สูตรปรับตัว แข่งต่อได้ในอนาคต ทายาท 'นกพิราบ'

สูตรปรับตัว แข่งต่อได้ในอนาคต ทายาท 'นกพิราบ'

อนาคตเป็นเรื่องที่ยาก เป็นอะไรที่ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังคอนโทรลได้ยากด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคู่แข่งจำนวนมากมายในโลกเสรี เรื่องของตลาดที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เรื่องของลูกค้าที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทำให้ธุรกิจที่เคยมีอยู่เดิมถูก Disrupt จนล้มหายตายจากไป 

ภายในงานสัมมนา โครงการ Six Sigma & Lean Six Sigma Black Belt Project รุ่น 5 จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ “วิสุทธิ์ รัชตสวรรค์” กรรมการผู้บริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ได้บรรยายถึงแนวทางการปรับตัวของ “นกพิราบ” และ “PIGEON” ที่แม้จะเป็นแบรนด์ที่คุ้นหูมายาวนานถึง 60 ปีแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย ยิ่งขึ้นชื่อว่าคนรุ่นใหม่เบื่อง่าย เปลี่ยนบ่อย ต่างจากคนรุ่นเก่าที่จงรักภักดี เคยกินอย่างไรก็กินอย่างนั้นก็ยิ่งต้องเปลี่ยน 

"แบรนด์ของเราเป็นรุ่นเก่า ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้คนเจนวาย เจนแซดยอมรับ คงไม่เกินปีสองปีคงได้เห็นสมัยนี้ต้องทำเร็ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่อาจจะค่อย ๆไปได้ เราเองก็มีแนวคิดอยู่แล้วว่าต้องเปลี่ยน แต่เราก็มีการทำเซอร์เวย์ลูกค้าและพวกเขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราต้องปรับเปลี่ยน"

ทั้งยังมองถึงโอกาสของตลาดสูงวัยว่า เป็นเทรนด์ที่บริษัทมองเห็นและต้องการพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ เพราะจำนวนประชากรสูงวัยในประเทศไทยและทั่วโลกจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"พูดตรงๆ ว่าสินค้าเรามีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเราก็พยายามออกสินค้าที่่ใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น เช่น ทำให้มีความเค็มน้อยลง อย่างตัวสินค้าปัจจุบันก็จะเป็น Ready To Cook สำหรับผู้สูงวัยโดยที่ไม่ต้องปรุงมาก เป็นเมนูง่ายๆ ที่เขาเคยทาน"

"เรามีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยมาบริโภคสินค้าของเรา แต่ก็พูดตรงๆ ว่าสินค้าเรามีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเราก็พยายามออกสินค้าที่่ใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น เช่น ทำให้มีความเค็มน้อยลง อย่างตัวสินค้าปัจจุบันก็จะเป็น Ready To Cook สำหรับผู้สูงวัยโดยที่ไม่ต้องปรุงมาก เป็นเมนูง่ายๆ ที่เขาเคยทานอย่างเมนู ผัดไข่ ยำกุ้งแห้ง ต้มกระดูกหมู เป็นการต่อยอดจากอาหารที่เคยทานให้เขาพร้อมทานได้เลยง่ายๆ"

อะไรคือความท้าทายของตลาดนี้ ?

เขามองว่า มีอยู่สองส่วน เรื่องแรกคือ โปรดักต์ เป็นเรื่องของรสชาติ ที่สามารถตอบโจทย์โดนใจและสร้างความยอมรับได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นก็ควรต้องทานอาหารที่มีความเค็มน้อยลง ทว่าการลดความเค็มลงก็ย่อมส่งผลต่อรสชาติที่จะต้องด้อยกว่าอาหารแบบเดิมที่เคยกินอย่างแน่นอน

"ก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะเป็นที่ถูกใจหรือไม่ เรื่องรสชาติถือเป็นเรื่องใหญ่ ลูกค้าจะเลือกอาหารที่เขาทำเองหรืออาหารที่เราทำ ส่วนความท้าทายอีกเรื่องเป็นความเชื่อว่าสินค้าจะมีความปลอดภัยแค่ไหน แต่ด้วยระบบมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ก็ทำให้เรื่องนี้ไม่น่าห่วง"

ปัจจุบันบริษัทนี้มีจำนวนพนักงานหนึ่งพันคน มีผลิตภัณฑ์หลัก ๆอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ ผักกาดดอง (เป็นสินค้าหลักสัดส่วน 50%) ผลไม้ ,พืชผัก และอาหารทะเล ซึ่งสัดส่วนตลาดในประเทศอยู่ที่ 70% ส่งออก 30% และมีสินค้าหลักเราคือผักกาดดอง มีสัดส่วน 50%

