ASQ การ์ดตก ฝ่าฝืนมาตรฐานกักตัวโควิด19

ASQ การ์ดตก ฝ่าฝืนมาตรฐานกักตัวโควิด19

แน่ชัดแล้วว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศไทย กรณีหญิงวัย 57 ปี สัญชาติฝรั่งเศสที่ตรวจเจอโควิด19ในวันที่ 17 หลังเข้าประเทศก่อนเดินทางไปเกาะสมุยเมื่อพ้นระยะกักตัว


หากนับย้อนตามระยะเวลาฟักตัวของโรค 14 วันจะเป็นช่วงที่หญิงรายนี้พักอยู่ในสถานที่กักกัน รวมถึง เจาะเลือดแล้วยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมายถึงเพิ่งติดเชื้อ บวกกับการตรวจเจอเชื้อในฟิตเนสของสถานที่กักตัว ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อจากในสถานที่กักกันทางลือก( Alternative State Quarantine:ASQ) ในจ.สมุทรปราการ


ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการสถานที่กักกันโควิด19แล้ว 7 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (State Quarantine) รับคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย2.สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ) รับคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ ผู้เดินทางสมัครใจจ่ายเอง 3.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนดในพื้นที่(Local Quarantine:LQ) รับคนไทยที่เข้าประเทศผ่านด่านพรมแดน หรือด่านท่าเรือ ในต่างจังหวัด รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย 4.สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่(Alternative Local Quarantine;ALQ) รับคนไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศผ่านด่านพรมแดน หรือด่านท่าเรือ(ในต่างจังหวัด) ผู้เดินทางสมัครใจจ่ายเอง 5.สถานที่กักกันโดยองค์กร(Organizational Quarantine:OQ) รับคนไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศโดยหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งหน่วยงาน องค์กรรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

6.สถานที่กักกันในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด(Hospital Quarantine:HQ) รับคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศที่มีเหตุผลทางสุขภาพ /รัฐจ่าย และ7.สถานที่กักกันทางเลือกในสถานพยาบาล
(Alternative Hospital Quarantine:AHQ) รับต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาด้วยโรคอื่นๆ /ผู้เดินทางจ่ายเอง รวมถึง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.)จัดเพิ่มอีก 1 รูปแบบ คือ สถานที่กักกันในกิจการดูแลสุขภาพ( Wellness Quarantine:WQ) รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามารับบริการดูแลสุขภาพ แบ่งเป็นLongTerm Care สนามกอล์ฟ (ศบค.เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างเปิดรับสมัคร)และรอเสนอศบค.อีก 1 รูปแบบ คือ การท่องเที่ยวแบบ Exclusive Travel Area(ETA) จะให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกักตัวในพื้นที่เฉพาะ (Area Quarantine:AQ)และสามารถท่องเที่ยวในวันที่ 0-14ได้ในเส้นทางที่กำหนด นำร่องในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงราย บุรีรัมย์และสุราษฎร์ธานี


สำหรับสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ)นั้น จะรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งคนไทยและต่างชาติที่สมัครใจจะเสียค่าใช้จ่ายเองตลอดการกักตัว โดยเป็นโรงแรมที่สมัครเข้าร่วมและจะต้องผ่านประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และกระทรวงกลาโหม ใน 6 หมวด ได้แก่ โครงสร้างอาคาร บุคลากร วัสดุ/อุปกรณ์สำนักงาน เวชภัณฑ์/อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การจัดการสิ่งแวดล้อม/เป็นมิตรกับชุมชน และรพ.คู่สัญญาปฏิบัติการร่วม รวมถึง จะมีการตรวจเยี่ยมและประเมินผลหลังดำเนินการ โดยคณะทำงานประเมินผล


ส่วนข้อกำหนดที่สำคัญ อาทิ ผู้กักตัวจะต้องเข้าพักเพื่อควบคุมโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน ,ห้าม!ออกนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า, แยกพื้นที่รองรับผู้เข้าพักกักตัวออกจากบุคคลอื่น ,ไม่ให้ใช้พื้นที่ส่วนกลางอื่นเว้นจำเป็น และต้องทำความสะอาดพื้นที่ดังกล่าวทุก1-2ชั่วโมง ,การทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และต้องมีการตรวจหาโควิด19ผู้กักตัวอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นต้น

