ถุงมือยางส่งออก ก.ย.พุ่ง154% ดันราคายางพาราในประเทศโตต่อ

ถุงมือยางส่งออก ก.ย.พุ่ง154% ดันราคายางพาราในประเทศโตต่อ

"พาณิชย์"เผยส่งออกถุงมือยางก.ย.พุ่ง154% ชี้มีคำสั่งซื้อยาวถึงปี2564 เหตุตลาดโลกยังผวา โควิด-19 ทำดีมานด์โต ขณะราคายางแผ่นในประเทศพ.ย.จ่อแตะกืโลกรัมละ 70 บาท

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การส่งออกถุงมือยางเดือนก.ย. ขยายตัวสูงถึง 154.9% ขณะที่การส่งออก 9เดือนปี2563 (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัว 61.4% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ดีขี้น ขณะเดียวกันหลายตลาดยังไม่มั่นใจซื้อถุงมือยางจากจีน ทำให้ไทยคงมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องถึงปี 2564 

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ การยางแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ส่งผลให้จับคู่ธุรกิจได้ถึง69 คู่ อีกทั้ง เศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัว

ขณะที่การส่งออกสินค้ายางพารา ก.ย. มีปริมาณ 200,173 ตัน ติดลบ 8.2% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY)มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 12.2% และส่งออก 9 เดือน ปริมาณ 1,895,328 ตัน มูลค่า 2,368 ล้านดอลลาร์  

จากการส่งออกถุงมือยางมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ราคาในประเทศปรับตัวขึ้น โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานราคายางพารา ณ 22 ต.ค. 2563 ว่า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัม (กก.)ละ 64.97 บาท น้ำยางสด กก.ละ 61.00 บาท 

ส่วนราคาเฉลีย ต.ค. ยางแผ่านรบควันชั้น 3 กรุงเทพ กก.ละ 70.50 บาท สงขลา กก.ละ 70.23 บาท ขณะที่คาดการณ์ราคาเฉลี่ยพ.ย. กรุงเทพ กก.ละ 70.70 บาท สงขลา กก.ละ 70.45 บาท 

ส่วนราคาน้ำยางข้น 60%  ต.ค. ที่กรุงเทพ กก.ละ 47.10 บาท สงขลา กก.ละ 46.85 บาท และคาดการณ์ราคาเฉลี่ย ก.ย. กรุงเทพ กก.ละ 47.30 บาท สงขลา กก.ละ 47.05 บาท 

สำหรับสาเหตุที่ราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้นนั้น โดยก่อนหน้านี้ กยท.เผยว่าเดือน ต.ค. - พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่ราคายางพาราจะออกสู่ตลาดมากที่สุดประมาณ 10 % ของปริมาณน้ำยางที่ผลิตได้ แต่ในปีนี้เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานงานกรีด ในขณะที่ภาคใต้มีฝนตกชุกกว่าทุกปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้เริ่มมีมากขึ้น ทั้งการผลิตถุงมือยาง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โดยรวมยังคาดว่าราคายางมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่ด้านเศรษฐกิจที่จีนเติบโตขึ้น 4.9% และมีแนวโน้มการใช้ยางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในประเทศเพื่อนบ้านผู้ผลิตยางธรรมชาติ ประสบปัญหาพายุและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค. ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงตามไปด้วย

“ความต้องการใช้ยาง ในขณะนี้กลับมาเร็วและแรงมาก จะเห็นได้จากราคายางในตลาดล่วงหน้า ไซคอม(SICOM)สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น(TOCOM) เป็นบวกทั้งหมด เช่นเดียวกับจีนเป็นประเทศเดียวที่ จีดีพี ขยายตัว แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มราคายางในเร็วๆนี้อาจแตะ กก.ละ 67 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ควรระวัง กรณีเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินไป จะส่งผลให้มีการเบรกซื้อในตลาดล่วงหน้าได้ ซึ่งจะกระทบกับราคาที่เกษตรกรได้รับทันที ดังนั้น กยท.จึงต้องวางแนวทางรองรับเอาไว้ล่วงหน้า โดยจะใช้มาตรการไล่ซื้อตามตลาดของ กยท.ทั้ง108 แห่ง และ มีโครงการรับฝากน้ำยางไว้กับเกษตรกร เพื่อชะลอการออกสู่ตลาด ทั้งหมดจะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์
โดยปัจจัยกระทบราคายาง ได้แก่ จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคายางได้ในระยะนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตาม เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)