โควิด-19 ทำคนไทย "จนลง" 1 ใน 3 ต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ

โควิด-19 ทำคนไทย "จนลง" 1 ใน 3 ต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ

เปิดผลสำรวจผู้บริโภคอาเซียนช่วงโควิด "คนไทย" 77% รายได้ลดลง จากก่อนหน้านี้มีเพียง 84% และ 1 ใน 3 ต้องการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ มอง 6 เดือนข้างหน้า ประชากรอาเซียน หวังเศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น

ตลอดเวลาที่โรควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปี และเชื้อไวรัสยังอยู่คู่กับมนุษย์โลก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมหาศาล ทั้งสุขภาพประชากรโลก เศรษฐกิจ ธุรกิจเสียหาย ผู้คนตกงาน รายได้ลดลง และแน่นอนสถานการณ์ดังกล่าว นักการตลาด ไม่พลาดที่จะทำวิจัยตลาด สำรวจความเห็นของผู้บริโภคเพื่อนำมารายงานให้รัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนรับทราบ

พร้อมกันนี้  อิษณาติ    วุฒิธนากุล  ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์จำกัด ได้หยิบผลสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นในข่วงโควิดที่ผ่านมา โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคอายุ 18 ปีขึ้นไป ครอบคลุมประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเวียดนาม จำนวน 500 คนในแต่ละประเทศ ระหว่างวันที่ 18 กันยายน ถึงวันที่ 22 กันยายน 2563 และพบประเด็นน่าสนใจดังนี้ 

++คนไทย 1 ใน 3 ต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐฯ

ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะยืดเยื้อมากว่า 10 เดือนแล้ว ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงมีความกังวลต่อการติดเชื้อไม่เสื่อมคลาย จากผลสำรวจพบว่าประเทศที่ประชาชนมีความกังวลต่อการติดเชื้อน้อยที่สุดคือสิงคโปร์ ตามมาด้วย ประเทศไทย ซึ่งในไทยนั้นมีประชาชนเพียง 30 % ที่ยังมีความกังวลต่อการติดเชื้อในระดับสูง ในขณะที่ 61 % ของประชากรมาเลเซีย และ 73% ของฟิลิปปินส์ หรือเกินครึ่งของประชากรทั้ง 2 ประเทศนั้นยังมีความกังวลและระแวดระวังต่อการติดเชื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

++การปรับตัวและมุมมองต่อสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือราว 81% เชื่อว่าต้องรอจนถึงปี 2021 ก่อนที่วัคซีนจะสามารถผลิตและถูกแจกจ่ายถึงคนในวงกว้าง ระยะเวลาอันยาวนานนี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องปรับตัว โดยมีประชากรถึง 37% ในภูมิภาคที่ได้ปรับตัวและมีความคุ้นชินต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตามประชากรกึ่งหนึ่งหรือราว 16% เริ่มเห็นสัญญาณว่ามาตรการล็อกดาวน์และรักษาความปลอดภัยต่างๆ จะค่อยๆ ถูกทยอยผ่อนคลายหรือยกเลิกในเร็ววัน

หากดูภาพรวมของทั้งภูมิภาคแล้ว 1 ใน 2 ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้สึกค่อนข้างปลอดภัยที่จะไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารนอกบ้าน ไปเยี่ยมบ้านเพื่อน หรือ ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งระดับความเชื่อมั่นนี้แตกต่างไปในแต่ละประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ประชาชนยังมีความกังวลในการใช้ขนส่งสาธารณะ และ ฟิลิปปินส์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะไปบ้านของเพื่อนหรือครอบครัว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลายและสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ อย่างไรก็ตามหากพูดถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วก็นับว่ายังเป็นกิจกรรมหนึ่งที่คนไทยค่อนข้างกังวล โดยระบุว่าอย่างเร็วที่สุดที่จะไปเที่ยวต่างประเทศคือเดือนมีนาคม ปี 2564

