‘ชอร์ตเซล’จ่อพุ่งฟันกำไรขาลง โบรกชี้ มีโอกาสแตะ 4 พันล้านต่อวัน

‘ชอร์ตเซล’จ่อพุ่งฟันกำไรขาลง  โบรกชี้ มีโอกาสแตะ 4 พันล้านต่อวัน

“ชอร์ตเซล” เดือนต.ค.พุ่ง แตะกว่า 2 พันล้านต่อวัน เพิ่มขึ้น  185% หลังตลท.กลับมาใช้เกณฑ์ปกติ “เอเซีย พลัส” ชี้ มีโอกาสพุ่ง แตะ  4 พันล้านต่อวัน  เหตุ การเมืองในประเทศร้อนแรง -โควิดระบาดหนักในต่างประเทศ กดดันหุ้นไทยผันผวนหนัก

นายภราดร เตียรณปราโมทย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบข้อมูลยอดธุรกรรมการขายชอร์ต (ชอร์ตเซล) ในช่วงวันที่ 1-22 ต.ค.2563พบว่าปริมาณการชอร์ตเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากว่า 2,000 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 185% จากช่วงก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใช้มาตรการชอร์ตเซลชั่วคราวหรือ Uptick (ใช้ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย) ที่มีปริมาณการชอร์ตเซลเฉลี่ยไม่ถึง 700 ล้านบาทต่อวัน และคาดว่ายิ่งมีปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อเนื่องจะทำให้ปริมาณการชอร์ตเซลมีโอกาสเร่งตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้มองว่ายอดการชอร์ตเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯให้นักลงทุนกลับไปใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติหรือ Zero Plus Tick (ใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป ประกอบกับภาวะตลาดในช่วงที่ผ่านมาที่ปรับตัวผันผวนจากประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศที่กลับมากดดันต่อภาวะการลงทุน จึงส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาเลือกการขายชอร์ตและเป็นตัวเร่งให้ยอดการชอร์ตเซลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ประเมินว่ามีโอกาสที่ปริมาณการชอร์ตเซลจะขยับขึ้นไปเฉลี่ยแถวระดับ 4,000 ล้านบาทต่อวัน หรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้ เนื่องจากเชื่อว่าตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองในหลายประเทศและปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการชอร์ตเซลจะยิ่งกดดันการขึ้นของดัชนีหุ้นไทยให้ทำได้ลำบากมากขึ้นและทำให้ดัชนีฯผันผวนรุนแรงในช่วงนี้

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงวันที่ 1-22 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแล้วกว่า 1.89% ซึ่งกรอบในการแกว่งตัวขึ้นลง (จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุด) อยู่ที่ระดับ 66 จุด ซึ่งเทียบกับเดือนก.ย.2563 ที่ดัชนีฯลดลง 5.62% และกรอบในการแกว่งตัวเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 79 จุด ดังนั้นภาพของการชอร์ตเซลยังไม่ได้ผันผวนไปกว่าเดือนที่แล้ว แต่การเร่งตัวยังไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติ ซึ่งหากมีปัจจัยการเมืองและโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมก็มีความเสี่ยงที่ยอดการชอร์ตเซลจะทำให้ความผันผวนของดัชนีฯมีโอกาสเหวี่ยงมากกว่าเดือนที่ผ่านมา

“ตัวเลขยอดการชอร์ตเซลเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 2,178 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่เฉลี่ยไม่ถึง 700 ล้านบาทต่อวัน และเป็นตัวกดดันตลาดอีกระลอกหนึ่ง สะท้อนได้จากดัชนีฯในช่วงเดือนต.ค.นี้ที่ปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 23 จุด”

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่าคาดว่ายอดการชอร์ตเซลที่ปรับตัวเป็นผลมาจากการกลับไปใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลแบบปกติเช่นกัน แต่คาดว่าปริมาณการชอร์ตเซลคงจะไม่ดีดตัวขึ้นไปถึงระดับ 4-5 พันล้านบาทต่อวัน เหมือนช่วงเดือนมี.ค.2563 ก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่ระดับ 4,900 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากแวลูชั่นของหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะที่พบว่าหุ้นที่ถูกชอร์ตเซลมากที่สุดในเดือนต.ค.นี้ (1-22 ต.ค.2563) ได้แก่ 1.บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT),2.บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB),3.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW),4.บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE),5.บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL),6.บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT),7.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF),8.บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC),9.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ10.บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)

นอกจากนี้มองว่าปัจจุบันค่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทย (Volatility) ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นค่าเฉลี่ยมากนัก โดยล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15% ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงช่วงเดือนก.ย.ที่อยู่ระดับ 10-15% แต่ถือว่าลดลงจากช่วงเดือนมี.ค.ที่เฉลี่ยอยู่ระดับ 60-70%