“กรณ์”ขุนพลใหม่ “ไรมอนแลนด์” รีเฟรชแบรนด์ "หรูยังเจน" 

“กรณ์”ขุนพลใหม่ “ไรมอนแลนด์”  รีเฟรชแบรนด์ "หรูยังเจน" 

“ไรมอน แลนด์” หนึ่งในผู้นำอสังหาริมทรัพย์หรู (ลักชัวรี่) ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ในวันที่โลกเผชิญโควิด เป็นจังหวะเดียวกับการเปลี่ยนขุนพล เป็นหนุ่มหน้ามน "กรณ์ ณรงค์เดช" เจ้าตัวลั่น! ขอ "รีเฟรช" แบรนด์ เจาะยังเจน ฝ่าวิกฤติ

ย้อนกลับไป 33 ปี คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ “ไรมอน แลนด์” ก่อตั้งในปี 2530 โดยเน้นเจาะตลาดอสังหาฯหรู ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาด 12% พัฒนาโครงการไปแล้วกว่า 1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) จำนวน 5,368 ยูนิต มูลค่ารวม 68,400 ล้านบาท

ที่ผ่านมายังมีการเปลี่ยนกลุ่มทุนถือหุ้นมาแล้วหลายครั้ง เริ่มก่อตั้งโดย บริษัท ปิอาซ่าการ์เมนท์ จนเปลี่ยนมือสู่นักลงทุนต่างชาติ 3 ครั้ง กลุ่มล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2556 ซึ่งบริษัท JS Asset Management ทุนสิงคโปร์เข้ามาปรับโครงสร้างองค์กร ได้เปิดตัวผู้บริหารใหม่ “ไลโอเนล ลี” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ. ไรมอน แลนด์ ในปี 2561 โดยประกาศนำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์เสริมพอร์ตธุรกิจให้หลากหลาย ดันรายได้แตะ10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2562-2566)

ประกอบด้วย การลดสัดส่วนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย (Resident) จากเกือบ 100% ลงเหลือ 70% และเพิ่มพอร์ตรายได้ประจำ สัดส่วน 30 % จากที่มีอยู่ 5% ภายใน 5 ปี ประกอบด้วย สำนักงานให้เช่า ธุรกิจโรงแรม และอาหาร ตลอดจนธุรกิจสุขภาพ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงเปิดโครงการบิ๊กโปรเจค อย่าง วัน ซิตี้ เซ็นเตอร์ (One City Centre-OCC) สำนักงานให้เช่าย่านเพลินจิต มูลค่า 8,800 ล้านบาท หวังเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งใจกลางกรุง รวมถึงการเตรียมเปิดตัวธุรกิจโรงแรม ภายใต้เชน Kitch Hotel และยังพัฒนาเชนอื่นๆ เช่น ฟู้ดโฮเทล รวมไปถึงธุรกิจสุขภาพ ตลอดร่วมทุนกับธุรกิจร้านอาหาร บ้านหญิง และ บะหมี่ ติงติง (Dink Dink)

พร้อมกันนั้น ยังมีพันธมิตรไทยอย่าง เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด (KPNL) เข้ามาร่วมทุนในรูปแบบโอนกิจการทั้งหมด และจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทให้ KPNL จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดหนักตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ลูกค้าหลักต่างชาติเดินทางมาโอนกรรมสิทธิ์โครงการไม่ได้ แม้ไลโอเนล จะหาทางรอดดึงผู้ซื้อคนไทยทดแทน จัดโปรโมชั่นลดราคา เพิ่มกระแสเงินสด ไลโอเนลสู้กับวิกฤติสักพัก เพราะต้องการพิสูจน์ว่าเขาคือทุนสิงคโปร์ที่ชิงธงชัยอสังหาฯไนไทย

ทว่า พายุโควิด-19 แรงเกินกว่าเขาจะต้านทานได้ ในที่สุดก็ต้องโบกมือลาขอถอยทัพ "เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนขุนพลกลางสนามรบ อสังหาฯไทย ขายหุ้นให้กับทุนสิงคโปร์อีกราย ภายใต้ เมซ่า ไทย สัดส่วนหุ้น 21.4% โดยเจ้าของคือ ควี ลีออง เต็ก (Mr.Kwee Liong Tek) ประธานกรรมการบริหารบริษัท พอนเทียค แลนด์ จำกัด( Pontiac Land Pte.Ltd) ธุรกิจในเครือมีทั้งโรงแรม รีสอร์ท และที่อยู่อาศัย และศูนย์การแพทย์ เจ้าของเชนโรงแรมลงทุนไปทั่วโลก อาทิ ริทซ์-คาร์ลตัน มิลเลนเนีย สิงคโปร์ (Ritz-Carlton Millenia Singapore), คอนราด เซนเทนเนียล สิงคโปร์ (Conrad Centennial Singapore), รีเจนท์ ซิดนีย์ (Regent Sydney), มิลเลนเนีย ทาวเวอร์ (Millenia Tower), เซนเทนเนียล ทาวเวอร์ (Centennial Tower), แคมเดน เมดิคอล เซ็นเตอร์ ในสิงคโปร์ (Camden Medical Centre, Singapore), 53 เวสท์ 53 ในนิวยอร์ก (53 West 53, New York) และเดอะ โคลอนนาดด์ ในสิงคโปร์ (The Colonnade, Singapore)

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ไรมอน แลนด์ จึงเกิดการปรับทัพอีกรอบ โดยมีชื่อของ กรณ์ ณรงค์เดช” เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) นักธุรกิจที่อยู่ในวงการอสังหาฯ20 ปี จากค่ายเคพีเอ็น แต่คนมักรู้จักเขาในแวดวงบันเทิงมากกว่า

โดยเจ้าตัวเล่าว่า เป็นคนที่เริ่มปักธงธุรกิจอสังหาฯให้กับตระกูล ณรงค์เดช” จากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวคือ โรงงานอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ ยามาฮ่า และนิสสัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา "กรณ์" ซึ่งเพิ่งเรียนจบจากอังกฤษไม่สนใจ จึงขอเวลาอยู่อังกฤษต่อพร้อมกับลงคอร์ส ออกแบบและตกแต่งภายใน (Interior Design) จนนำแพสชั่นมาสู่การเป็นนักลงทุน ทำรายได้การซื้อห้องมาตกแต่งแล้วขายต่อทำกำไร นั่นจึงทำให้เขาชิมลาง "ขอเปิดหน้าดินผืนใหม่” พัฒนาโครงการแรก เป็นคอนโดโลว์ไรส์ ตึก 8 ชั้น คอนโดบูทิค ตั้งอยู่ซอย สุขุมวิท 39 ขายหมดภายใน 1 เดือนครึ่ง ตามมาด้วย คอนโดโลว์ไรส์อีกแห่งที่สุขุมวิท 49 ก็ขายหมดภายใน 6 เดือน

สมัยก่อนที่บ้านทำอุตสาหกรรมโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มองว่าไม่ใช่สไตล์เรา หลังเรียนจบจึงไปเทคคอร์ส Interior มีแพสชั่นในการออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยให้คนพอใจกับผลงานของโครงการเรา"

เมื่อเกิดความมั่นใจจึงพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ขึ้นทั้ง เดอะ แคปปิตอล ราชปรารภ-วิภาวดี หรือ เดอะ แคปปิตอล เอกมัย-ทองหล่อ , ดิโพลแมท สาทร และ ดิโพลแมท สุขุมวิท 39 หลังจากพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ตึก 4 แท่ง จึงนำโครงการมาพัฒนาร่วมทุนกับไรมอน แลนด์ จนนำมาสู่การก้าวขึ้นมาถือหุ้นใหญ่ในเวลาต่อมา โดยโปรเจคยักษ์ใหญ่ที่ทำให้เคพีเอ็น สนใจมากที่สุดคือ โครงการ OCC และโครงการดิ เอสเทล พร้อมพงษ์ (The Estelle Phrom Phong)

“โอซีซี เป็นโปรเจคภาคภูมิใจ จริง ๆ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เคพีเอ็นมาจอยกับไรมอน แลนด์ 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานเกรดเอ ที่เป็นไอคอนนิคและเดสติเนชั่น ของคนกรุงฯ"

