เลือกตั้งสหรัฐ : เลือก ‘เทพ’ หรือ ‘มาร’

เลือกตั้งสหรัฐ : เลือก ‘เทพ’ หรือ ‘มาร’

เจาะลึก "ความเป็นทรัมป์" ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งสหรัฐ ว่าผลที่ออกมาระหว่างพรรคลิพับลิกัน และเดโมแครต ที่มีตัวเต็งอย่าง "โจ ไบเดน" เข้ามาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะ? และคะแนนจะมาจากที่ใดบ้าง?

เลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 พ.ย. เป็นที่จับตามองของชาวโลกและชาวอเมริกันเป็นพิเศษอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะหมายถึงว่าจะเป็นอีก 4 ปีของ “ความน่าหวาดหวั่น” หรือ 4 ปีของการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ความเป็นปกติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวโลก ลองมาดูกันว่า ใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับโจ ไบเดน

บทความนี้พยายามเขียนให้ใกล้วันเลือกตั้งที่สุดจึงเป็นวันที่ 1 พ.ย. ขอเริ่มต้นที่ “ความเป็นทรัมป์" ก่อน เพราะเป็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง ทรัมป์ปรากฏตัวเป็นบุคคลสาธารณะมายาวนานก่อนลงเลือกตั้งเมื่อปี 2516 ประวัติของเขาคือความสม่ำเสมอของการบูชาเงิน ความเห็นแก่ประโยชน์ของตนและครอบครัวเป็นที่ตั้ง การขาดบุคลิกภาพของคนที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญของสังคม ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ปรากฏอย่างมีหลักฐานชัดเจนจากการกระทำในขณะที่เป็นประธานาธิบดี และจากคำให้การต่อรัฐสภา ต่อศาล และเปิดเผยในหนังสือของผู้คนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและเคยทำงานกับทรัมป์

พรรครีพับลิกันเป็นพรรคของคนอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบให้ภาครัฐมีขนาดใหญ่และมีอำนาจมากบูชาเสรีภาพของบุคคล การค้าเสรี ไม่ชอบการอพยพของคนผิวสีอื่นนอกจากสีขาวเข้าสู่สหรัฐอเมริกา มักเหยียดผิว ฯลฯ คนรีพับลิกันทุกคนมิได้เห็นตรงกันหมด มีทั้งคนอนุรักษ์นิยมที่มีหัวก้าวหน้าและล้าหลัง เป็นพรรคของอดีตประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์, นิกสัน, เรแกน, บุช ฯลฯ

พรรคเดโมแครต เป็นพรรคของคนหัวสมัยใหม่ นิยมการประกันราคา ค่าจ้างขั้นต่ำและการค้าเสรีที่รัฐควบคุมใกล้ชิด มักนิยมภาครัฐที่มีขนาดใหญ่เพราะเชื่อในการประกันสังคม การสาธารณสุข ช่วยเหลือคนยากจน และแรงงาน บูชาเสรีภาพของบุคคลอย่างยอมให้รัฐดูแลพอควร ฯลฯ เป็นพรรคของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี, จอห์นสัน, คลินตัน, คาร์เตอร์, โอบามา ฯลฯ

สมาชิกพรรครีพับลิกันมักเป็นนักธุรกิจทั้งขนาดยักษ์และขนาดย่อม เป็นคนผิวขาว จำนวนมากเป็นเกษตรกรหรือคนที่อยู่ในเขตชนบท และมีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ฯลฯ ส่วนสมาชิกพรรคเดโมแครตมักเป็นคนอพยพมาใหม่ คนหนุ่มสาว คนผิวสีทั้งดำและคนเชื้อสาย Hispanic (อเมริกาใต้) และคนเอเชีย ผู้ใช้แรงงาน (สมัยก่อนสหภาพแรงงานเป็นกลุ่มสมาชิกพรรคที่สำคัญ) คนชั้นกลางระดับล่าง ฯลฯ

ทรัมป์ ถึงแม้จะเคยเป็นเดโมแครต แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันก็ไม่มีคุณลักษณะของคนรีพับลิกัน เพราะคุณลักษณะพิเศษของเขาคือ การทำอะไรตามอำเภอใจอย่างขาดการคิดกลั่นกรองอย่างมีเหตุผล มักใช้การเอาใจฐานเสียงของเขา สิ่งที่เขาต้องการจากทุกคนคือ ความจงรักภักดีต่อตัวเขาเหนือชาติ ฐานเสียงของทรัมป์ได้แก่ คนผิวขาวที่อยู่ในชนบท มีการศึกษาที่ไม่ถึงปริญญาตรี เคร่งศาสนา นักธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป สิ่งที่ฐานเสียงบางส่วนพอใจมากคือการลดภาษีครั้งใหญ่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คนที่ได้ประโยชน์มากสุดคือคนรวย 