160372242343
ฉะนั้นแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นกับหญิงฝรั่งเศส แปลได้หรือไม่ว่า “ASQ บางแห่ง” การ์ดตก มีการหละหลวมหย่อนมาตรการ ปล่อยให้ผู้เข้ารับการกักตัวออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวมของโรงแรมช่วงที่เข้ารับการกักตัว ในเมื่อการสุ่มตรวจเชื้อในเจ้าหน้าที่ASQ รอบแรก ไม่พบการติดเชื้อ แต่กลับพบเชื้อในฟิตเนส ซึ่งอาจหมายถึง “มีคนเดินทางจากต่างประเทศที่มีเชื้อเข้าไปใช้บริการและแพร่เชื้อไว้”


หากASQ การ์ดตกเช่นนี้ จุดที่น่ากังวล คือ โรงแรมเปิดเป็นASQอย่างเดียวหรือรับคนในประเทศเข้าพักด้วย หากดำเนินการควบคู่ย่อมเสี่ยงที่คนอื่นที่เข้าพักจะได้รับเชื้อด้วย ทว่า จะไม่น่ากังวลหากมีการปฏิบัติตามมาตรฐาน ด้วยการแยกโซนบริการระหว่างคนกักตัว กับคนทั่วไปอย่างชัดจนไม่ปะปนกัน
คำถามเกิดขึ้นอีกว่า ในเมื่อประเทศไทยกำลังจะผ่อนคลายให้ผู้ที่เข้าประเทศสามารถไปใช้บริการส่วนต่างๆของสถานที่กักตัวได้ไม่ต้องอยู่แต่ในห้องอย่างเดียว เช่น รูปแบบ WQ หรือ AQ จะสุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อเหมือนกรณี ASQที่การ์ดตกจากการปล่อยให้ผู้เข้ากักตัวออกนอกห้องพักหรือไม่?


ข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่ผู้เข้ารับการกักตัว ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่างกันด้วย โดยASQ เป็นการรับผู้เดินทางจากต่างประเทศจากทุกประเทศที่สมัครใจเข้าพัก ขณะที่ WQ และAQ เป็นการรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำที่มีความเสี่ยงโรคโควิด19ต่ำหรือเท่ากับประเทศไทยเท่านั้น โอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อในการใช้พื้นที่ส่วนรวมจึงน้อยกว่าASQ แต่จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นทันทีเช่นกันหากมีการหละหลวมในมาตรการที่เป็นมาตรฐาน!


ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค(คร.) รายงานสถานการณ์โรคโควิด19ในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนดตั้งแต่เดือนเมษายน-15 ตุลาคม 2563 ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 116,219 คน ติดเชื้อ 728 ราย คิดเป็น 0.63 % หรือประมาณ 200 คนเจอติดเชื้อ 1 คน ซึ่งอัตราแตกต่างกันในแต่ละประเทศต้นทาง


บางประเทศเมื่อเข้ามาแล้วมีอัตราการติดเชื้อสูง 5 อันดับแรก คือ คูเวต เดินทางเข้ามา 293 คน อัตราติดเชื้อ17.75 % ซูดานใต้เดินทางเข้ามา 269คน อัตราติดเชื้อ 14.87 % ซาอุดิอารเบียเดินทางเข้ามา 743คน อัตราติดเชื้อ7.94% ซูดานเดินทางเข้ามา 500คน อัตราติดเชื้อ5% และปากีสถาน เดินทางเข้ามา381 คน อัตราติดเชื้อ4.72%


ขณะที่บางประเทศอัตราการติดเชื้อพบน้อย 5 อันดับ ได้แก่ จีน เดินทางเข้ามา 2,426 คน ติดเชื้อ 1 คน อัตราติดเชื้อ 0.04 % ฮ่องกง เดินทางเข้ามา 1,883คน ติดเชื้อ 9 คน อัตราติดเชื้อ 0.48% ไต้หวัน เดินทางเข้ามา 5,581 คน ติดเชื้อ 2 คน อัตราติดเชื้อ 0.04% ออสเตรเลีย เดินทางเข้ามา 3,906 คน ติดเชื้อ 4 คน อัตราติดเชื้อ 0.10% และนิวซีแลนด์ เดินทางเข้ามา 827คน ไม่มีติดเชื้อ อัตราติดเชื้อ 0 %


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า หากผลการสอบสวนโรคเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็จะรายงานต่อนพ.เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ทราบและประสาน เพื่อเสนอต่อไปยัง ศบค.ให้มีการทบสวนมาตรการในส่วนของASQว่า ต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการส่วนใดเพื่อลดช่องโหว่


ทุกคนทุกภาคส่วนการ์ดต้องไม่ตก จึงจะทำให้ประเทศไทย “รุกคืนโควิด19” ด้วยความปลอดภัยด้านสุขภาพควบคู่กับการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจอย่างสมดุล