กรณ์เล่าว่า การปรับโครงสร้างองค์กครั้งนี้กลางสมรภูมิรบโควิดที่ยังไม่จบเช่นนี้ ต้องกลับมาดูที่ธุรกิจหลักที่ “ไรมอน แลนด์” ถนัดเป็นหลัก นั่นคือที่อยู่อาศัยลักชัวรี่และหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจมาแรงหลังโควิด-19 ระดับ 4-5 ดาว มีโอกาสปิดดีลอยู่ระหว่างเจรจา ขณะที่ธุรกิจสำนักงานก็เดินหน้าต่อไป ส่วนธุรกิจร้านอาหาร จะขายหุ้นออกไปให้กับผู้ร่วมทุน หรือ ผู้สนใจลงทุน เพื่อหันมาโฟกัสแค่เพียง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ เรสซิเดนท์, โรงแรม และสำนักงาน

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเสริมความแกร่งให้กับไรมอนด์แลนด์ ที่มีภาพลักษณ์แบรนด์โดดเด่นและรับรู้ในตลาดต่างชาติอยู่แล้ว ในกลุ่มลักชัวรี่อยู่แล้ว 2.5-3 แสนต่อตร.ม.โดยการผนึกกำลังกับผู้ถือหุ้นที่ล้วนเป็นสุดยอดของนักพัฒนาโครงการลักซัวรี่ ทั้ง เมซ่า ไทย และ เคพีเอ็น เพียงแต่ด้วยความที่อยู่ในตลาดมายาวนาน จึงต้องปรับกลยุทธ์หันมา “รีเฟรช แบรนด์ ให้ดูทันสมัย และสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

ลูกค้าที่มีกำลังซื้อตลาดลักชัวรี่ที่ผ่านมาจะอายุราว 40-50 ปี แต่วันนี้ ฐานลูกค้าเด็กขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม 20-30 ปี เริ่มมีอำนาจการตัดสินใจ รายได้เพิ่มขึ้นจึงมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เข้าถึงตลาดลักชัวรี่มากขึ้น เราจึงต้องรักษาตลาดเก่าและขยายฐานลูกค้าใหม่ 

ในช่วงโควิด-19 ธุรกิจอสังหาฯ ต่างเจ็บหนักจากการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ลูกค้าต่างชาติโควตา 49% ต่อโครงการ ที่บินมาโอนกรรมสิทธิ์คอนโดที่จองไปแล้วไม่ได้ นี่จึงเป็นภาระหนักในการแบกสต็อกของโครงการสร้างเสร็จ จึงได้เห็นปรากฎการณ์คอนโดหรูเซลล์ลดราคาเพื่อดึงกระแสเงินสดให้ประคับประคองตัวผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ส่วนโครงการอื่นๆ ที่มีแผนจะเปิดตัวโครงการก็ต้องชะลอไป ยกเว้นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

แผนที่เหลือก่อนสิ้นปีจึงมุ่งเน้นที่การระบายสต็อกสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) 5 โครงการ ประกอบด้วย เดอะ ลอฟท์ (The Lofts) สีลม, อโศก, ดิโพลแมท สาทร (Diplomat), เดอะ ริเวอร์ และ มิวส์ (Mews) เย็นอากาศ รวมทั้งสิ้น 2,904 ล้านบาท 

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย เดอะลอฟท์ ราชเทวี, เทล (Tail12) และ ดิเอสเทล พร้อมพงษ์ (The Estelle)

ในภาวะวิกฤตินอกเหนือจากบริหารธุรกิจนำพาองค์กรให้อยู่รอดแล้ว สิ่งสำคัญการมีทัศนคติที่เป็นบวก เปลี่ยนความกลัว (Fear) เป็นความเชื่อมั่นและศรัทธา (Faith) แสดงภาวะความเป็นผู้นำ สื่อสารกับพนักงาน สร้างความเข้าใจในจุดยืนองค์กร และอนาคตที่จะก้าวไปกับองค์กร เพื่อเป้าหมายที่วางไว้ที่ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2566

คิดว่าความยากลำบากในวันนี้ทุกคนก็เจอเหมือนกัน ต้องมองวิกฤติให้เป็นโอกาส และทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันให้ชัดเจน ในจุดยืนขององค์กร และอนาคตที่จะก้าวไป เพื่อเชื่อมั่นแล้วร่วมเดินไปด้วยกัน ขุนพล ไรมอน แลนด์ กล่าวทิ้งท้าย