เปิดมรดกอาณาจักร ‘ซัมซุง’ หลังสูญเสียประธาน ‘ลี คุน-ฮี’

เปิดมรดกอาณาจักร ‘ซัมซุง’ หลังสูญเสียประธาน ‘ลี คุน-ฮี’

เปิด "มรดก" ประธาน "ซัมซุง" ผู้ล่วงลับ มหาศาลแค่ไหน เมื่อทายาทอาจต้องจ่ายภาษีอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท!

ลี คุน-ฮี บุคคลที่รวยที่สุดในเกาหลีใต้และประธานบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กลุ่มธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัวหรือแชโบลรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันนี้ (25 ต.ค.) หลังจากต่อสู้กับโรคหัวใจในโรงพยาบาลมานาน 6 ปีเต็ม

ลีเกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2485 ที่เขตอุยรยอง ในจังหวัดคย็องซังใต้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ เป็นบุตรคนที่ 3 ของ ลี บยอง-ชอล ผู้ก่อตั้งอาณาจักรซัมซุง ลี คุน-ฮี เข้าทำงานที่ซัมซุง เมื่อปี 2511 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธาน เมื่อเดือน ธ.ค. 2530

ลี ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สองของตระกูลลี เป็นผู้นำพาซัมซุงเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก โดยภายใต้การนำของเขา ซัมซุงก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและชิพความจำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรายได้รวมของบริษัทในปัจจุบันเท่ากับ 1 ใน 5 ของจีดีพีของเกาหลีใต้และมีสินทรัพย์สินราว 3.75 แสนล้านดอลลาร์

ธุรกิจของกลุ่มซัมซุงแตกย่อยออกไปหลากหลายตั้งแต่ธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ ประกันภัยไปจนถึงอู่ต่อเรือ และการก่อสร้าง

160362899427

“นายลีเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริงที่เปลี่ยนแปลงบริษัทซัมซุงให้กลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมระดับแนวหน้าของโลก และขับเคลื่อนบริษัทระดับท้องถิ่นให้เป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลในระดับโลก มรดกที่เขาสร้างไว้จะคงอยู่ตลอดไป” แถลงการณ์ไว้อาลัยของซัมซุงระบุ

ถึงแม้คำว่า “มรดก” ในแถลงการณ์ของซัมซุงนั้นหมายถึง ผลงานการบริหารและความรุ่งเรืองที่ลีทิ้งไว้ให้ผู้บริหารบริษัทรุ่นต่อไป แต่หลายคนน่าจะอยากทราบว่า “มรดกที่เป็นทรัพย์สินของลี มากมายขนาดไหน” มากกว่า

ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส คาดว่า ลี มีมูลค่าทรัพย์สิน 20,900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.54 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงหุ้นบริษัท และภาษีมรดกที่ผู้รับมรดกจะต้องจ่ายให้กับรัฐ และด้วยความที่เขามีทรัพย์สินมหาศาล จึงขอแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้

 

  • หุ้นมั่งคั่งที่สุด

ก่อนถึงแก่กรรม ลีเป็นเศรษฐีหุ้นมูลค่ามั่งคั่งที่สุดในเกาหลีใต้ และมีหุ้นบริษัทจดทะเบียน 4 รายในเครือซัมซุง มูลค่ารวมประมาณ 18.2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5.02 แสนล้านบาท) นับถึงราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23 ต.ค.)

ข้อมูลจากคณะกรรมการการค้ายุติธรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า หุ้นที่ลีถือยังรวมไปถึงหุ้นสามัญของซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ 4.18% และหุ้นบุริมสิทธิ 0.08% มูลค่ารวมกันประมาณ 15 ล้านล้านวอน

นอกจากนี้ ลียังถือหุ้น 20.76% ในบริษัทซัมซุง ประกันชีวิต มูลค่าราว 2.6 ล้านล้านวอน หุ้น 2.88% ในบริษัทซัมซุง ซีแอนด์ที ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างและเป็นบริษัทโฮลดิ้งโดยพฤตินัยของตระกูลลี มูลค่าราว 5.64 แสนล้านวอน และหุ้น 0.01% ในบริษัทซัมซุง เอสดีเอส ซึ่งดำเนินธุรกิจไอที มูลค่าประมาณ 1.67 ล้านล้านวอน

 

  • บ้านพักแพงที่สุด

บ้าน 2 หลังใจกลางกรุงโซลของลี มีราคาแพงที่สุดในบรรดาบ้านพักส่วนบุคคลในเกาหลีใต้ โดยหลังแรกมีขนาดพื้นที่ 1,245.1 ตารางเมตรและอีกหลังมีพื้นที่ 3,422.9 ตารางเมตร

สำนักข่าวยอนฮัป รายงานเมื่อต้นปีนี้ว่า ราคาบ้านของลีทั้ง 2 หลังอยู่ที่ 40,900 ล้านวอน และ 34,200 ล้านวอน

 

  • ภาษีมรดกอาน

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “เก็บภาษีมรดกแพงที่สุดในโลก” โดยใช้ภาษีการรับมรดกและภาษีจากการให้เป็นแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 50%

นอกจากการจัดเก็บภาษีชาวเกาหลีใต้แล้ว รัฐบาลโซลยังใช้มาตรการเดียวกันกับชาวต่างชาติด้วย เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในอาณาเขตของเกาหลีใต้ ส่วนทรัพย์สินขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษีมรดกกำหนดไว้ที่ 500 ล้านวอน (ราว 13.8 ล้านบาท)

ตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ก่อนคิดอัตราภาษีมรดก 50% กับหุ้นจดทะเบียน จะต้องนำส่วนเกินมูลค่าหุ้น 20% มาบวกเพิ่มเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมที่เสียชีวิต ซึ่งจะอิงจากค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นช่วงปิดตลาดเป็นเวลา 4 เดือนทั้งก่อนและหลังการเสียชีวิตของเจ้าของหุ้นเดิม

หากคำนวณจากมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน ภาษีรับมรดกเฉพาะหุ้นที่กล่าวถึงข้างต้นของประธานลี จะมีมูลค่ารวมประมาณ 10.6 ล้านล้านวอน หรือราว 2.92 แสนล้านบาท

 

  • ความมั่งคั่งของทายาท

ลี แจ-ยอง บุตรคนโตของลี คุน-ฮีและทายาทซัมซุงโดยพฤตินัย ถือหุ้นในบริษัทลูกจดทะเบียน 6 รายของเครือซัมซุง คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7.2 ล้านล้านวอน (ประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท) นับถึงราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 23 ต.ค.

ทายาทซัมซุงวัย 52 ปี ถือหุ้น 0.7% ในบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ และ 17.3% ในบริษัทซัมซุง ซีแอนด์ที นอกจากนี้ยังถือหุ้น 9.2% ในบริษัทซัมซุง เอสดีเอส หุ้น 1.5% ในบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริง ซึ่งดำเนินการด้านวิศวกรรม และมีหุ้นไม่ถึง 0.1% ในบริษัทซัมซุง ประกันชีวิตและบริษัทซัมซุง ไฟร์ แอนด์ มารีน ซึ่งดำเนินธุรกิจประกันอัคคีภัยและประกันภัยทางทะเล

ขณะที่บุตรสาวของลี คุน-ฮี 2 คน ได้แก่ ลี บู-จิน วัย 50 ปี ซีอีโอบริษัทโฮเท็ล ชิลลา และ ลี ซอ-ฮยอน วัย 47 ปี ซึ่งบริหารมูลนิธิซัมซุง ต่างถือหุ้นในบริษัทซัมซุง ซีแอนด์ทีและบริษัทซัมซุง เอสดีเอส คนละมูลค่า 1.6 ล้านล้านวอน

 

  • บทบาททายาทซัมซุง

ลี แจ-ยอง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานซัมซุง บริหารอาณาจักรยักษ์ใหญ่นี้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยที่ผ่านมา เขาออกงานสำคัญในฐานะตัวแทนซัมซุง ระหว่างรอรับตำแหน่งประธานกลุ่มอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนบิดาของเขาเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยซ้ำ

ลีเคยต้อนรับ ปาร์ค กึน เฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 ช่วงที่ปาร์คไปเยือนโรงงานผลิตชิพของซัมซุงในเมืองซีอานของจีน การพบกับผู้นำประเทศครั้งนั้น ถือเป็นการยืนยันต่อสาธารณะว่า เขาจะรับไม้ต่อจากบิดาในการบริหารอาณาจักรซัมซุง

160362858020

เดือน เม.ย. 2557 ลี ในฐานะรองประธานซัมซุง เข้าร่วมการประชุมกับ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐในกรุงโซล

หลังจากบิดาเข้ารักษาโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อเดือน พ.ค. 2557 บทบาทของลีก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

“รองประธานลีเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจของกลุ่มซัมซุงตั้งแต่ปี 2557” เจ้าหน้าที่ซัมซุงคนหนึ่งเผย

ปี 2559 ลีทุ่มเงินลงทุน 9 ล้านล้านวอน ซื้อ “ฮาร์แมน” (Harman) ธุรกิจระบบความบันเทิงในรถของสหรัฐ

ในปีที่แล้ว ระหว่างงานฉลองครบรอบ 50 ปีของมูลนิธิซัมซุง ลีประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ภายใต้ชื่อ “แอคคอมพานี” โดยแจ้งผ่านอีเมลภายในองค์กรถึงพนักงานและเน้นย้ำถึงความพยายามของเขาในการหาตัวกระตุ้นการเติบโตใหม่ให้กับบริษัท

160362974180

“ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), ระบบชิพเซ็ต, 5G และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นธุรกิจใหม่ที่จะพลิกโฉมซัมซุงภายใต้การบริหารของลี แจ-ยอง” ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรายหนึ่งเผย

ปีที่แล้ว ลีประกาศแผนลงทุน 133 ล้านล้านวอนสำหรับธุรกิจชิพประมวลผลในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ลียังสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั่วโลก เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาณาจักรซัมซุงอย่างสง่าผ่าเผย โดยสร้างคอนเนคชั่นกับซีอีโอบริษัทระดับโลก เช่น เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม), โกลด์แมน แซคส์, โคคา-โคลา และโบอิง

ช่วงไม่กี่ปีหลัง ลีเดินหน้าความพยายามในการรักษาคอนเนคชั่นทั่วโลก ด้วยการเดินสายพบปะกับ “แลร์รี เพจ” แห่งกูเกิล, “บิล เกตส์” แห่งไมโครซอฟท์ และ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” แห่งเฟซบุ๊ค

ขณะเดียวกัน ทายาทซัมซุงซึ่งเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคโอในกรุงโตเกียว ยังมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นในญี่ปุ่นด้วย

ก่อนหน้านี้ ลีบินไปโตเกียวเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากบรรดาพันธมิตรธุรกิจในญี่ปุ่น เพื่อทำข้อตกลงเรื่องการจัดส่งวัสดุผลิตชิพ ซึ่งถูกรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งจำกัดการส่งออกไปเกาหลีใต้ ช่วงที่ 2 ประเทศมีข้อพิพาทการค้าเมื่อปีที่แล้ว

----------------------

อ้างอิง: Reuters, Korea Herald