‘นโยบายสหรัฐต่ออาเซียน’ หลังศึกในเลือกตั้งสหรัฐ

‘นโยบายสหรัฐต่ออาเซียน’ หลังศึกในเลือกตั้งสหรัฐ

‘นโยบายสหรัฐต่ออาเซียน’ หลังศึกชิงเก้าอี้ปธน.สหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายความร่วมมือทั้งทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐดำเนินมาถึงโค้งสุดท้าย บรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการทั่วโลกต่างจับตามอง และลุ้นว่าระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และนโยบายความร่วมมือทั้งทางการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคต่างๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอย่างไร

ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายที่มีต่อ ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่า ในงานวิจัยของจุฬาฯที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในระยะสั้น 1 -2 ปี นโยบายจะไม่เปลี่ยนไปมากจากปัจจุบัน เพราะนโยบายหลักของสหรัฐยังคงดำเนินไปเพื่อบั่นทอนและปิดล้อมการแผ่อิทธิพลของจีน

เมื่อนโยบายหลักเป็นการสกัดกั้นอำนาจจีน ย่อมส่งผลต่อไทยในฐานะผู้เล่นหลักในอาเซียน แม้ว่าตอนนี้จะเกิดสูญญากาศ อำนาจสหรัฐถดถอยลงในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่จีนยังคงแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการช่วงชิงพันธมิตร และไทยก็เป็นหมากสำคัญบนกระดานนี้

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน เริ่มตั้งแต่สมัยบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เริ่มผลักดันยุทธศาสตร์ปรับแกนหมุนหันมาให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสมดุลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศที่แทรกแซงในทุกด้านต่ออาเซียน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาค

ผลสำเร็จที่สำคัญในนโยบายดังกล่าว เป็นเรื่องการกำหนดกรอบความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับประเทศในอาเซียน รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางการเมืองและการทหารกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเสนอข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (TPP) แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากทรัมป์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2560 โดยทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลง TPP และเสนอยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกแทน

หากเปรียบเทียบนโยบายต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก จะเห็นว่า ทั้งสองให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน แม้ว่ายุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของทรัมป์ จะเน้นเรื่องการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมอิทธิพลของจีนมากกว่าการผลักดันความร่วมมือต่างๆกับประเทศในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะเดินหน้านโยบายการทูตเพื่อควบคุมอิทธิพลของจีน จะเห็นว่า ประเทศในอาเซียนจะยังคงต้องยึดแนวทางตามยุทธศาสตร์แห่งความสมดุล ท่ามกลางการแข่งขันของสองมหาอำนาจโลก

ด้าน "กวี จงกิจถาวร" นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายสหรัฐที่มีต่ออาเซียนหลังการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งผู้ที่เป็นประธานาธิบดีก็จะยึดหลักตามแนวทางของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ ดั่งจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนในยุคทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน กับสมัยโอบามาจากพรรคเดโมแครตมีความแตกต่างกันมาก

"ส่วนตัวเห็นว่า ความสนใจของทรัมป์ที่มีต่ออาเซียนน้อยมาก แต่ก็เป็นผลดี เพราะถ้ามองในแง่นโยบายก็ไม่ได้กดดันมากนัก แล้วนโยบายที่โอบามาวางไว้ในอาเซียน จะถูกทรัมป์รื้อทิ้งหมด โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์สหรัฐที่มีต่ออาเซียนไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอยู่ในสถานะทรงตัวถือว่าโชคดี มีเพียงเรื่องเดียวที่ทรัมป์ไม่ได้ทำ นั่นคือการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำอาเซียน สะท้อนนัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนที่มีช่องว่าง ไม่แนบแน่นเท่าที่ควรจะเป็น"กวี กล่าว

นอกจากนี้ การที่ทรัมป์ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐในปี 2562 แม้ว่าก่อนหน้านี้ทรัมป์จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ก็เป็นแบบครึ่งๆกลางๆ ตอกย้ำถึงความไม่ให้ความสนใจภูมิภาคอาเซียน

หากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัครั้งนี้ ผลออกมาไบเดนชนะ เชื่อว่าความสัมพันธ์สหรัฐกับอาเซียนจะเข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะอาเซียนมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ตามนโยบายของพรรคเดโมแครตที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์เป็นระดับภูมิภาคและความร่วมมือกับอาเซียนในทุกๆเรื่อง แตกต่างจากทรัมป์ ที่พยายามเข้าหาเป็นรายประเทศ และคุยเป็นเรื่องๆไป (Transactional ) มากกว่าการคุยรวมในระดับภูมิภาค เช่นเรื่องขาดดุลการค้าที่ใช้นโยบายมากดดัน ด้วยการตัดสิทธิจีเอสพีของประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ

"ถ้าไบเดน ชนะ เชื่อว่าไบเดนจะเข้าหาอาเซียนมากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือเป็นระดับภูมิภาค เนื่องจากเห็นพลังของอาเซียน โดยเฉพาะการที่เป็นภูมิภาคที่มีจีดีพีเติบโตในอันดับต้นๆของโลก และจะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียน เพราะเป็นภูมิภาคที่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับนโยบายอินโด-แปซิฟิก" กวี กล่าว

กวี ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ต้องเลือกข้างระหว่างประเทศสองมหาอำนาจสหรัฐกับจีน ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายกับสมัยสงครามเย็นเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบัน อาเซียนเป็นประเทศผู้เล่นหลักทางเศรษฐกิจที่แสวงหาความเคารพให้เกียรติและความร่วมมือในทุกมิติ ดังนั้น สหรัฐจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและจุดยืนอาเซียนบ้าง