7 ทักษะ 'ผู้นำ' สไตล์ 'ซิกเว่ เบรคเก้' ผ่านมุมมอง 'ธนา เธียรอัจฉริยะ'

7 ทักษะ 'ผู้นำ' สไตล์ 'ซิกเว่ เบรคเก้' ผ่านมุมมอง 'ธนา เธียรอัจฉริยะ'

หมดยุคหัวหน้างานที่แค่ชี้นิ้วสั่ง! ศตวรรษที่ 21 กำลังต้องการ "ผู้นำ" ยุคใหม่ ที่สามารถดึงศักยภาพของทีมงานได้ดี และบาลานซ์งานกับชีวิตได้อย่างสมดุลกว่าที่เคย กับกรณีศึกษา "ซิกเว่ เบรคเก้" ผ่านมุมมอง "ธนา เธียรอัจฉริยะ"

ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น มักมากับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น ไม่ว่ายุคสมัยไหนความท้าทายของการนั่งตำแหน่ง "หัวหน้า" "ผู้บริหาร" หรือ "ผู้นำ" ไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ ก็คือการ "บริหารคน" ที่ยิ่งทำได้ดีเท่าไร ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากเท่านั้น

งานสัมมนา "Brand inside forum 2020 New Workforce" พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำงานยุคใหม่ ที่กำลังขับเคลื่อนด้วยคนเจนเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ทำให้เก้าอี้คนที่เป็น "ผู้นำ" ในศตวรรษที่ 21 ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการทำงานแบบใหม่ให้ได้ เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงฉับพลันที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

การชี้นิ้วสั่งชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ในยุคนี้ นอกจากจะไม่ได้นกหรือไม้อย่างใจแล้ว ในบางครั้งอาจสูญเสียความเชื่อมั่นจากทีมงานไปเลย เพราะคนทำงานยุคใหม่ชอบการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และไม่ได้ภักดีกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นเวลานาน ต้องการความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

ผู้นำที่ตอบโจทย์ของทีมงานรุ่นใหม่ไฟแรง โดยเฉพาะ GenZ (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นไป) ที่กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องเป็น "ผู้นำ" ที่นอกจากจะต้องเก่งแล้ว ยังต้องทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกอยากทำงานด้วย

ธนา เธียรอัจฉริยะ กรรมการ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสปีคเกอร์ของ Brand inside forum 2020 ที่ยก "Sigve Brekke" (ซิกเว่ เบรคเก้) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Telnor Group และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ขึ้นมาเป็นตัวอย่างผู้นำที่มีแนวคิดและลักษณะการบริหารที่น่าร่วมงาน ตามแนวโน้มผู้นำยุคใหม่ในปี 2021 ผ่าน "7 ทักษะที่ผู้นำ" ที่น่าสนใจ ดังนี้

160528130161

 1. Leaders are chief storyteller: ผู้นำคือนักเล่าเรื่อง 

ผู้นำคือนักเล่าเรื่องคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ทั้งเรื่องของบริษัทและอื่นๆ ที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ การเล่าเรื่องของผู้นำจะมีส่วนช่วยจุดประกายทีมงานในมิติต่างๆ และเป็นการสื่อสารให้ทีมรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อขับเคลื่อนทีมในทางอ้อม 

 2. Strategy = simple focus and actionable: ใช้กลยุทธ์ที่เข้าใจง่าย 

กลยุทธ์ขององค์กรต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ที่ทำให้พนักงานทุกระดับสามารถเข้าใจกลยุทธ์ที่ตรงกัน และขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 3. What gets measured, get done: วัดผลได้ 

การวัดผลคือสิ่งที่สามารถสะท้อนว่าผลลัพธ์ของกระบวนการต่างๆ ที่ลงมือทำ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทำจึงต้องวัดผลได้ และทำให้ทุกคนเข้าใจความสำเร็จในทิศทางเดียวกันได้

 4. Stay honest: เปิดเผยอย่างซื่อสัตย์ 

ความซื่อสัตย์คือคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำต้องมี เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ควรเปิดเผยรายละเอียด สถานะบริษัท และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 5. Leaders walk the talk: ทำงานด้วยเท้า 

การเดินไปคุยกับพนักงาน พาร์ทเนอร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับงานต่างๆ จะช่วยให้เข้าถึงปัญหา เข้าใจกระบวนการทำงานได้ดีมากกว่าแค่นั่งบริหาร

 6. Remember to Celebrate: เฉลิมฉลองทุกชัยชนะ 

อย่าลืมที่จะเฉลิมฉลอง แม้แต่ความสำเร็จเล็กๆ เพื่อให้กำลังใจทีม ลดช่องว่าง และส่งสัญญาณกับทีมงานว่าเดินมาถูกทางแล้ว

 7. Everyone is important: ทุกคนเท่าเทียมกัน 

สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ "ผู้นำ" ต้องมี คือการให้ความสำคัญกับทุกหน่วยในองค์กร ชี้ให้เห็นว่าทุกคนสำคัญ ลดช่องว่างความสัมพันธ์ในองค์กร เข้าไปนั่งในใจของทีมงาน

นอกจากนี้ ธนา ยังกล่าวอีกว่า ภารกิจสำคัญที่ "ผู้นำที่ดี" ในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีคือการเป็นผู้ "สร้างบรรยากาศที่น่าทำงาน" ให้กับทีม นั่นคือสร้างบรรยากาศให้ทุกคนกล้าเปล่งประกายไอเดีย หรือดึงศักยภาพของตัวเองออกมา โดยไม่มองว่าใครโง่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมสามารถผลักดันงานที่มีทั้งประสิทธิภาพและมีความสบายใจในการทำงานได้ในเวลาเดียวกัน