2 แนวทางใหม่ “กักตัว” คุมโควิด-กระตุ้นเศรษฐกิจ

2 แนวทางใหม่ “กักตัว”  คุมโควิด-กระตุ้นเศรษฐกิจ

คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ ภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(Medical Hub) เห็นชอบการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ฐานราก โดยเพิ่มเติมสถานกักตัวใหม่ 2 รูปแบบ และลดระยะเวลากักตัว เตรียมเสนอศบค.

       นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐบมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า  ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.แนวทางการดำเนินงานสถานที่กักตัวในสนามกอล์ฟ(Golf Quarantine) 2.การลดระยะเวลาการกักตัวจาก 14 วัน โดยระยะแรกจะลดเหลือ 10 วัน และ3.การท่องเที่ยวแบบ Exclusive Travel Area(ETA) เนื่องจากปัจจุบัน้ค่อนข้างมั่นใจในระบบการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้อาจจะติดเชื้อได้ดี และมีความสามารถควบคุมการแพร่เชื้อสูง เพราะฉะนั้น ถ้าคลี่คลายมาตรการต่างๆแล้วเข้ามาทำรายได้เข้าประเทศไทยก็พร้อมสนับสนุน  โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่รายได้ของประเทศ 70 %มาจากส่วนนนี้  จำเป็นต้องกระตุ้นขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้ประเทศลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งหนึ่งจากที่รายได้ตอนนี้เป็นศูนย์

        ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) อธิบาย เพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานสถานที่กักตัวในสนามกอล์ฟ(Golf Quarantine) มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี คาดว่าจะเข้ามาในปี 2563 จำนวน 18-20 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน ประมาณการรายได้ 1 แสนบาทต่อราย  ซึ่งผู้ที่เข้ามาในโปรแกรมนี้ ช่วง 0-14 วันจะกำหนดการกักตัวในพื้นที่เฉพาะ เช่น บ้านพัก คลับเฮาส์ และสนามกอล์ฟในการออกรอบตีกอล์ฟ  โดยสบส.ได้จัดทำรายละเอียดข้อปฏิบัติเพิ่มเติมผ่านความเห็นชอบของศบค.ชุดเล็กแล้วและจะเสนอศบค.ชุดใหญ่พร้อมกับเปิดรับสมัครสนามกอล์ฟที่จะเข้าร่วมในแนวทางนี้ต่อไป  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสนามกอล์ฟในประเทศไทยมีจำนวน 358 แห่ง ได้รับมาตรฐานระดับโลก จำนวน 8 แห่ง และไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมสูงในการเข้ามาใช้บริการสนามกอล์ฟในประเทศไทย
      ส่วนการท่องเที่ยวแบบ
Exclusive Travel Area(ETA) จะให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกักตัวในพื้นที่เฉพาะ (Area Quarantine)และสามารถท่องเที่ยวในวันที่ 0-14ได้ในเส้นทางที่กำหนด ซึ่งจะนำร่องในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงราย บุรีรัมย์และสุราษฎร์ธานี และขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นในอนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่จะเริ่มแนวทางนี้ จังหวัดจะต้องมีการทำประชาคมของคนในชุมชนก่อนว่ายอมรับหรือไม่อย่างไร จึงจะนำเสนอศบค.พิจารณาจังหวัดที่ประชาคมให้ความเห็นชอบแล้วต่อไป
           กักตัวรูปแบบนี้มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 1.มาตรการก่อนเดินทางเข้าประเทศ คัดเลือกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาจากประเทศเมืองที่มีความเสี่ยงต่ำและมีระบบการจัดการระบาดของโรคโควิด19ที่ดี ,ต้องมีผลตรวจไม่พบติดโควิด19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง,มีการกักตัวที่บ้าน หรือการกัดตัวด้วยตนเอง หรือไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามระยะเวลาที่กำหนด ,มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันและแจ้งความประสงค์เพื่อขอเดินทางเข้าประเทศผ่านหน่วยงานหรือบริษัทนำเที่ยว
       2. มาตรการกักตัวและการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่กำหนด มีการตรวจคัดกรอง ,มีdkiกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว}นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวในระหว่างการกักตัววันที่ 0-14 ในเส้นทางท่องเที่ยวที่กำหนด ,จัดให้มีสายการบินตรง/เปิดด่านทางบกเพิ่มเติม,มีการเตรียมความพร้อมผู้ให้บริการในจังหวัด,มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาโควิด19 จำนวน2- 3 ครั้ง และจัดเตรียมความพร้อมด้านที่พัก ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งจุดให้บริการที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด

       และ3.การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภายในจังหวัดต้องมี สถานพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก(
Alternative Hospital Quarantine) , โรงแรมที่เข้าร่วมเป็นสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกและสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพมีจำนวนห้องพักบริการเพียงพอ ,มีทีมบริหารจัดการ เช่น ยานพาหนะที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด ทีมประเสานงานที่ผ่านการอบรม ,มีบริการแพ็คเกจพิเศษ โดยเน้นเศรษฐกิจในชุมชน และมีระบบการติดตามตัวนักท่องเที่ยว    

   

กักตัว 14 วันกับ10วันความเสี่ยงไม่ต่าง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อเสนอทางวิชาการการสำหรับการปรับนโยบายกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศไทย หากดูข้อมูลทั้งทางการศึกษาระบาวิทยา การสร้างแบบจำลอง และตัวอย่างในต่างประเทศนั้น การลดจำนวนวันกักกันจาก 14 วันเป็น 10 วัน มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน โดยในผู้ที่ไม่ติดเชื้อความเสี่ยงไม่ต่างกัน แต่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเมื่อลดจำนวนวันลงความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีมาตรการเสริมป้องกันความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการลดวันกักตัว คือ นำร่องประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี เช่น ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศหรือมีจำนวนน้อย เช่น จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ก่อนเดินทางตรวจเชื้อวิธี พีซีอาร์ภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงประเทศไทยตรวจพีซีอาร์อีก 3ครั้ง และเมื่อกักกัน ครบ 10 วัน แนะนำให้ใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนจำนวนมาก

คำถามว่า ถ้ามีผู้เดินทางเข้ามาประเทศไทย 1 แสนคน จะตรวจพบผู้ติดเชื้อหลังกักกัน 10 วัน จำนวนกี่รายนั้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง หากเป็นประเทศเสี่ยงต่ำ คือ ทุกๆ1แสนคนของประชากรในประเทศนั้นมีการติดเชื้อ1คน จะพบผู้ติดเชื้อ 0.25 คน ประเทศเสี่ยงปานกลาง คือ ทุกๆ10,000คนของประชากรในประเทศนั้น มีการติดเชื้อ1คน จะพบผู้ติดเชื้อ 2.5 คน ประเทศเสี่ยงสูง คือ ทุกๆ1,000คนของประชากรในประเทศนั้น จะพบผู้ติดเชื้อ 25 คน และประเทศเสี่ยงสูงมาก คือ ทุกๆ100คนของประชากรในประเทศนั้นมีการติดเชื้อ1คน จะพบผู้ติดเชื้อ 250 คน

ยกตัวอย่าง ประเทศจีน ซึ่งอัตราผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้อยู่ที่ 6 ต่อ 1 แสนคน ดังนั้น หากเดินทางเข้ามาประเทศไทย 100,000 คน หลังกักตัวครบ 10 วัน มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อ 1.5 คน ซึ่งประเทศที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำขณะนี้ อาทิ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น