‘สภาพัฒน์’ ชงเคาะงบฟื้นฟูแสนล้าน ‘รีสกิล-อัพสกิล’ อุ้มแรงงาน

‘สภาพัฒน์’ ชงเคาะงบฟื้นฟูแสนล้าน ‘รีสกิล-อัพสกิล’ อุ้มแรงงาน

“สุพัฒนพงษ์” ชี้ การจ้างงานท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว สศช.ชงแพ็คเกจใช้เงินกู้ฯ เฟส 2 วงเงินแสนล้านเข้า ครม.พรุ่งนี้ พัฒนาฝีมือแรงงาน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชุมชน “ทีเอ็มอี” กระตุ้นรัฐใช้งบฟื้นฟูโควิดช่วยแรงงาน หวั่นว่างงงานพุ่ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจในขณะนี้มีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นแต่ในเรื่องของการจ้างงานต้องยอมรับว่าหลายภาคส่วนยังได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยทำในเรื่องของโครงการไทยมีงานทำที่จะเพิ่มการจ้างงานให้ได้ 1 ล้านตำแหน่งให้ได้มากที่สุด 

“แรงงานที่ยังได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งอยู่ในภาคส่วนที่เศรษฐกิจพึ่งพาภายนอก ก็ยังต้องค่อยๆแก้ไปเพราะแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้เปลี่ยนในทันที โดยแรงงานท่องเที่ยวส่วนหนึ่งก็ยืดหยุ่นไปอยู่ในภาคเกษตรบ้าง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับในการใช้จ่ายเงินกู้ในส่วนของวงเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทในระยะต่อไปจะต้องเน้นในเรื่องการเพิ่มทักษะและปรับทักษะแรงงาน (Up-skills และ Re-skills) ต้องเร่งเรื่องนี้ให้มากเพราะการปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจและแรงงานต่างๆจะเกิดขึ้นเร็วมาก อาจจะเร็วกว่าที่เราคิด ดังนั้นต้องสร้างให้ประชาชนมีทักษะในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการเร่งรัดเช่นกันในปี 2564

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ เตรียมที่จะเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยเป็นแพ็คเกจที่ 2 ของการขอใช้เงินกู้วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับในแพ็คเกจที่ 1 ที่ใช้เงินกู้เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบวันพรุ่งนี้ (17 พ.ย.)

โดยโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ในแพคเกจที่ 2 จะเน้นในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเทรนนิ่ง ฝึกและพัฒนาทักษะแรงงาน ส่วนโครงการอีกลักษณะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่เช่นโครงการที่เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ สร้างระบบน้ำในชุมชนให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว 

"แนวทางการอนุมัติเงินกู้ฯภายหลังจากมีความคืบหน้าเรื่องการคิดค้นวัคซีนในต่างประเทศคณะกรรมการฯยังคงต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนและปัจจัยต่างๆประกอบด้วย ดังนั้นการอนุมัติเงินกู้ก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างรอบครอบโดยจะยังไม่เร่งอนุมัติทีเดียว เบื้องต้นยังคงเป็นการทยอยอนุมัติและเสนอให้ ครม.พิจารณาเป็นแพคเกจคราวละประมาณ 1 แสนล้านบาท" 

รายงานข่าวจาก สศช.ระบุว่า ที่ผ่านมา สศช.ทยอยขออนุมัติใช้งบประมาณจากวงเงินกู้ในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท แพ็คเกจแรกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ครอบคลุม การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อพึ่งพาตัวเอง การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ การจ้างงานในชุมชน การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล

รวมทั้งในแพ็คเกจแรกมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยวหลายโครงการ เช่น โครงการเที่ยวไปด้วยกัน 20,000 ล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูกำลังแรงงานไทย ปัจุบันอยู่ที่ 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบ 17.1 ล้านคน และนอกระบบที่ 20.3ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็น ลูกจ้างรัฐ 3.3 ล้านคน ลูกจ้างเอกชน 12.9 ล้านคนนายจ้างอิสระ 0.9 ล้านคน แรงงานอิสระ 8.8 ล้านคนและเกษตรกร 11.5 ล้านคน

โดยหากดูแรงงานกลุ่มเสี่ยง ทั้งว่างงาน เด็กจบใหม่ ชั่วโมงการทำงานต่ำในปัจจุบันมีเกือบ 3 ล้านคน โดยเป็น กำลังแรงงานที่ว่างงาน ปัจจุบันอยู่ที้่ 4.8 แสนคนที่มีการขอสวัสดิการจากประกันสังคมและเด็กจบใหม่ต่อปี 4.5แสนคน ทั้งนี้หากดูกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะว่างงานจากอุตสาหกรรมเสี่ยง หรือมีชั่วโมงการทำงานต่ำพบว่า มีถึง 1.76 ล้านคน

ดังนั้นภาคแรงงานถือว่ามีความเปราะบางสูงมาก โดยเฉพาะแรงงานที่มีชั่วโมงกรทำงานต่ำ หากเกิดโควิด-19ระลอกสอง หรือผลกระทบจากต่างประเทศเชื่อว่าจะเห็นกลุ่มที่แรงงานในกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสว่างงานสูงขึ้น

หากดูความเปราะบางของภาคธุรกิจตามเซกเตอร์พบว่ากลุ่มเสี่ยง คือธุรกิจโรงแรม กลุ่มนี้ มีการจ้างงานแรงงานมากถึง 4 แสนคนกลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการเลิกจ้างชะลอการผลิต กลุ่มนี้มีแรงงานสูงถึง 1.1 ล้านคน และกลุ่มอสังหา ที่แรงงาน3 แสนคน

ทั้งนี้หากดูมาตรการภาครัฐ ที่ช่วยเกี่ยวกับการจ้างานรักษาการจ้างงาน ที่ทำไปแล้ว ที่เห็นชัด คือ การจ้างเด็กจบใหม่ แต่มาตรการที่เกี่ยวกับการประคองหรือรักษาการจ้างงานอันนี้ยังไม่เห็น โดยเฉพาะกลุ่มที่รับเงินจากสวัสดิการประกันสังคม กลุ่มนี้ 4.8แสนคนปัจจุบันเริ่มทยอยรับสวัสดิการว่างงานครบแล้ว ดังนั้นหากภาครัฐไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้ในระยะข้างหน้า อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสู่ระบบเศรษบกิจในระยะข้างหน้าได้

เช่นเดียวกันกับกลุ่ม ที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำที่มีถึง 1.7ล้านคน ปัจจุับนยังไม่มีมาตรการของภาครัฐมารองรับกลุ่มนี้ เพื่อรักษาระดับการจ้างงานไว้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเช่นมาตรการมารองรับสองกลุ่มนี้ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน หรือการสนับสนุนให้เอกชน ไม่ปลดคนงานและการการันตีชั่วโมงการทำงานไม่ให้ต่ำเกินไป

"วันนี้รัฐต้องเร่งทำ ในการออกมาตรการช่วยแรงงาน โดยเฉพาะผ่านงบ 4 แสนล้านบาท ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำ เพราะหากไม่เร่งทำมาตรการการตอนนี้ ข้างหน้าอาจเห็นคนว่างงานเพิ่มขึ้น เห็นกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น หากโควิด-19 กลับมาระบาดครั้งใหม่อันนั้นจะกลับมาเป็นปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก