Geo Information Goods แพลตฟอร์มเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

Geo Information Goods แพลตฟอร์มเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

Geo Information Goods หนึ่งในแนวคิดของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีความสมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการพุ่งเป้าหมายไปที่เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเข้ามาแก้ปมปัญหา ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ภัยธรรมชาติ รวมถึงกลไลต่างๆ ที่ปัจจัยรั้งการเติบโต

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นอกจากความพยายามควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสและเร่งคิดค้นวัคซีนแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบทางลบในด้านเศรษฐกิจแตกต่างกันไปตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยซึ่งแม้จะควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้สำเร็จ แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศสูง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้แรงงานต่างด้าว ก็ทำให้ถูกกระทบมากจากมาตรการปิดเมืองและการมีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ

การคิดใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีความสมดุลและยืดหยุ่นขึ้นจึงมีความสำคัญ โดยนอกจากการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลของทุกภาคส่วนแล้ว การเพิ่มความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy ก็เป็นอีกทิศทางหนึ่งที่จะต้องทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น

จากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อ-ขายจากร้านที่มีหน้าร้านไปสู่การซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่งทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์เพื่อจ่ายค่าสินค้าได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย เพราะมีการรับเงิน โอนเงิน จ่ายเงิน ผ่านทางแอพพลิเคชั่นแทนการไปธนาคาร ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อรองรับลูกค้าจำนวนมาก

นอกจากนี้ เมื่อมองในมุมนโยบายทางสังคม พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่อยู่ในภาคการผลิตต้นทางให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจฐานรากในประเทศไทยมีปัญหา (Pain Point) ที่สำคัญคือ (1) การขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหรือนอกภาคเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม (2) ภัยธรรมชาติและโรคหรือแมลงศัตรูพืชที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร 

(3) การขาดแหล่งรับซื้อ ตลาดหรือกลไกเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ และ (4) การบริหารจัดการสินค้า ทั้งกรณีสินค้าล้นตลาด สินค้าขาดคุณภาพ ขาดการจัดเกรด รวมทั้งขาดการสร้างแบรนด์หรือเรื่องราวให้มีความน่าสนใจ

โซลูชั่นหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการระดมความคิดเห็นจากห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy Lab ของ GISTDA คือการสร้าง Geo Information Goods Platform ซึ่งใช้ประโยชน์ของบิ๊กดาต้าทั้งด้านพื้นที่ การผลิตและการตลาดจากภาครัฐและเอกชน เพื่อวางแผนการผลิต คาดการณ์การตลาด และดูแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค ที่จะช่วยให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการ (demand driven) ของผู้บริโภค ตอบรับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในช่วงโควิดและหลังโควิดที่เน้นอาหารปลอดภัย (food safety) อาหารเพื่อสุขภาพและออแกนิก สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะนำเสนอข้อมูลในพื้นที่ทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก การรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ทั้งแหล่งผลิต รับซื้อ ชนิด ราคา แหล่งจำหน่าย ข้อมูลผู้ผลิต ที่ผ่านช่องทางการจำหน่ายระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต ตลอดจนการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการ ทั้งการผลิต สภาพอากาศ โรค แมลงและน้ำ ให้บูรณาการอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันให้เป็นแพลตฟอร์มกลาง เพื่อเสริมการสร้างมูลค่าจากสินค้าเกษตร พร้อมๆ กับยกระดับสินค้าเกษตร ลดปัญหาสินค้าล้นตลาดและขาดคุณภาพ

หน่วยงานรัฐที่มีบทบาทภารกิจในการสนับสนุน หรือภาคเอกชนที่สนใจดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปวางแผนคาดคะเนพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ตั้งแต่การใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบ (Input Database) ไปจนถึง Big Geo-Spatial Data หรือข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างภาพถ่ายจากดาวเทียม 

เพื่อการวางแผนเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง การลดต้นทุนการผลิตจากการหาแหล่งผลิตที่ไม่ห่างไกลจากฐานการผลิต ใช้การประมวลผลด้วย Machine Learning และ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพ การระบุพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ขนาดพื้นที่ คาดการณ์ผลผลิต และช่วยให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ดีขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ (แหล่งผลิต รับซื้อ แหล่งจำหน่าย ข้อมูลผู้ผลิต) ตลอดจนการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานอย่างครบวงจร และช่วยให้ภาครัฐวางแผนบริหารจัดการสินค้าภาคการเกษตรได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ การพัฒนา Geo Information Goods Platform ยังสามารถต่อยอดไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าในการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ไปจนถึงการศึกษาเพื่อการนำฐานข้อมูลการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและการเชื่อมโยงพลภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ

วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลในยุคปัจจุบันมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทยฟื้นจากวิกฤติด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม