรของคุณตรงกันก็จะมีโอกาสได้รับข้อเสนอการจ้างงานแบบใหม่ ที่สร้างความพอใจทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ยังไม่ได้รับข้อเสนอนี้จริงๆ ไม่ควรกุเรื่องมาเสนอเพื่อหวังขึ้นเงินเดือน เพราะหากองค์กรมองว่าไม่สามารถทำตามข้อเสนอได้ คุณอาจจะตกที่นั่งลำบากคือไม่ได้ขึ้นเงินเดือน หรืออาจจะต้องออกไปรับข้อเสนอที่ไม่มีอยู่จริงก็ได้

ขั้นที่ 3  ทำงานให้ดีกว่าเดิม 

อาจฟังดูขัดใจหลายๆ คน ที่กำลังหัวเสียกับการไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือโปรโมทตำแหน่งใหม่ แต่เชื่อเถอะว่า หากลองทำข้อ 1 และข้อ 2 ไม่เป็นผล การตั้งใจทำงานให้ดีกว่าเดิม หรือไม่ย่อหย่อนไปกว่าเดิม คนที่ได้รับประโยชน์คือตัวของคุณเอง

ซึ่งการพัฒนาทักษะ ทำงานอย่างเต็มที่ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ระหว่างที่รอการโปรโมทตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน หรือหางานใหม่ จะช่วยเปิดโอกาสให้ตัวคุณเอง แม้จะไม่ได้รับการโปรโมทในปีนี้ สิ่งต้องห้ามคือคิดจะทำงานเฉื่อยๆ เพียงเพราะเห็นว่าเราไม่ได้รับการโปรโมทเป็นอันขาด เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าจะเราจะเติบโตในองค์กรเดิม หรือเลือกที่จะออกไปเติบโตในองค์กรใหม่ "ศักยภาพในการทำงาน" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะตัดสินอนาคตของคุณ ผลงานที่ดีและความตั้งใจจริงจะสะท้อนศักยภาพของเราออกมา มีคนเห็นคุณค่า หรือได้รับการสนับสนุนในสักวันหนึ่ง หรือหากยังไม่ได้รับโอกาสโปรโมทในองค์กรเดิม เมื่อใดก็ตามที่จะต้องเดินออกไปทำงานที่ใหม่ จะต้องไปแบบผู้ชนะ คือไปให้เขาเสียดาย หรือชื่นชม 

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำทั้ง 2 วิธีไม่มีวิธีไหนที่ดีกว่า หรือเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอาจมีวิธีอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้เรามีโอกาสได้อัพเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งในที่ทำงานเดิม ขึ้นอยู่กับบริบทอื่นๆ ด้วย ทั้งโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งที่ว่าง เพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กร จังหวะ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ควบคุมไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าหนึ่งสิ่งที่สามารถควบคุมได้คือ "ศักยภาพของเราเอง" ซึ่ง "ตัวเรา" ที่จะเป็นตัวกำหนดชะตาว่าจะเตรียมพร้อมรับโอกาสที่จะเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะผลักดันตัวเองให้ไปอยู่ในองค์กรที่มีโอกาสเติบโตในแบบที่ปรารถนาได้อย่างไรในวันที่คนอื่นอาจจะยังมองไม่เห็น