วิสุทธิ์บอกว่า แบรนด์นกพิราบที่แม้จะอยู่คู่ครัวไทยมาช้านานแต่ก็คงประมาทไม่ได้ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคนและสังคมในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เวลานี้ผู้บริโภคเน้นในเรื่องของคุณค่าเป็นหลัก อะไรที่สามารถตอบโจทย์ได้ก็เลือกอันนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือลูกค้าเก่าก็ต้องต่อยอด (ลูกค้ากลุ่มเดิมของนกพิราบโดยเฉลี่ยมีอายุ 30 ปีขึ้นไป) จะทำอย่างไรให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความต่อเนื่องในการใช้บริโภคสินค้า

ในเวลาเดียวกันก็ต้องชักชวนลูกค้ากลุ่มใหม่ คนรุ่นใหม่เข้ามาลิ้มลองด้วยเช่นกันในทางหนึ่งเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบต่างๆภายในองค์กร ตัววิสุทธิ์เองเคยให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อหลายปีก่อนว่า ตัวเขาเป็นทายาทรุ่นที่สองและเริ่มเข้ามาช่วยขับเคลื่อนบริษัทเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542

“รุ่นของผมจะเน้น การพัฒนาระบบการบริหารให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น พัฒนาคน รวมถึงประสิทธิภาพองค์กร โดยนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ลดต้นทุน ลดความสูญเสีย”

โดยการดึงมือผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนง มาช่วยประเมินและวิเคราะห์ธุรกิจ และสายตาของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ก็ช่วยปิดจุดอ่อน เติมเต็มจุดแข็ง เพื่อให้เกิดเป็น “ความได้เปรียบทางการแข่งขัน”

"เราพยายามปิดจุดอ่อน แล้วใช้จุดแข็งที่มีทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด และยังคงพัฒนาศักยภาพจุดแข็งนั้นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้วันนี้คิดว่า ทำดีแล้ว แต่ยังมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม พยายามทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้คู่แข่งตามไม่ทัน"

ในยุคนี้ต้องอาศัยการพัฒนาที่ “ไม่มีจุดสิ้นสุด” เพราะโอกาสที่คู่แข่งจะก้าวตามได้ทันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้แต่ทุน เรียกว่า ขอแค่รู้เทคนิคนิดๆหน่อยๆ ก็อาจทำตามได้แล้ว

สิ่งที่ผู้นำจะต้องทำให้ได้ ก็คือ การพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด และ ไม่หยุดนิ่ง ต้องบอกว่าบริษัทนี้ทำและได้รับมาตรฐานคุณภาพค่อนข้างเยอะ เนื่องจากส่งออกผลิตภัณฑ์ไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีความต้องการใบรับรองที่แตกต่างกันไป เรียกว่าเลยจำเป็นต้องทำแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของพนักงาน ฯลฯ เพราะทุกอย่างเป็นข้อกำหนดที่ต้องทำทั้งหมด

“ถามว่าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไหม แน่นอนว่าเพิ่ม ถามว่าทำแล้วดีไหม ก็ดีเพราะมันทำให้เราได้เห็นโอกาสในการปรับปรุงและสามารถปรับปรุงได้ตลอดเวลา ”

ซึ่งล่าสุดก็ได้พบเขาในโครงการ Six Sigma & Lean Six Sigma Black Belt Project รุ่น 5 ที่จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใช้ Six Sigma เพราะอะไร? ส่วนหนึ่งของคำตอบนี้ก็คือ เพราะวัตถุดิบหลักของบริษัทก็คือสินค้าเกษตร ซึ่งมีความผันแปรค่อนข้างมาก ทั้งไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Labor-intensive Industry ต้องใช้แรงงานมาก ปัจจัยทั้งสองส่วนจึงส่งผลทำให้ประสิทธิภาพและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้นทุนและประสิทธิภาพคุณภาพเปลี่ยนไปตลอดเวลา และคิดว่าเครื่องมือดังกล่าวจะทำให้สามารถมองทั้งกระบวนการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ดูได้ว่าเกิดปัญหาที่ตรงจุดไหน 

"เราใช้ Six Sigma มามุ่งเน้นความผิดพลาด ความสูญเปล่า โดยลดความแปรปรวน ปรับปรุงขีดความสามารถทั้งกระบวนการ ทั้งยังเอามาใช้วิเคราะห์ไฟแนนซ์ โอเปอเรชั่น ด้านมาร์เก็ตติ้ง เพื่อปรับปรุงระดับกลยุทธ์ เราจะเน้นหนักที่เรื่องการผลิตเพราะมันเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของเรา รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการที่ค่อนข้างยาวมากตั้งแต่ปลูก มาดอง มาหั่น มาบรรจุ และส่งมอบ ก็มีลีดไทม์ที่ทำให้เรามีปัญหาเรื่องของคุณภาพและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ"

ทั้งได้สรุปว่าสามารถนำ Six Sigma มาใช้ในการเก็บข้อมูลซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด และการเข้าถึงหน้างานที่ช่วยบอกถึงความผิดปกติที่ไม่เคยคาดคิดเป็นจำนวนมากคือมากกว่าที่ได้ดูข้อมูลจากที่ทีมงานเก็บมาให้ นั่นหมายความว่าได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำขึ้น และถูกต้องขึ้นนั่นเอง