เปิดประวัติแพทย์ผู้คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี63

เปิดประวัติแพทย์ผู้คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี63

ศิริราช ประกาศ 2 แพทย์ต่างชาติ คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี63 “วาเลนติน ฟัสเตอร์”จากอเมริกา สาขาการแพทย์ “ศึกษาเกล็ดเลือดกับการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ” “เบอนาร์ด พีคูล”จากฝรั่งเศส สาขาการสาธารณสุข  “จัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย”  

   เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก   ตึกสยามินทร์  ชั้น 2  โรงพยาบาลศิริราช   ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายธานี  แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ครั้งที่ 29    ประจำปี  2563  

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์                 ได้แก่    ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.)จากสหรัฐอเมริกาสาขาการสาธารณสุข ได้แก่    นายแพทย์เบอนาร์ด  พีคูล  (Bernard Pécoul, M.D., MPH. จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563  ทั้งสิ้น 44 ราย จาก 18 ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2563, 2562, 2561 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ  ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นประธาน  พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2563

    ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์  (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.)ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลเม้าท์ไซนาย นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติ กรุงมาดริด ประเทศสเปน หัวหน้ากองบรรณาธิการ วารสารวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกา สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยบาเซโลน่า ประเทศสเปน  และดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร

160516587719

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์  ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ  โดยเริ่มในสัตว์ทดลอง และต่อมาได้ต่อยอดมาเป็นการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย  ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วย
           อีกทั้งองค์ความรู้ที่ได้นี้มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด   องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ  ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฟัสเตอร์  ได้ช่วยทำให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในผู้ป่วยลดลงอย่างมาก    และยังช่วยปรับปรุงให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

จากผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์ ที่เชื่อมโยงนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐาน ไปต่อยอดจนกระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่ตีบตัน ผลงานนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนับล้านคนทั่วโลก

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563สาขาการสาธารณสุข

นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล   (Bernard Pécoul, M.D., MPH.) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร องค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย  Drugs for Neglected Diseases initiative (DNDi) สาธารณรัฐฝรั่งเศส  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคลมองท์ เฟอร่องด์ (Clermont-Ferrand University) สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยทูเลน  สหรัฐอเมริกา

160516589845

ก่อนที่ นายแพทย์พีคูล จะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) นั้น นายแพทย์พีคูล เป็นผู้อำนวยการบริหารในองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเซีย

ในขณะที่ทำงานในประเทศยูกันดา นายแพทย์พีคูล   พบมีการใช้ยา เมลาโซพรอล (Melarsoprol)   ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารหนู ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิส (African trypanosomiasis) หรือ โรคเหงาหลับ (Sleeping sickness) และพบผู้ป่วย 1 ราย ใน 20 รายที่ได้รับอนุพันธ์นี้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ที่มีการขาดยารักษาที่มีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงนี้ ทำให้ นายแพทย์พีคูล ตัดสินใจจัดทำ โครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiativeDNDi) ขึ้นในปี พ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย

ภายใต้การบริหารของ นายแพทย์พีคูล โครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย ได้ขยายเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร สร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนหลากหลายองค์กร   อาทิ มูลนิธิบิลเกตส์, เวลคัม ทรัส, หน่วยงานในยุโรปและบริษัทยาหลายแห่ง   จนถึงปัจจุบันก่อให้เกิดวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ถูกละเลย  รวม 8 ชนิด รักษาโรคมาลาเรีย โรคเหงาหลับ โรคVisceral leishmaniasis  และโรคChagas disease

ยาเหล่านี้ถูกบรรจุให้เป็นแนวทางในการรักษาโรค   ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เป็นยารักษาตัวแรกสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Neglected tropical diseases) ในหลายประเทศ ขณะนี้มีการพัฒนาสารใหม่มากกว่า 20 ชนิด  และมีการศึกษาทดลองทางคลินิกมากกว่า 20 การศึกษา

ในฐานะผู้อำนวยการ นายแพทย์พีคูล ได้ประสานงานวิจัยและร่วมมือพัฒนา ริเริ่มและบริหารจัดโครงการวิจัย ซึ่งประกอบ ด้วยทีมงานและนักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินโครงการในส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาและลาตินอเมริกา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งมอบการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิภาพจำนวน 16 ชนิดจาก 18 ชนิด สำหรับโรคที่ถูกละเลยให้แก่ผู้ป่วย ภายในปี พ.ศ.2566 จนถึงปัจจุบัน DNDi ได้ส่งมอบยาใหม่ถึง 8 ชนิด ซึ่งช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

ผลงานของนายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล  ได้มีส่วนสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรนับล้านคนทั่วโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้น้อย ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ถูกละเลย

อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี  แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535   ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล,  ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