ทั้งนี้ แม้ประชาชนในภูมิภาคมีความพยายามในการปรับตัว แต่ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากต้องติดอยู่ที่บ้านเป็นเวลายาวนานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  ซึ่งการถูกจำกัดความเคลื่อนไหวนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉลี่ย 50% ของประชาชนในภูมิภาคมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวน้อยลงหรือกระทั่งไม่มีเลย ซึ่งประเทศที่พบสัดส่วนประชากรเคลื่อนไหวน้อยที่สุดคือประเทศมาเลเซีย หรือกว่า 56% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่เวียดนามพบเพียง 43% เท่านั้น หากดูผลกระทบทางด้านจิตใจแล้ว 54% ของประชาชนในภูมิภาคระบุว่ารู้สึกดาวน์เกือบหรือตลอดเวลา  ในขณะที่สัดส่วนของประชาชนไทยที่รู้สึกดาวน์ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคคือ 56% ของประชากรทั้งหมด แต่ตัวเลขนี้กลับพุ่งสูงขึ้นในฟิลิปปินส์ 62% และน้อยที่สุดในมาเลเซีย 44%

++ผลกระทบต่อรายได้และมุมมองต่ออนาคต

หากเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ พบว่าประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่โควิดระบาดอย่างรุนแรง โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เห็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนมากที่สุด สำหรับประเทศไทยพบว่าสัดส่วนของประชากรไทยที่รายได้ลดลงก่อนช่วงโควิดลดลงจาก 84% ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ 77% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม 77% นี้ยังถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทว่า มองไปในอนาคต 6 เดือนต่อจากนี้ ในขณะที่ 46% ของประชาชนในภูมิภาคคาดหวังว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะดีขึ้น 31% ของประชากรกลับมองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงกว่านี้ จาก 6 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจพบว่า 75% ของประชาชนอินโดนีเซีย เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมองสถานการณ์ในแง่ดีที่สุด

ขณะที่ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างดีทำให้มีจำนวนเคสติดเชื้อน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค  ในมุมของเศรษฐกิจแล้วกลับพบว่ามีเพียง 34% ของประชากรไทยเท่านั้นที่คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น โดย 1 ใน 3 ของประชากรไทยต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาล และยังต้องการให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการปัจจุบัน โดยหากเทียบกับ 3 เดือนที่แล้ว 44% ของประชาชนชาวไทยมีความมั่นใจต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในงานลดลงทั้งสำหรับงานของตัวเองและงานของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 49% ทำให้นอกจากประเทศเวียดนามแล้ว ไทยเป็นประเทศที่ประชากรมีความมั่นใจต่อความมั่นคงของงานต่ำที่สุดใน 6 ประเทศที่มีการสำรวจ ผลกระทบต่อรายได้และความเชื่อมั่นที่ต่ำ ส่งผลให้ 30% ของประชากรไทยระบุว่าความเชื่อเหลือที่ต้องการจากรัฐบาลอย่างมากในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้คือ ความช่วยเหลือที่อยู่ในรูปของเงินสด (cash assistance) ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าเวียดนามที่มีประชากรเพียง 5% หรือ ฟิลิปปินส์ที่ 14% ที่เรียกร้องความช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกันนี้

โดยรวม 89% ของประชาชนในภูมิภาคยังค่อนข้างมีความกังวลต่อการกลับมาของสถานการณ์แพร่ระบาด เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อรายได้ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

++ผลกระทบต่อธุรกิจ

หากเทียบกับช่วงที่มีการเริ่มแพร่ระบาดของไวรัส รายได้ครัวเรือนของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามครัวเรือนในภูมิภาคกว่า 62% ยังคงระมัดระวังกับการใช้จ่ายโดยเฉพาะกับรายจ่ายก้อนใหญ่ เช่น บ้าน และ รถยนต์ ที่น่าแปลกใจคือถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 62% มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือราว 52% ของผู้บริโภคชาวไทยเท่านั้นที่ระมัดระวังกับการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่เพิ่มมากขึ้น จาก 6 ประเทศที่สำรวจมีเพียงประเทศเวียดนามเท่านั้นที่มีสัดส่วนพอๆกับประเทศไทย ในขณะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ต่างมีสัดส่วนอยู่ราว 70% ทั้งสิ้น

ในขณะที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบในแง่ลบจากการแพร่ระบาด 43% ของประชากรในภูมิภาคมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 42% ของประชากรในภูมิภาคมีการใช้จ่ายในรูปแบบ cashless เพิ่มขึ้น และ 29% มีการสตรีมมิ่งดูคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มีการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มมากขึ้นที่สุดคือฟิลิปปินส์ การเติบโตของตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในรูปแบบออนไลน์และอีคอมเมิรซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสนี้