รฟม.ลุยลงทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี 4.8 หมื่นล้านบาท

รฟม.ลุยลงทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี  4.8 หมื่นล้านบาท

รฟม.จ่อเวนคืนที่ดินผุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย - ลำสาลี คาดเปิดประมูลภายในปี 2566 ดันเม็ดเงินลงทุนกว่า 4.8 หมื่นล้าน มั่นใจไม่ติดปัญหาสร้างฐานราก หลังการทางฯ เตรียมเสนอ คจร.แยกสัญญาก่อสร้างทางด่วน เข็นช่วงเกษตร – นวมินทร์

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม)  ปัจจุบันได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้ รฟม.ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบฐานรากตอม่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแล้ว โดยอยู่ระหว่างการออกแบบ

 

ขณะที่การเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ เบื้องต้นได้มีการสำรวจพื้นที่ ส่วนใหญ่แนวเส้นทางเวนคืนจะนำมาพัฒนาบริเวณทางขึ้น-ลง ของตำแหน่งแต่ละสถานี รวมทั้งบริเวณแยกเข้าถนนสุขาภิบาล1 ถนนนวมินทร์ มุ่งตรงแยกลำสาลี ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride)

 

ส่วนการศึกษาทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นได้รับทราบจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดประมูลภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567

 

 กรณีพื้นที่ก่อสร้างโครงการที่มีความทับซ้อนกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 บริเวณช่วงเกษตรฯ - นวมินทร์ ระยะทางราว 5.7 กิโลเมตร (กม.) รฟม.จะเป็นผู้ออกแบบฐานราก และส่งแบบดังกล่าวให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นำไปดำเนินการก่อสร้างพร้อมกับฐานรากของทางด่วน โดย กทพ.จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมางานฐานรากดังกล่าว และ รฟม.จะชดเชยเงินการลงทุนในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ยังติดปัญหาการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้พื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการ แต่ รฟม.ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการประชุมร่วมกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการคัดค้านในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เพราะ มก.เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักศึกษาในการเดินทาง

 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีระยะทาง 22.1 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท รูปแบบการลงทุนพีพีพี เน็ตคอส ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จำนวน 20 สถานี โดยมีแนวเส้นทาง เริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี, งามวงศ์วาน 2 (ซอยอัคนี), งามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม), ชินเขต, บางเขน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประตูงามวงศ์วาน, แยกเกษตร, คลองบางบัว, ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า, ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม, โรงเรียนสตรีวิทยา 2, ต่างระดับฉลองรัช, คลองลำเจียก, นวลจันทร์, ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์, โพธิ์แก้ว, อินทรารักษ์, สวนนวมินทร์ภิรมย์, การเคหะแห่งชาติ และสิ้นสุดที่ลำสาลี

ด้านรายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เผยว่า หลังจากการหารือร่วมกับ มก.ขณะนี้ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสร้างทางด่วนผ่านหน้ามหาวิทยาลัย แต่ทาง กทพ.ขอยืนยันถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงการทางด่วนสายดังกล่าว เพื่อลดปริมาณการจราจรติดขัด อีกทั้งเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายทางด่วนจากฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ จึงจำเป็นต้องขอเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) โดยจะขอดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 หรือทางด่วนบนถนนเกษตร - นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออกเป็นส่วนแรก แยกประมูลงานโยธาโดยไม่ต้องรอ N1 ที่จะมีบางช่วงผ่านหน้า มก. เพราะคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานในการปรับแนวทางพัฒนา

 

“แนวทางตอนนี้การทางฯ จะเสนอ คจร.ไปก่อนว่าสามารถปรับแผนสร้างช่วงที่พร้อมก่อนได้หรือไม่ เพราะโครงการ N2 มีความพร้อมที่จะสามารถเปิดประมูลได้ในต้นปี 2564 แล้ว หากต้องให้รอสร้างพร้อมกับโครงการ N1 ตามมติ คจร. เดิมจะยิ่งทำให้การก่อสร้างโครงการ N2 ล่าช้าออกไป แต่หาก คจร.ยังยืนยันตามมติเดิม งานก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ต้องแยกฐานรากไปประกวดราคาเองด้วย เพราะรถไฟฟ้าเป็นโครงการที่ทาง ม.เกษตรไม่ได้คัดค้าน”