ฝ่ายค้าน เมินร่วมสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์ จ่อชงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ฝ่ายค้าน เมินร่วมสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์ จ่อชงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ฝ่ายค้าน เมินร่วมสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์ 'ประเสิรฐ'ชี้ยื้อเวลา-เงื่อนไขนายกฯต้องออก จ่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อแก้ไขปัญหา ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 โดยมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการเป็นการซื้อเวลา ซึ่งพรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้าน จะไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการ เพราะการเปิดอภิปรายของสมาชิก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟังเสียง ไม่ควรโยนให้เป็นเรื่องของใครอีก และเห็นว่าข้อเรียกร้องที่พรรคได้เสนอในที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญมีความชัดเจนแล้ว เหลือแต่เพียงการตัดสินของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เห็นว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพราะเป็นต้นตอของปัญหา หากไม่ลาออกการแก้ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และอาจเกิดเหตุรุนแรงในอนาคต

ทั้งนี้จะต้องมีการปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง โดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมเสนอว่าต้องเร่งพิจารณา 4 ญัตติที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไข ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงประชามติ ,พร้อมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. เรื่องนี้สามารถดำเนินการได้พร้อมกัน เพื่อแสดงออกความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญควรกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรียืนยันจะไม่ลาออก เพราะไม่อยากตัดช่องน้อยแต่พอตัว ว่า เป็นการหวงอำนาจ และคิดถึงตนเองมากกว่าประเทศชาติ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา และการที่นายกพูดว่าไม่อยากหนีปัญหา นั้นเป็นการพูดที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีเหตุผล ถ้าไม่ลาออก เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะได้รับแรงกดดัน แต่หากลาออกก็จะเป็นอิสระในการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา


อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่


ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทย นางสาวอรุณี กาสยานนท์ ย้ำว่า การที่นายกรัฐมนตรีจะให้ทำประชามติถามคนส่วนใหญ่ว่าสมควรลาออกหรือไม่นั้น มองว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการทำเพื่อบุคคล และหากอยากทราบว่ายังมีคนนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็ขอให้ลาออกและเปิดให้มีการเลือกตั้ง ก็จะทราบว่ายังมีคนนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่