แง้มประเทศรับนักท่องเที่ยวพื้นที่เสี่ยงโควิด19ต่ำ

แง้มประเทศรับนักท่องเที่ยวพื้นที่เสี่ยงโควิด19ต่ำ

สธ.เตรียมพร้อมรับมือโควิด19ระบาดรอบใหม่ ย้ำเจอคนติดเชื้อได้ เฝ้าระวังแบบตะแกรง 3 ชั้นคัดกรองผู้ป่วย มุ่งค้นเจอเร็ว จำกัดวงระบาด ตั้งเป้าคุมโรคให้ได้ภายใน 1 เดือน รอชงศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน พัฒนาสถานที่กักตัวรูปแบบใหม่ รับคนจากพื้นที่เสี่ยงต่ำ


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสัมมนาวิชาการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสำหรับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า การดำเนินงานรับมือกับโรคโควิด 19 ในระยะต่อไป ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ขัดสน คำนึงถึงเศรษฐกิจปากท้องควบคู่กันไปอย่างสมดุล และต้องปรับมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งระดับโลก ระดับประเทศ ควรมีมาตรการจูงใจผู้เดินทางจากต่างประเทศด้วยวิธีการที่ปลอดภัย โดยเฉพาะประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงบูรณาการภารกิจการดูแลสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพอื่นๆ ในระดับพื้นที่ควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโควิด 19 นอกจากนี้ มีการเดินหน้าจัดหาวัคซีนให้คนไทย ใน 3 แนวทางคือการจองวัคซีนบริษัทผู้ผลิต การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย
“ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ ภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(Medical Hub)เมื่อเร็วๆนี้ เห็นชอบในหลักการ 3 เรื่องสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ฐานราก คือ 1.แนวทางการดำเนินงานสถานที่กักตัวในสนามกอล์ฟ(Golf Quarantine) 2.การลดระยะเวลาการกักตัวจาก 14 วัน โดยระยะแรกจะลดเหลือ 10 วัน และ3.การท่องเที่ยวแบบ Exclusive Travel Area(ETA) ซึ่งจะเริ่มจากประเทศที่เสี่ยงต่ำก่อน เนื่องจากปัจจุบันค่อนข้างมั่นใจในระบบการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้อาจจะติดเชื้อได้ดี และมีความสามารถควบคุมการแพร่เชื้อสูง เพราะฉะนั้น ถ้าคลี่คลายมาตรการต่างๆแล้วเข้ามาทำรายได้เข้าประเทศไทยก็พร้อมสนับสนุน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่รายได้ของประเทศ 70 %มาจากส่วนนี้ จำเป็นต้องกระตุ้นขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้ประเทศลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งหนึ่งจากที่รายได้ตอนนี้เป็นศูนย์ ”นายอนุทินกล่าว


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัด ได้แก่ เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังในสถานพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 10 รายต่อวัน ถ้าประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน ,20 รายต่อวัน ถ้าประชากร 1 ล้านคนขึ้นไป และจากผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 10% เพิ่มหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อจาก 1 ทีม เป็น 3 ทีมต่ออำเภอ ซ้อมแผนเตรียมรับมือการระบาดครั้งใหม่ เตรียมสถานที่กักกันตามมาตรฐาน เตรียมยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย และสื่อสารความเข้าใจกับประชาชน หน่วยงานและภาคีเครือข่าย และขอให้ยึดหลักรักษาระยะห่าง หน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ การล้างมือบ่อยๆ และตรวจคัดกรอง
“ค่านิยมการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด 19 คือ นนก หรือ นำหนึ่งก้าว ขอให้รักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญอยากให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสื่อสารกับคนในพื้นที่ว่า การควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ไม่ใช่การทำให้การติดเชื้อเป็น 0 แต่การติดเชื้อในพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้เกิดการระบาด”นพ.เกียรติภูมิกล่าว