ในปัจจุบันการพยากรณ์ว่า ใครจะชนะได้เป็นประธานาธิบดีนั้น เขาดูฐานคะแนนเสียงพรรคจากการเลือกตั้งประธาธิบดีครั้งที่แล้วในปี 2559 ประกอบข้อมูลจากคะแนนในปี 2561 เลือก ส.ส. วุฒิสมาชิก ผู้ว่าการรัฐ อีกทั้งใช้ประสบการณ์ ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของผู้ลงคะแนนในแต่ละ county (ตรงกับอำเภอของแต่ละรัฐ) โดยใช้โพลจากสำนักต่างๆ มากมายเป็นข้อมูล ผู้เขียนขอใช้คำพยากรณ์ของสำนัก Five Thirty Eight ที่มีชื่อเสียงมานำเสนอ

สำหรับคะแนนรวมในระดับประเทศนั้น ไบเดนนำอยู่ 7.8% (53.3 กับ 45.5) โดยมีโอกาสในการชนะ 90% แต่สิ่งที่ทำให้ชนะนั้นไม่ใช่คะแนนรวมในระดับประเทศ หากเป็น electoral college หรือโหวตซึ่งมีรวม 538 เสียง โดยผู้แข่งขันคนใดชนะรัฐใดก็ได้ electoral vote ของรัฐนั้นไปทั้งหมด (แต่ละรัฐมีไม่เท่ากัน หากมีประชากรมากก็มี electoral vote สูง) ดังนั้น บางคนอาจได้คะแนนนิยมระดับประเทศสูง แต่ได้ electoral vote ไม่ถึงเกณฑ์ คือ 270 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 538 จึงไม่ชนะ (ปี 2559 คลินตันชนะคะแนนนิยมได้มากกว่าทรัมป์ 2.1% หรือ 2.87 ล้านคะแนน แต่แพ้เพราะได้ electoral votes เพียง 232 ในขณะที่ทรัมป์ได้ 306)

โอกาสในการชนะของไบเดนที่กล่าวถึงคือ 90% สะท้อนคะแนน electoral vote เหตุที่พยากรณ์เช่นนี้ก็เพราะไบเดน มีฐานเก่าอยู่แล้ว 232 electoral votes หากหามาได้เพียง 38 ก็ถึง 270 และชนะทันที

หนทางที่ง่ายสุดคือได้ 38 จาก 6 รัฐที่เดโมแครตเคยครองอยู่และในครั้งที่แล้ว ทรัมป์ชนะฉิวเฉียด คือ วิสคอนซิน (10) มิชิแกน (16) เพนซินเวเนีย (20) โอไฮโอ (18) ไอโอวา (6) และ ฟลอริดา (29) ตัวเลขในวงเล็บคือ electoral vote ของแต่ละรัฐ

เมื่อโพลหลายสำนักใหญ่ระบุตรงกันว่า ไบเดนนำอยู่ในรัฐเหล่านี้ทั้งหมดมากบ้างน้อยบ้าง โอกาสที่จะชนะในบางรัฐเหล่านี้และบันดาลให้ชนะในระดับชาติจึงมีสูง ข้อมูล (ตัวเลขคือคะแนนนำของ ไบเดน ; ตัวเลขหลังคือโอกาสในการชนะ) มีดังนี้ วิสคอนซิน (8.6% ; 94%) มิชิแกน (8.8% ; 96%) เพนซิลเวเนีย (5.2% ; 86%) โอไฮโอ (0.9% ; 46%) ไอโอวา (0.2% ; 48%) และ ฟลอริดา (2.2% ; 66%)

ไบเดนชนะง่ายที่สุดคือชนะ วิสคอนซิน (10) มิชิแกน (16) และเพนซิลเวเนีย (20) รวมกันเป็น 46 ซึ่งเกินกว่า 38 จึงชนะเลย หรือกล่าวอีกอย่างว่าของเก่า 232 + 46 = 278 ซึ่งเกินกว่า 270

หนทางของไบเดนนั้นมีมากมาย เช่น ชนะฟลอริดา (29) กับชนะ วิสคอนซิน (10) หรือกับมิชิแกน (16) หรือกับ เพนซิลวาเนีย (20) จากข้อมูลจะเห็นว่าการชนะทั้งเพนซิลวาเนียและฟลอริดา เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของทรัมป์ เพื่อปิดหนทางของไบเดน นอกจากนี้เขายังต้องเอาชนะมิชิแกนและวิสคอนซินให้ได้อีกด้วย ข่าวร้ายสำหรับทรัมป์ก็คือรัฐเก่าที่เขาเคยชนะและต้องรักษาไว้คือ โอไฮโอ (18) แอริโซนา (11) นอร์ทแคโรไลนา (15) จอร์เจีย (16) ก็มีทางหลุดลอยไปเพราะ ไบเดนนำอยู่ในรัฐเหล่านี้เช่นกัน

มาดูคำพยากรณ์ที่ว่า ไบเดนมีโอกาสชนะ 90% และมีคะแนนนำถึง 7.8 % นั้นจะเป็นจริงไหม อย่าลืมว่าตัวเลขเหล่านี้อยู่บนการคาดคะเนว่าจะมีคนมาลงคะแนนระดับหนึ่ง หากไม่มาตามเป้า ผลก็จะผิดไป อีกทั้งมีความคลาดเคลื่อนทางสถิติด้วย (การลงคะแนนล่วงหน้าไปแล้ว 80 ล้านกว่าคนและดูจะมาลงคะแนนกันมากกว่าอดีตมีความหมายอย่างไร)