ย้อนภาพประวัติศาสตร์ ‘ในหลวง’ และรถไฟไทย ก่อนพิธีเปิด ‘สายสีน้ำเงิน’

ย้อนภาพประวัติศาสตร์ ‘ในหลวง’ และรถไฟไทย ก่อนพิธีเปิด ‘สายสีน้ำเงิน’

"ในหลวง ร.10" จะเสด็จเปิดเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย. 63) เนื่องในโอกาสนี้ ชวนคนไทยย้อนดูประวัติศาสตร์ "กษัตริย์ไทย" กับต้นกำเนิดการขนส่งโดยรถไฟ และขบวนรถไฟพระที่นั่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ มีประกาศจาก กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ระบุว่า ขอเชิญประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร-สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 พ.ย. 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

ทาง BEM แจ้งเพิ่มเติมว่าจะมีการ ปิดการให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ชั่วคราว เพื่อประกอบพิธีเปิดเดินรถไฟฟ้ามหานครในสายดังกล่าว โดยปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้าสามยอด และ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเสร็จสิ้นพิธี และปิดให้บริการ สถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ ยาวไปจนถึง สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึงเสร็จสิ้นพิธี

อ่านข่าว :  'ในหลวง-ราชินี' ทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย 'เฉลิมรัชมงคล' ส่วนต่อขยาย

160525462370

ก่อนจะถึงวันสำคัญดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนคนไทยมาย้อนรอยชมภาพประวัติศาสตร์ "กษัตริย์ไทย" กับเรื่องราวต้นกำเนิดการรถไฟไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

  • ร.5 และต้นกำเนิด "รถไฟไทย" ขบวนแรก

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เหตุบ้านการเมือง ณ ขณะนั้น เป็นยุคที่อังกฤษและฝรั่งเศสขยายอาณานิคมแผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน ด้วยเกรงว่าจะทรงบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตได้ไม่ทั่วถึง พระองค์จึงทรงเห็นว่าควรสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศไทย เพื่อสะดวกแก่การปกครอง การตรวจตราป้องกันการรุกราน เป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนเข้าบุกเบิกพื้นที่รกร้าง ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และมีทางแยกเมืองสระบุรี-เมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง / จากเมืองอุตรดิตถ์-ตำบลท่าเดื่อ ริมฝั่งแม่น้ำโขง สายหนึ่ง / จากเมืองเชียงใหม่-เชียงราย-เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2433 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง "กรมรถไฟ" ขึ้น 

160525997688

  • ร.5 เสด็จฯ เปิดการเดินรถไฟขบวนแรกของไทย

ในปี พ.ศ.2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - นครราชสีมา สำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้ ดังนั้นในวันที่ 26 มี.ค. 2439 รัชกาลที่ 5 จึงทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร เป็นขบวนแรกในประเทศ และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นต้นไป ซึ่งการรถไฟฯ ได้ถือเอา "วันที่ 26 มีนาคม" เป็น วันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อจากนั้นก็ได้เปิดการเดินรถต่อไปอีกเป็นระยะๆ จากอยุธยา ถึง แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2443 การสร้างทางรถไฟสายนครราชาสีมา ได้เสร็จเรียบร้อย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถสายนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2443 รวมระยะทางจาก กรุงเทพ - นครราชสีมา ทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร 

160525997782

  • การรถไฟไทยในสมัย ร.6

หลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแทนพระบรมราชชนก ทรงพิจารณาเห็นว่ากิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ ซึ่งแยกกันอยู่ ไม่สะดวกแก่การบังคับบัญชาและบริหารงาน ตลอดจนไม่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" ในวันที่ 5 มิถุนายน 2460 

ต่อมาในสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงอยู่นั้น ทรงเห็นว่าการใช้รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไฟนั้น ไม่สะดวก ไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟก็กระจัดกระจายออกมาเป็นอันตรายได้ พระองค์จึงทรงสั่งรถจักรดีเซลจำนวน 2 คันมาจากสวิสเซอร์แลนด์ นำเข้ามาใช้ในไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ออกวิ่งรับใช้ประชาชนเมื่อ พ.ศ.2471

  • รถไฟพระที่นั่ง จาก ร.5 ถึง ร.9

โดยปกติแล้ว เมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ ทางกรมรถไฟหลวง (หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย) จะถวายรถไฟพระที่นั่ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยเฉพาะ โดยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทางรถไฟปฐมฤกษ์ จากกรุงเทพ - กรุงเก่า โดย รัชกาลที่ 5

ต่อมาใน พ.ศ.2469 และได้จัดซื้อรถพระที่นั่งบรรทมเพิ่ม 1 คัน และ รถพระที่นั่งกลางวันอีก 1 คัน เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชพาหนะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยตัวคันรถพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ มีความวิจิตรประณีต ตกแต่งภายในสวยงามตระการตา รถไฟดังกล่าวถูกใช้เป็นราชพาหนะจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2511 จึงปลดระวาง รวมอายุการใช้งานทั้งสิ้น 52 ปี

ต่อมาในสมัย ร.9 ในปี พ.ศ.2503 ทางการได้เห็นสมควรที่จัดหารถพระที่นั่งใหม่จำนวน 3 คัน เพื่อทดแทนรถพระที่นั่งที่ปลดระวางไป โดยทั้ง 3 คัน ประกอบด้วย รถพระที่นั่งประทับกลางวัน (พนก.) / รถพระที่นั่งกลางวันและบรรทม (พกท.) / รถพระที่นั่งบรรทม (พนท.) มีการใช้งานเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2510

160525462393

  • การเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟของ "ในหลวง รัชกาลที่9"

ครั้งที่ 1 : 29 เม.ย. 2493 ในหลวง ร.9 และพระราชินี เสด็จประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 2 : 12 ธ.ค. 2496 เสด็จเปิดสะพานพระราม6 (พระนคร) หลังซ่อมบำรุงจากสภาวะสงคราม

ครั้งที่ 3 : 18 พ.ค. 2498 เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 4 : 2-20 พ.ย. 2498 เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร จังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ครั้งที่ 5 : 7 ก.พ. 2500 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

ครั้งที่ 6 : 18 มี.ค. 2500 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

160525462235

ครั้งที่ 7 : 27 ก.พ. - 18 มี.ค. 2501 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกร จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ

ครั้งที่ 8 : 6-28 มี.ค. 2502 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิการ จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้

ครั้งที่ 9 : 7 เม.ย. 2502 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 10 : 16 เม.ย. 2504 เสด็จฯ ทรงต้อนรับประธานาธิบดี ซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย จากดอนเมือง

ครั้งที่ 11 : 8 มิ.ย. 2504 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 12 : 8 ธ.ค. 2504 ทรงต้อนรับประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ที่สถานีจิตรลดา (ไม่ได้ประทับบนรถไฟ)

ครั้งที่ 13 : 12 ม.ค. 2505 เสด็จฯ ทรงต้อนรับ สมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด

ครั้งที่ 14 : 15 ม.ค. 2505 เสด็จฯ นำสมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน และการคล้องช้างในเพนียด

ครั้งที่ 15 : 16 ม.ค. 2505 เสด็จฯ นำสมเด็จพระเจ้าเฟร์เดริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ค และสมเด็จพระราชินีอินกริด ไปยัง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อทรงเปิดฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค

160525462322

ครั้งที่ 16 : 26 มี.ค. 2506 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 17 : 2 พ.ค. 2506 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล

ครั้งที่ 18 : 26 ต.ค. 2506 เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน และทรงเยี่ยมพสกนิกร จ.กาญจนบุรี

ครั้งที่ 19 : 16 พ.ย. 2508 เสด็จฯ พระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี

ครั้งที่ 20 : 19 มี.ค. 2508 เสด็จฯ ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

160525462367

160525462344

ครั้งที่ 21 : 6 มิ.ย. 2508 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระราชวังไกลกังวล

ครั้งที่ 22 : 3 มิ.ย. 2509 เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดโสธรวรารามราชวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา

ครั้งที่ 23 : 3 ก.พ. 2510 เสด็จฯ นิวัติจากการเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ มาประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน

ครั้งที่ 24 : 23 พ.ค. 2510 เสด็จฯ กลับจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดบรมธาตุไชยา

ครั้งที่ 25 : 22-23 พ.ค. 2517 เสด็จฯ ไปประทับแรม ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงเททองหล่อพระประธานวัดโคกเมรุ อ.ฉวาง

ครั้งที่ 26 : 4 ส.ค. 2517 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

ครั้งที่ 27 : 25-28 ส.ค. 2517 เสด็จฯ จากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ไปประทับแรม ณ ที่ประทับแรม โรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง (ที่วัง)

ครั้งที่ 28 : 22 ก.ย. 2517 เสด็จฯ นิวัติพระนคร จากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ครั้งที่ 29 : 5 ก.ค. 2531 เสด็จฯ ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเส้นทางจิตรลดา - อยุธยา อันเป็นครั้งล่าสุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟพระที่นั่ง

  • ร.9 เคยเสด็จเปิด รถไฟฟ้ามหานคร ปี 2547

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถ “โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจตลอดจนกำลังใจให้กับผู้บริหารและพนักงาน รฟม. ในการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

160525462220

--------------------

อ้างอิง :

facebook.com/ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย/

www.mot.go.th

mrta.co.th/th/news/information

metro.bemplc.co.th