0กลยุทธ์ตะแกรง3ชั้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กลยุทธ์การเฝ้าระวังโรคโควิด19ประเทศไทยจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะเน้นตะแกรง 3 ชั้น ได้แก่ 1.ช่องทางเข้าออกประเทศ เช่น สนามบิน ท่าเรือ พรมแดนทางบก เฝ้าระวังและกักกันในสถานที่กักกันประเภทต่างๆ 2. สถานพยายามรายงานผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เป็นการเฝ้าระวังที่รพ.รับและเอกชน และ3.ชุมชนและที่พักแหล่งท่องเที่ยว เป็นการเฝ้าระวังในชุมชนและสถานที่เสี่ยง

0คุมระบาดให้ได้ใน 1 เดือน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ยังต้องเน้นการป้องกัน การควบคุมโรคให้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคเร็ว 1,000 ทีม เตรียมเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ซึ่งเป้าหมายในการควบคุมโรค คือ หากพบการติดเชื้อต้องดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-4 สัปดาห์ ลดอัตราป่วยตายต่ำกว่า1.4% มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย โดยเฉพาะเพิ่มศักยภาพจังหวัดในการจัดการโควิด มีระบบบัญชาการเหตุการณ์ด้านสาธารณสุข ทุกจังหวัดมีแผนเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมแผน
กลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจเชื้อทางในห้องแล็ป ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในทุกโรงพยาบาล 2.กลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ เช่นผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน และ3.กลุ่มอื่นๆตามสถานการณ์ เช่น นักกีฬาฟุตบอลไทยลีก นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจค้นหาในการสอบสวนทางระบาดวิทยา กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน ดังนี้ การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน กรณีพบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 28 วัน

160363083619
0เตรียมพร้อมเตียงรองรับผู้ป่วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมพร้อมรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 มีการบริหารจัดการเตียงโดยโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีเตียงรองรับจำนวน 2 หมื่นกว่าเตียง แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2 พันกว่าเตียง ซึ่งการระบาดระลอกแรกผู้ป่วยนอนไอซียูเฉลี่ย 17 วัน ดังนั้น พื้นที่กรุงเทพมหานครจะรับคนไข้ได้ 230-400 คนต่อวัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตัวโรค ส่วนทั่วประเทศรองรับได้ 1,000 - 1,740 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม นอกจากโรคโควิด 19 แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมดูแลการเจ็บป่วยโรคอื่น ด้วยการแพทย์วิถีใหม่ โดยทุกเขตสุขภาพมีแผนดำเนินการใน 3 เดือน


0 สำรองยาผู้ป่วยหนักกว่า9,000 ราย
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมทรัพยากรรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 7 ต.ค.2563 มีการสำรองยากรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับยา โดยยาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากากN95 คงเหลือ 2,257,471 ชิ้น ชุดPPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงานกำลังการผลิต 6 หมื่นชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น


0ห้องแล็ปตรวจเชื้อ 230 แห่ง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีมาตรฐาน โดยปัจจุบันตรวจแล้ว 1,008,000 ตัวอย่าง เจอผู้ติดเชื้อ 3 พันกว่ารายมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 230 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดที่จะพัฒนาให้ตรวจได้ทั้งหมด ขณะที่การสำรองน้ำยาการตรวจเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานมีประมาณ 5 แสนชุด ดังนั้น หากมีผู้ป่วยวันละ 1 พันคน โดยต้องตรวจ 5-10 เท่าของผู้ป่วยก็สามารถรองรับได้ ไม่มีปัญหา สำหรับพื้นที่ชายแดนจะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อมั่นใจ ซึ่งที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจกว่า 1 แสนราย ก็พบผลบวกรายเดียวในอดีต ถือว่าประเทศไทยค่อนข้างปลอดภัยพอสมควร นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประกาศราคากลางของการตรวจเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานอยู่ที่ 1,600 บาท จากเดิมที่การตรวจเคยมีราคา 2,500-3,000 บาท ก็จะช่วยให้คนเข้าถึงการตรวจมากขึ้น