เลือกตั้งท้องถิ่น 'พปชร.' เมินเปิดหน้า ขอลงใต้ดิน 

เลือกตั้งท้องถิ่น 'พปชร.' เมินเปิดหน้า ขอลงใต้ดิน 

แม้บิ๊กพลังประชารัฐบางคนจะเคยบอกว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพวกเรา แต่กลับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ไม่อาจออกหน้าได้เต็มที่

การเลือกตั้งท้องถิ่น "สนามอบจ." หรือ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค. หลายพรรคการเมืองต่างเตรียมพร้อม วางกลยุทธ์ เปิดตัวบุคคลที่จะส่งลงชิงชัยเป็นที่เรียบร้อย

โดยในส่วนพรรคแกนนำรัฐบาล อย่าง "พลังประชารัฐ" ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคกลับมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในนามพรรค ด้วยเหตุผลทางข้อกฎหมาย กลัวจะติดบ่วงที่ "รัฐบาลคสช." ได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะใน "พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562" 

โดย มาตรา 34 ที่ระบุสาระสำคัญว่า กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใดๆ โดยมิชอบ ด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกต้ังประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมาย มีอำนาจส่ังให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้ 

"พลังประชารัฐ" รู้ถึงเจตนารมย์ของกฎหมายในส่วนนี้เป็นอย่างดี จึงชิงประกาศตัวตั้งแต่ไก่โห่ว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ เนื่องจากกังวลผลกระทบที่จะตามมา หาก ส.ส. , รัฐมนตรี หรือแม้แต่ใครก็ตามที่มีตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองย่อมหมดสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น กูรูกฎหมายของรัฐบาล อย่าง "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี เคยออกปากเตือนกลางวงประชุมครม. มาแล้วว่า "ผู้สมัครนายกอบจ." ไม่สามารถนำรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึง รัฐมนตรี และส.ส. ไปใช้ประกอบป้ายหาเสียงได้

ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีแผนจะส่งคนลงสมัครแข่งขันในนามพรรค เฉพาะในจังหวัดที่มีโอกาสได้รับเลือกสูง แต่ก็มีปัญหาตามมาในเรื่องตัวบุคคล ที่บางจังหวัดมีการแย่งกันลง

การที่ไม่ "พลังประชารัฐ" ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครนั้น ทางพรรคย่อมประหยัดในเรื่องปัจจัยได้เป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้น ก็อาจมีช่องทางให้เกิดการสนับสนุนผู้สมัครฯ ในบางจังหวัดที่เคยหมายมั่นปั้นมือได้อยู่ดี แม้กฎหมายห้ามข้าราชการการเมืองยุ่งเกี่ยว แต่ไม่ได้ห้ามคนเป็นหัวคะแนนของส.ส.หรือของพรรค จึงอาจมีการเอื้อกันในทางลับ หรือใต้ดินได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนั้น กติกาที่ห้ามข้าราชการการเมืองยุ่งเกี่ยวนั้น อาจส่งผลให้กับพรรคการเมืองอื่นที่บางพื้นที่ต้องอิงกระแสพรรคเป็นสำคัญ 

เกมนี้ต้องจับตา บางจังหวัด"พลังประชารัฐ" หวังจะเก็บชัยให้ได้ เพราะ "แกนนำพปชร." บางคนที่มีเด็กในสังกัดอยู่หลายจังหวัด ต้องการสร้างชื่อสร้างบารมี ก็อาจต้องควักกระสุนส่วนตัวยิงออกไปเอง แต่บางจังหวัด ต้องจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อร่วมกันตี เช่น จ.นครราชสีมา ที่ "พลังประชารัฐ" และ "ภูมิใจไทย" ดีลกันลงตัว สนับสนุน "ยลดา หวังศุภกิจโกศล" ภรรยา เสี่ยป้อ "วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล" รมช.พาณิชย์ 

ปัจจัยการเลือกตั้ง "สนามอบจ." มักมีความซับซ้อน แตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ชนะสนามใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งในสนามเล็ก เพราะบรรดาบิ๊กๆหลายคนก็เสียท่าตกม้าตายกันมาแล้ว