WHA รุกโซลาร์รูฟ ตั้งเป้าปี 65 ทะลุ 100 เมกะวัตต์

WHA รุกโซลาร์รูฟ ตั้งเป้าปี 65 ทะลุ 100 เมกะวัตต์

ธุรกิจบริการด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP มองเห็นโอกาสที่จะขยายลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตอีอีซี

นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป ต่อเนื่องทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีและมีลูกค้าใหม่สนใจเซ็นสัญญาจำนวนมาก 

ขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้ว 47 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าจะถึงเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2563 ใช้เงินลงทุนเมกะวัตต์ละ 30 ล้านบาท หรือใช้เงินลงทุนไป 1,500 ล้านบาท ส่วนปี 2564 คาดว่าจะติดตั้งเพิ่ม 20-30 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตสะสม 70-80 เมกะวัตต์ และจะถึงเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ภายในปี 2565

สำหรับลูกค้าที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบ่งเป็น 2 ส่วน ในสัดส่วน 50:50 คือ 1.ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าของดับบลิวเอชเอ 2.ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าของดับบลิวเอชเอ โดยถ้าดูพื้นที่ตั้งของลูกค้าพบว่าอยู่ในอีอีซี 60-70% และอยู่นอกอีอีซี 30-40%

บริษัทฯ ประเมินว่าธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปจะขยายตามการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ซึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ปีละ 1-2 แห่ง และขยายตามธุรกิจโลจิสติกส์ที่ติดตั้งบนหลังคาคลังสินค้าดับบลิวเอชเอ 

รวมทั้งมาจากลูกค้ากลุ่มโรงงานของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ทั้งการติดตั้งบนหลังคาโรงงาน พื้นที่ลานจอดรถที่ผลิตเสร็จ และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในบ่อเก็บน้ำในโรงงาน โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้โรงงานรถยนต์เอ็มจีไปแล้ว 4.9 เมกะวัตต์ 

ล่าสุดเซ็นสัญญากับบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ติดตั้งแผงบนหลังคาโรงงานฮอนด้า 2 แห่ง รวม 5 เมกะวัตต์ คือ 

1.โรงงานฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ขนาดติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำไฟฟ้าไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมถึงโรงบำบัดน้ำเสีย 

2.โรงงานฮอนด้า นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี ขนาดติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งการติดตั้งดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โรงงานฮอนด้าตลอดการใช้งานได้ 1 แสนตัน

160371257513

“ธุรกิจนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยบริษัทฯ เซ็นสัญญาใช้พื้นที่ 20 ปี ซึ่งบริษัทฯ จะลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและอุปกรณ์ให้ทั้งหมด ส่วนโรงงานลูกค้าที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำกว่าซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 10-20% ตลอดอายุสัญญา รวมทั้งช่วยลดอุณหภูมิภายโรงงานลง 2-3 องศาเซลเซียส ทำให้ประหยัดไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อีกส่วนหนึ่ง ในบริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจจากการขายไฟฟ้า 9%”

ทั้งนี้ แม้ว่าธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปจะมีผู้แข่งขันจำนวนมาก แต่บริษัทฯ ได้เปรียบเรื่องความน่าเชื่อถือและความมั่นคง เพราะธุรกิจนี้มีสัญญาระยะยาว 20 ปี ดังนั้นลูกค้าต้องมั่นใจการซ่อมบำรุง และการดูแลรักษาในระยะยาว รวมทั้งลูกค้าของบริษัทฯ ได้แนะนำบอกต่อกันมาทำให้ธุรกิจขยายตัวรวดเร็ว ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอและนิคมอุตสาหกรรมอื่น โดยบริษัทฯ ทำธุรกิจนี้มา 3 ปี ในปีแรกมีกำลังการผลิตติดตั้งไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ มาในปีที่ 3 เพิ่มไปถึง 50 เมกะวัตต์ ซึ่งถือได้ว่ามีอัตราการเติบโตสูงมากแม้อยู่ในช่วงโควิด-19

รวมทั้งบริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ กฟภ.ศึกษาความเป็นไปได้โครงการซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปกับพื้นที่ใกล้เคียง เพราะปัจจุบันกำหนดให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปต้องขายให้กับ กฟภ.หรือใช้ในโรงงานที่ติดตั้งเท่านั้นไม่สามารถส่งขายให้โรงงานอื่นได้ 

หากผลการศึกษาเสร็จในต้นปี 2564 จะช่วยขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปได้มาก ทำให้ขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งบนพื้นที่ของดับบลิวเอชเอส่งขายให้พื้นที่ใกล้เคียงได้ ทำให้ขยายลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยจากการประเมินพื้นที่หลังคาคลังสินค้าของดับบลิวเอชเอจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์

160371263344

นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับ กฟภ.ทำโครงการ “สมาร์ทไมโครกริด” เพื่อตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขายให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอโดยตรง 100% ซึ่งต่างจากโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 70% และขายเข้านิคมอุตสาหกรรม 30% 

ทั้งนี้ หากได้รับยการอนุมัติจะทยอยตั้งโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ของดับบลิวเอชเอ โดยคาดว่าจะมีกำลังผลิตโรงละ 30-50 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ที่ดับบลิวเอชเอร่วมลงทุน และจากโซลาร์รูฟท็อปในขณะนี้ดับบลิวเอชเอมีกำลังการผลิตที่ถืออยู่ 592 เมกะวัตต์

สำหรับ การดำเนินงานในธุรกิจน้ำของบริษัทฯ มุ่งเน้นธุรกิจการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียกลับมาผลิตเป็นน้ำดีกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น เพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งในอีอีซี และช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำประปา และส่งน้ำคุณภาพสูงจำหน่ายในนิคมอุตสาหกรรม

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอทั้งหมดใช้น้ำ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำที่มาจากการรีไซเคิล 30,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสัดส่วน 20% จึงยังขยายน้ำจากการรีไซเคิลได้อีกมาก ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสียเป็นน้ำใช้ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออิสเทิร์นซีบอร์ และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอมาบตาพุด จากนิคมอุตสาหกรรมในไทยที่มีทั้งหมด 11 แห่ง